- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- วัดภูมิคุ้มกัน "บางกะเจ้า" ทนกระแสทุนได้ขนาดไหน?
วัดภูมิคุ้มกัน "บางกะเจ้า" ทนกระแสทุนได้ขนาดไหน?
ตลอดสองข้างทางระหว่างที่เดินอยู่ในพื้นที่บางกะเจ้า ปอดแห่งมหานคร ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เราพบเห็นป้ายประกาศขายที่ดินถูกติดไว้อย่างดาษดื่น ทั้งที่เสาไฟฟ้าบ้าง ตามต้นไม้บ้าง เหมือนกำลังส่งสัญญาณ
พื้นที่สีเขียวใกล้กรุงเทพแค่เอื้อมแห่งนี้ กำลังเปลี่ยนแปลงไป เมื่อราคาที่ดินถูกปั่นให้สูงขึ้น
“บางกะเจ้า” ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น The best Urban Oasis of Asia หรือ ปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย เมื่อปี 2549 จากนิตยสาร Time ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ผ่านบางกะเจ้าโดยเครื่องบินส่วนตัว พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่แห่งนี้ และทรงตรัสกับข้าราชบริพารให้รักษาพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ไว้เพื่อให้คน กรุงเทพฯ ได้มี “ปอด” หายใจและเป็นสถานที่พักผ่อนท่ามกลางบ้านเมืองที่เจริญเติบโต
"ช่วงนี้มีคนจากกรุงเทพฯ มาถามซื้อที่ดินในบางกะเจ้ามากมาย ทำให้ราคาที่ดินนั่นพุ่งตัวสูงขึ้น ตารางวาละ 3.5 หมื่นบาท" ชาวบ้านรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าวอิศรา ช่วงลงพื้นที่
ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ซึ่งเป็นของเอกชนได้ถมที่ดินเพื่อเตรียมการสร้างบ้านจัดสรรกันแล้ว อย่างที่ดินของ บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด(มหาชน) หรือ N-PARK รวมถึงพบเห็นโรงแรม บ้านพักตามอากาศ ทั้งสร้างเสร็จแล้ว และกำลังก่อสร้างผุดขึ้นให้เห็นท่ามกลางป่าไม้
"สมัย ก่อนช่วงจะมีการเวนคืนเราก็ออกมาต่อต้านกันรัฐบาล โดยสมเด็จพระเทพฯ เข้ามาช่วยเหลือดูแล แล้วก็มีการเชิญชวนว่า ใครจะขายที่มาขายกับรัฐบาล อย่าขายกับคนอื่น ถ้าขายกับคนอื่นนะ เวลาปรับเปลี่ยนแก้กฎหมายรัฐบาล รัฐบาลดูแลควบคุมได้ ตอนนี้ก็เหมือนกัน เอาตรงนี้กลับมาใช้ได้ไหม นำเสนอรัฐบาลกลับมาใช้ โดยการขายที่ให้กรมป่าไม้ ”
ชาวบ้านบางกะเจ้า เป็นอีกผู้หนึ่งที่อยากให้ “บางกะเจ้า” กลับไปเป็นพื้นที่ของรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ที่ดินในบางกะเจ้าตกอยู่ในมือของนายทุน เธอแสดงความคิดเห็นระหว่างการร่วมประชุมหาข้อสรุปจะทำอย่างไรกับกรณีกฏหมายผังเมืองรวม จ. สมุทรปราการ ฉบับ พ.ศ. 2556 ที่สังคมเวลานี้ยังเข้าใจไปคนละทาง ทันทีที่ประกาศบังคับใช้ผังเมืองใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557
กระทั่งล่าสุด เกิดปัญหาความขัดแย้งย่อยๆ
ผังเมืองบางกะเจ้าที่เป็นส่วนหนึ่งของผังเมือง จ.สมุทรปราการ โดยฝ่ายภาครัฐ ยืนยัน พื้นที่บริเวณ ก.3 (โซนสีขาวตัดเขียว-เฉพาะพื้นที่บางกะเจ้า) ที่เพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น จาก 10% ในปี 2548 เป็น 15% ในปี 2556 เนื่องจากพื้นที่เดิมของบางกะเจ้า จากการประเมินผลผังเมืองรวมฉบับเดิม (2548) เพื่อที่จะปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับใหม่ (2556) ได้มีการก่อสร้างอาคารเกิน 5% แล้ว
ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของผู้วางผังต้องการเพิ่มพื้นที่ให้ชาวบ้านผู้มีที่ดินขนาดเล็กสามารถก่อสร้างอาคารได้
ขณะที่นักอนุรักษ์หวั่นวิตกว่า ผังเมืองใหม่ฉบับนี้ได้เปิดช่องให้กลุ่มทุนเข้ามาสร้างบ้านเดี่ยว ผุดสารพัดโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่สีเขียว รวมไปถึงประเด็นไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือรับฟังความเห็นชาวบ้านมาก่อน
อีกฝ่ายก็หยิบยกเอกสารโชว์ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2550
นายจักรพันธ์ ตรวจมรคา ชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มบิ๊กทรี ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมาย ทางโยธาธิการและผังเมืองไม่ได้มีการชี้แจงและการทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด มีแต่มาติดประกาศ อันนี้ชาวบ้านก็ไม่รู้กันอีก พอ ผ่านไปก็ประกาศใช้กฎหมายผังเมืองโดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย
ส่วนชาวบ้านอีกราย แสดงความคิดเห็นถึงการแก้ไขกฎกระทรวงหรือผังเมืองนั้น ต้องอาศัยการทำประชาพิจารณ์สอบถามชาวบ้านทั้ง 6 ตำบลด้วย หากผลออกมาเสียงส่วนใหญ่เห็นควรว่า ให้สร้างโรงแรม สร้างโรงงานได้ ก็ต้องยอมรับฟังเสียงของส่วนใหญ่ แต่หากเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้อง แล้วว่า ให้มีแต่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน โดยไม่ให้มีการสร้างโรงแรมหรือโรงงานเลยก็ต้องเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่
“เราต้องมากตกลงกันในระบอบของวิธีทางของประชาธิปไตย ต้องอย่าลืมว่า พื้นที่บางกะเจ้า บริเวณกะเพาะหมูนี้มีชาวบ้านอาศัยยู่ 4 หมื่นกว่าคน ไม่ใช่เฉพาะพวกเราที่นั่งประชุมในวันนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องกลับไปทำประชาพิจารณ์”
ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และนักกฎหมาย ให้ข้อมูลความคืบหน้ากรณียื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า ตอนนี้กำลังรวบรวมรายชื่อของชาวบ้านอยู่ โดยคาดว่าปลายเดือนมิถุนายนจะยื่นฟ้องได้ ซึ่งได้ร่างคำฟ้องไว้แล้วโดยจะฟ้องกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมการผังเมือง คณะกรรมการผังเมือง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (สมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้อนุมัติกฏกระทรวงฉบับดังกล่าว) ในกรณีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อจะขอเพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับล่าสุดโดยนำไปการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่
นี่คือ บางกะเจ้า มุมมองสำหรับคนกรุงที่โหยหาพื้นที่สีเขียว แต่สำหรับคนพื้นที่กับกำลังเผชิญกับการพัฒนาที่ท้าทายจริงๆ
พื้นที่ที่ N-PARK ถมที่ดินและกำลังดำเนินการสร้างบ้านจัดสรรตามโครงการ
โรงแรมและบ้านพักตากอากาศที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วและกำลังดำเนินการสร้าง
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:
เกิดอะไรขึ้นที่ 'บางกะเจ้า' พื้นที่อนุรักษ์ 'ปอด' สีเขียวของคนเมือง
นักวิจัยชุมชนหวั่น ‘บางกระเจ้า’ เจอโดมิโนเมืองล้อมพื้นที่เขียวสูญ