สนช.รับหลักการร่างกม.จัดตั้งศาลปค.-"ครูหยุย"ซัดละเมิดสิทธิ ก.ศป.
สนช. มีมติ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาล ปค.-"ครูหยุย" ซัดกลางสภาฯ เหมือนเผาบ้านไล่คนในศาลปกครอง ระบุชัดรับไม่ได้ มาตรา 12-14 ละเมิดสิทธิ ก.ศป. ที่ยังอยู่ ชี้แบบสอบถามฝ่ายสนับสนุน ตั้งคำถามคล้ายชี้นำ วิจัยไม่รอบด้าน -ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ไม่ขอออกความเห็น โยนสภาให้ความเห็นเอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 กันยายน 2557 ที่อาคารรัฐสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาวาระร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. … กฎหมายศาลปกครอง โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อ่านหลักการสำคัญ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ต่อสภาฯ
จากนั้น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ลุกขึ้นอภิปรายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ดูเผินๆ มาตรา 1 ถึง มาตรา 11 ก็ไม่มีปัญหา เพราะเป็นการได้มาของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) แต่ถ้าดูจริงๆ ปัญหาอยู่ที่ มาตรา 12,13 และมาตรา 14 ที่บอกไว้ว่าจะมี ก.ศป. ชุดใหม่
นายวัลลภ อภิปรายว่า "ก.ศป. ชุดปัจจุบัน ลาออกไป 2 คน หมดวาระ ไป 3 คน ปัจจุบัน ก.ศป. ที่เหลืออยู่ก็เกินกึ่งหนึ่ง และ ก.ศป.ที่มีอยู่ ก็หมดวาระในเดือนเมษายน 2558 ถ้า พ.ร.บ. นี้ บังคับใช้ หมายความว่า ก.ศป.เหล่านี้ จะหมดสิ้นสภาพไปงั้นหรือ"
นายวัลลภ อภิปรายต่อว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดวาระการประชุมของศาลปกครอง พบว่า มีเหตุผลในการตีความที่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ก.ศป. ยังอยู่ เพราะแม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะหมดไป แต่ศาลยังอยู่ เมื่อลูกยังอยู่ แม่ก็คงอยู่ แต่ฝ่ายเสนอกฎหมายนี้ บอกว่าทำประชาพิจารณ์แล้ว แต่แบบสอบถามนั้น มีหลายข้อ เป็นการทำวิจัย แบบชี้นำไม่ใช่การวิจัยแบบรอบด้าน
“มาตรา 1 ถึงมาตรา 11 ผมรับได้ แต่มาตรา 12 มาตรา13 มาตรา 14 ผมรับไม่ได้ เพราะละเมิดสิทธิ ของ ก.ศป. ที่ยังอยู่"
นายวัลลภ อภิปรายต่อว่า การทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา เป็นเพียงการตอบคำถามที่คล้ายมีการชี้นำ เป็นการวิจัยที่ไม่รอบด้าน หากกฎหมายออกมาแบบนี้ ขอไม่รับหลักการ
"ให้ ก.ศป. เขาทำหน้าที่ ถึงเดือนเมษายน 2558 จะเสียอะไร ให้เขาทำหน้าที่ไป อีก 7 ท่าน ที่เหลือก็เลือกมาสิครับ ไม่ได้มีอะไรเสียหาย ถ้ายังยันกันแบบนี้ ท่านกำลังเผาบ้านตัวเองเพื่อไล่คนในบ้านออกไป"
ส่วนนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สนช. อภิปรายในแนวทางคล้ายกัน โดยเน้นที่การตีความทางกฎหมายเทียบกับ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่แม้ปัจจุบัน จะไม่มีรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ กกต.และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ยังทำหน้าที่ต่อไป และ ในปี 2549 ที่เกิดการรัฐประหาร ก.ศป.ขณะนั้น ก็ยังคงทำหน้าที่ เหตุใดครั้งนี้ จึงมีการตีความที่ต่างกัน
ด้าน พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา กล่าวในตอนหนึ่งว่า ในเรื่องของการเสนอแก้ไขกฎหมาย รัฏฐาธิปัตย์ ไม่ขอแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ ขอให้เป็นหน้าที่ของสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 15.00 น. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ลงมติ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ( ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอชื่อกรรมาธิการในส่วน ครม. 3 คน นายสมชาย แสวงการ เสนอชื่อกรรมาธิการ ในส่วนของ สนช. 10 คน และมีตัวแทนจากตุลาการศาลปกครอง ฝ่ายที่เสนอร่างกฎหมายและฝ่ายที่คัดค้าน ฝ่ายละ 2 คน รวมทั้งสิ้น มีกรรมาธิการ17 คน
อ่านประกอบ : เปิดละเอียดคำชี้แจงตุลาการ ยื่นปธ.สนช. คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปค.
( เบื้องหลัง! มติวิป สนช.ฉบับเต็ม เข็นร่างกม.จัดตั้งศาลปค. เข้าวาระ 7 วันที่ 18 ก.ย.นี้ )