จับตาทิศทาง 'กระจายอำนาจ' ในวันรบ.ประยุทธ์แถลงนโยบาย
“ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบาย ขอให้จับตาการแถลงนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อไป สำหรับท่าทีและทิศทางต่อนโยบายกระจายอำนาจ”
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำโครงการวิจัยการติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาขของไทย ระยะ 15 ปี กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อให้มองภาพอนาคตการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในอีก 1 ปีข้างหน้า ว่า ยังมองไม่ออก 50:50 เพราะแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้
“แต่หากให้ประเมินเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่กระทรวงมหาดไทยเองก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมการกระจายอำนาจมากนัก
ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างม.ล.ปนัดดากับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก แม้มาระยะหลังๆ ม.ล.ปนัดดาเริ่มเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจบ้างก็ตาม
ม.ล.ปนัดดาอยากเห็นหลักคิดกระจายอำนาจไม่เกิดช่องโหว่ และมีนวัตกรรมที่สร้างความเจริญให้พื้นที่ตรวจสอบได้ ท่านอาจจะอยู่บนหอคอยงาช้าง นั่นหมายถึง การไม่เคยเห็นบทบาทภาคประชาชนในหลายพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบท้องถิ่น ซึ่งข้อเท็จจริงมีนวัตกรรมเยอะมาก ให้สิทธิตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน จัดสรรงบประมาณ หรือกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นท้องถิ่นต้องเพิ่มบทลงโทษให้เข้มข้น จำเป็นต้องไปแก้กฎหมาย ส่วนการดำเนินการตรวจสอบจริงจังรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการตรวจสอบด้วย”
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในท้องถิ่น อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่า การทุจริตมีหลายระดับ การทุจริตที่เกิดขึ้นจากท้องถิ่นเองก็ต้องแก้ที่ท้องถิ่น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่เกิดจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ไม่ใช่ท้องถิ่นอย่างเดียว ดังนั้น จึงควรไปแก้ที่ตัวระบบราชการ
“ส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วยหาก ม.ล.ปนัดดา ที่จริงจังกับเรื่องการผลักดันตรวจสอบทุจริตท้องถิ่น โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สื่อมวลชน นักวิชาการ ทุกช่องทางสามารถทำได้ เพียงแต่กลไกทางกฎหมายต้องเปิดช่องรองรับตรงนี้ด้วย”
และเมื่อถามถึงข้อมูลจากสำนักข่าวไทยพับลิก้าที่มีการนำเสนอสถิติการร้องเรียนทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีมากถึง 6,260 เรื่อง อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถูกร้องเรียนมากสุดเกินครึ่ง
ที่น่าเป็นสังเกต คือ การชี้มูลความผิดยังอยู่ในอัตราต่ำ
ในทางกลับกันข้อมูลจากโครงการวิจัยการติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย ระยะ 15 ปี อีกด้านชี้ให้เห็นว่า จากการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นความโปร่งใสของอปท. โดยอาศัยข้อมูลการตรวจสอบจากทางราชการ (สตง.) พบกระแสข่าวหรือทัศนคติด้านลบที่มีต่ออปท.นั้น อาจไม่ได้รุนแรงดังเช่นที่เข้าใจหรือเชื่อกันมาแต่เดิม
โดยข้อมูลการตรวจสอบกลุ่มตัวอย่าง อปท.110 แห่งระหว่างปี 2551-2555 ของจุฬาฯ บ่งชี้ว่า แม้มีอปท.ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนให้สตง.ดำเนินการตรวจสอบมากถึง 69 แห่ง แต่มีมูลสำหรับการสืบสวนต่อไปเพียง 8 แห่ง หรือแค่ 7.3% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น
ความแตกต่างของข้อมูล 2 ชุด ข้างต้น ผศ.ดร.วีระศักดิ์ ระบุว่า โครงการศึกษาวิจัยของจุฬาฯ ใช้ข้อมูลจากการสุ่ม อปท.จากจังหวัดต่าง ๆ เพียง 110 แห่ง และเกี่ยวข้องกับการทุจริต “ด้านงบประมาณ” เป็นหลัก โดยมี สตง.ตรวจสอบ ขณะที่เรื่องร้องเรียนที่มีถึง ป.ป.ช.นั้น อาจหมายรวมถึงบริบทอำนาจหน้าที่และด้านอื่นๆ ด้วย จึงเป็นลักษณะคดีความแตกต่างกัน นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะจะมีผลให้ข้อมูลเหลื่อมล้ำกัน แต่โดยหลักการแล้วไม่เป็นปัญหา
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวถึงการทำหน้าที่สืบสวนเรื่องร้องเรียนของ ป.ป.ช.ที่ล่าช้าด้วยว่า ต้องเข้าใจก่อนคดีมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบุคลากรที่รับผิดชอบแล้ว จึงเป็นภาระในการสืบสวน อีกทั้งคดีแต่ละเรื่องล้วนต้องใช้ระยะเวลา บางกรณียาวนาน 2-3 ปี
“ความล่าช้าเป็นทุกองค์กรที่มีบทบาทในการตรวจสอบ แต่จะว่าไปแล้วเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในการดูแลของ สตง.-ป.ป.ช.มีสัดส่วนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล อปท.”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถอดบทเรียน ‘กระจายอำนาจไทย’ รุ่งโรจน์ หรือริบหรี่
‘จรัส สุวรรณมาลา’ ฉายภาพอนาคตไทยอีก 10 ปี ในมิติกระจายอำนาจ
เรื่องจริงหรือมโน ข่าวลบต่อการกระจายอำนาจ ความโปร่งใสทุจริต อปท.
เกือบตก! 15 ปีกระจายอำนาจ นักวิจัยให้เกรดซี เหตุ 'คน-งาน- เงิน' ไม่ไปด้วยกัน