ผู้บริหารสกอ.ไปกันคนละทางปม กต.สั่งเพิกถอนรับรองหลักสูตร ป.โท 7 ม.ดัง
ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้ข้อมูลขัดแย้งกัน ปม ที่ประชุมกรรมการตุลาการ สั่งเพิกถอนรับรอง หลักสูตร ป. โท ผู้ช่วยผู้พิพากษา เผยรักษาการเลขาฯ แจง เตรียมทำหนังสือเชิญ 7 มหาวิทยาลัยให้ข้อมูล ด้าน รอง "วราภรณ์" ปัด ไม่เกี่ยวกับ สกอ. โยน 7 มหาวิทยาลัย คุยกับ กต.
เมื่อวันที่ 29 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)เพื่อขอสัมภาษณ์นายกำจร เลขาธิการ สกอ. ต่อกรณีที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) เพิกถอนและไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมาย ในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของมหาวิทยาลัยรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง
แต่เจ้าหน้าที่เลขานุการแจ้งว่านายกำจรเดินทางไปต่างประเทศ และให้ติดต่อสอบถามเรื่องดังกล่าวที่รองเลขาธิการที่เป็นผู้ดูแลหลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตร คือนางวราภรณ์ สีหนาท แต่เลขานุการของนางวราภรณ์กล่าวว่านางวราภรณ์เดินทางไปประชุมที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวจึงไปติดต่อเลขานุการของนายพินิติ รัตนานุกูล รักษาการเลขาธิการแทนนายกำจร เพื่อขอสัมภาษณ์กรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่แจ้งว่านายพินิติ ไปประชุมที่รัฐสภาเช่นกัน
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา ของ สกอ.ได้รับคำตอบว่า มหาวิทยาลัยที่ถูกเพิกถอน และ กรรมการตุลาการมีมติไม่รับรองนั้น ปัจจุบัน มีเพียงมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตที่สอบถามมายัง สกอ.ถึงหลักเกณฑ์การรับรอง ของ สกอ. ที่เคยพิจารณาหลักสูตรดังกล่าวให้กับมหาวิทยาลัย และเมื่อเจ้าหน้าที่ สกอ.นำรายชื่ออาจารย์ประจำหลักสูตร 5 รายของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตมาตรวจสอบตำแหน่ง ทางวิชาการ เจ้าหน้าที่ สกอ.ยืนยันว่าเป็นไปตามเกณฑ์ การมาตรฐานการอุดมศึกษาและเกณฑ์มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ประเมิน ของ สกอ. อาทิที่ระบุว่า กรณีปริญญาโท อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ต้องเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร มีคุณวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบเท่า หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ต่ำกว่ารองศาสตรจารย์ในสาขาวิชานั้น หรือสาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน จำนวนอย่างน้อย 3 คน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่อกรณีที่กรรมการตุลาการ ระบุว่า เหตุผลประการหนึ่งที่เพิกถอน และมีมติ ไม่รับรอง หลักสูตรดังกล่าวของ 7 มหาวิทยาลัย เนื่องจากมีการอ้างชื่ออาจารย์และบางมหาวิทยาลัยอ้างชื่อทีมอัยการ หรือมีอาจารย์บางรายไม่เคยมาสอน นั้น สกอ. ได้ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ไม่ได้ตรวจสอบว่าอาจารย์รายใดเป็นอัยการหรือไม่ ไม่สามารถทราบได้ เพราะดูเพียงวุฒิและผลงานการวิจัยว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ เท่านั้น แต่เมื่อเรื่องนี้กรรมการตุลาการมีความเห็นต่อหลักสูตรดังกล่าว สกอ. ก็ต้องรับฟัง เนื่องจาก กรรมการตุลาการ เป็นผู้ใช้บัณฑิตโดยตรง
เจ้าหน้าที่สำนักมาตรฐานและประเมินผลระบุด้วยว่า เบื้องต้น สกอ.ได้เตรียมทำหนังสือ ให้ 7 มหาวิทยาลัย ชี้แจงกรณีดังกล่าว แต่ยังอยู่ระหว่างการรอผู้บริหารลงนามอนุมัติ
ขณะที่นายพินิติ รัตนะนานุกูล รักษาการเลขา สกอ. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ในเวลาต่อมาว่า หนังสือดังกล่าวใกล้จะออกแล้วแต่ยังไม่ได้เซ็น เพราะวันนี้รีบ ยังไม่มีเวลา จากนั้นนายพินิติ รีบเดินทางออกจาก สกอ.
ด้านนางวราภรณ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่าเรื่องกรรมการตุลาการเพิกถอนและไม่รับรองหลักสูตร ป.โท ของ 7 มหาวิทยาลัย ไม่กี่ยวกับ สกอ.
เมื่อถามว่า จะให้มหาวิทยาลัย มาชี้แจงข้อมูลหรือไม่ ด้านนางวราภรณ์ ตอบว่า "จะให้เขามาชี้แจงอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย กับกรรมการตุลาการ จะให้เขาชี้แจงอะไรกับเราในเมื่อเขาได้รับการรับรองจากเราครบถ้วน สกอ. ไม่ใช่จะไปกำกับ ไปตามเขามา เรื่องการอนุมัติ การจบปริญญาเป็นเรื่องสภามหาวิทยาลัย ส่วนกรณีนี้คือตำแหน่งผู้ช่วย ทางมหาวิทยาลัยก็คงพร้อมจะชี้แจงกับกรรมการตุลาการเอง"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อสภามหาวิทยาลัยอ้างว่าได้รับรองจาก สกอ. แล้ว สกอ.ได้ตรวจสอบหลักสูตรดังกล่าวหรือไม่ กรณีที่มีชื่ออาจารย์บางรายเป็นทีมอัยการ และมีกรณีอ้างชื่ออาจารย์ แต่อาจารย์ไม่เคยมาสอน นางวราภรณ์ตอบว่า “เมื่อหลุดจากตรงนี้ไป สกอ. ต้องตามไปดูทุกวันหรือเปล่า"
"คำถามคือตรงนี้ เมื่อต้นทางเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทุกอย่าง ส่วนการกำกับดูแล ยกตัวอย่างถ้าเกิดอะไร ในกระทรวงศึกษา แล้ว สพฐ. จะวิ่งมาดูทุกอย่างก็คงไม่ใช่ อำนาจของมหาวิทยาลัยคืออะไร ก็ทำตามมาตรฐานไป ถ้ามีการเปลี่ยอาจารย์ ปกติมหาวิทยาลัยก็จะแจ้งมา เราก็จะดูฐานข้อมูล ถ้าเขาไม่แจ้งมา เราก็ไม่ทราบ มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนผู้สอนแล้วไม่ได้แจ้งมา เราก็ไม่ทราบกระบวนการภายในที่เรื่องนี้มีมหาวิทยาลัยดูแลอยู่ ส่วนเราก็ทำตามระบบรับประกันคุณภาพ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้ว เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไร กับ สกอ. ใช่หรือไม่ นางวราภรณ์ตอบว่า "ถ้าคุณจบจากมหาวิทยาลัยแล้วไปสมัครงาน แล้วที่ทำงานไม่รับ ถ้าเช่นนั้นต้นสังกัดที่จบ ต้องวิ่งมาเคลียร์กับผู้สมัครไหม"
“ก็ต้องถามว่าถ้าบริษัทไม่รับสมัคร เขาต้องวิ่งมาเคลียร์กับมหาวิทยาลัยไหม คือตอนนี้เท่าที่คุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เขาก็พร้อมไปชี้แจง ว่าตรงไหน ทำให้ กต เห็นว่า สื่อสารกันไม่ชัดเจน เขาคงคุยกันอยู่” นางวราภรณ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า สกอ. คิดจะรื้อหลักสูตรดังกล่าวของ 7 มหาวิทยาลัยมาตรวจสอบอีกหรือไม่
นางวราภรณ์ตอบว่า ไม่ทราบว่าจะให้เราไปรื้ออะไร
ผู้สื่อข่าวถาม เรื่องที่มีหลักสูตรดังกล่าว ของบางมหาวิทยาลัยเป็นทีมอัยการและบางมหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำหลักสูตรไม่เคยมาสอน
นางวราภรณ์กล่าวว่า “เราไม่รู้ว่าเขาเอาใครมาเป็นคนสอน แต่ตอนที่ส่งมาให้เราเพื่อขอให้รับทราบว่าเป็นไปมาตรฐาน เราก็ดูว่าเป็นไปตามมาตรฐาน”
อ่านประกอบ :
สั่งเพิกถอนหลักสูตร ป.โท สอบผช.ผู้พิพากษา 3 ม.ดัง-ไม่รับรองอีก 4 แห่ง
เบื้องหลังมติกต.เชือดหลักสูตร ป.โท 7 มหาลัยฯดัง-ลักไก่อ้างชื่ออ.ประจำ
อธิการฯ ม.ดัง ยังไม่ทราบ กก.ตุลาการไม่รับรองหลักสูตร ป.โท-ยัน "สกอ." รับรอง
ภาพนายพินิติ และนางวราภรณ์ จาก : http://www.mua.go.th