"ต้นทาง"จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ “ประชา"ชง ครม.เอื้อองค์การตลาด
เปิด “ต้นทาง” มหากาพย์การจัดซื้ออาหารดิบ เลี้ยงผู้ต้องขัง ปีงบประมาณ 2556 พบหลักฐาน “ประชา พรหมนอก” รมว.ยุติธรรม ส่งหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. ระบุความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง เอื้อประโยชน์องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้ออาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขัง ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง และเครื่องปรุง ) ของกรมราชทัณฑ์ และมีการเปิดเผยบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน พ.ต.อ.ศุภกร ศุภสินเจริญ ผู้อำนวยการกองคลัง กรมราชทัณฑ์ และนายธีธัช สุขสะอาด ผู้อำนวยการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ประเด็นหนึ่งที่ทุกคนอ้างตรงกันคือกระบวนการจัดซื้ออาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขัง ด้วยวิธีกรณีพิเศษที่ให้สิทธิพิเศษกับ 4 หน่วยงานรัฐ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ ทั้งสิ้น โดย พ.ต.อ.สุชาติ ระบุถึงเหตุผลความจำเป็นประการหนึ่งว่า เนื่องมาจากปัญหาลักลอบนำเข้ายาเสพติดจึงจำเป็นต้องจัดส่งอาหารดิบด้วยวิธีกรณีพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
ด้านเอกชนที่เป็นอดีตตัวแทนจัดส่งอาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขัง ตั้งข้อสังเกตกับสำนักข่าวอิศราว่า คำกล่าวของ พ.ต.อ.สุชาติไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากหากมีการลักลอบนำเข้ายาเสพติด ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือเจ้าหน้าที่เรือนจำ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการที่ให้ 4 หน่วยงานรัฐ ได้รับสิทธิพิเศษและตั้งตัวแทนผูกขาด จัดส่งอาหารดิบให้ผู้ต้องขัง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบเอกสารราชการที่เป็นหนึ่งใน “ต้นทาง” ของมหากาพย์การจัดซื้ออาหารดิบด้วยวิธีกรณีพิเศษ ของปีงบประมาณ 2556 ที่มีเอกชนมาร้องเรียนกับสำนักข่าวอิศรา และ ป.ป.ช. ว่ามีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส เอื้อต่อการตั้งตัวแทนผูกขาดการจัดส่งอาหารดิบให้เรือนจำ พบข้อมูลที่น่าสนใจคือวันที่ 4 ต.ค. 2555 นาย "ประชา พรหมนอก" ซึ่งขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงวิธี การจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง โดยระบุด้วยว่า กรมราชทัณฑ์จะต้องเฉลี่ยค่าอาหารที่ได้รับงบประมาณให้เพียงพอในการจัดเลี้ยงอาหารผู้ต้องขัง ทั้งอ้างถึงการดำเนินการจัดซื้อข้าวสาร อาหารดิบ ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) และเชื้อเพลิง ในวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทำให้มีผู้ต้องขังจำนวนประมาณ 79,542 คน ไม่มีงบประมาณค่าอาหาร กรมราชทัณฑ์จะต้องหาวิธีดำเนินการจัดซื้ออาหารดิบตามวงเงินงบประมาณที่มีอยู่
เอกสารที่ลงนามโดยนายประชา ฉบับนี้ ระบุด้วยว่า องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอรายละเอียด การขายอาหารดิบ กับกรมราชทัณฑ์โดยเน้นในเรื่องของการป้องกันการลักลอบนำเข้าสารเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมายโดยเข้าเรือนจำฯ โดยปรับปรุงสภาพรถขนส่งเครื่องบริโภคให้เป็นแนวทางเดียวกัน กรมราชทัณฑ์จึงพิจารณา เห็นว่าตามจำนวนเงินงบประมาณที่มีอยู่ องค์การตลาดฯ สามารถจัดส่งอาหารดิบให้กับเรือนจำฯ ได้ตามจำนวนผู้ต้องขัง 246,342 คน เป็นการช่วยรัฐบาล ในการประหยัดงบประมาณ
เอกสารดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
ด่วนที่สุด ที่ ยธ. 0703.6 / 4290
ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2555
เรื่อง การจัดซื้อเครื่องบริโภค สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2556
เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
อ้างถึง 1.มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 กันยายน 2552
2.มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552
3. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/21264 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554
สิ่งที่ส่งมาด้วย ข้อมูลการจัดซื้ออาหารดิบ ของกรมราชทัณฑ์ จำนวน 100 ชุด
กระทรวง ยุติธรรม ขอเสนอเรื่อง การจัดซื้อเครื่องบริโภค สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 มาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยเรื่องนี้เข้าข่ายที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (9)
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
1.เรื่องเดิม
1.1 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดวางระบบการจัดซื้อ และชำระราคาค่าอาหาร เครือ่งบริโภค และวัสดุเพื่อการหุงหาอาหาร ให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง รวมทั้งเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในการดูแล ของกรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชน แล้วจัดส่งหรือส่งมอบให้ทั้งสองกรมต่อไป โดยดำเนินการร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์โคนม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว ตั้งแต่ปี งบประมาณ พ.ศ.2553 เป็นต้นไป
1.2 มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 เรื่อง ขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี
2. ขยายระยะเวลากการทดลองนำร่อง การซื้อ-ขาย ผลไม้ระหว่างกรมราชทัณฑ์ กับกรมส่งเสริมการเกษตรออกไปอีก 3 เดือน (วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2553 ) โดยเพิ่มพื้นที่จังหวัดนำร่อง ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ กำหนดให้เกษตรกรสามารถจัดส่งผลไม้ข้ามพื้นที่และข้ามจังหวัดได้ ขยายประเภท ผลไม้ให้ครอบคลุมถึงพืชอื่นที่รับประทานแทนผลไม้ได้ เช่น แห้ว มันแกว ข้าวโพด อ้อย มันเทศ เผือก และถั่วลิสง เป็นต้น รวมถึงประชาสัมพันธ์เพิ่มจำนวนเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาผลลัพธ์ และผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ กรมราชทัณฑ์ กับกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้สามารถวางระบบการจัดซื้อผลไม้ในภาพรวมทั้ง ประเทศไทยโดยสะดวก นักโทษ/ผู้ต้องขัง ไม่เกิดภาวะจำเจในการบริโภคผลไม้ เกษตรกรในพื้นที่ที่ผลผลิตมาก ล้นตลาด สามารถเพิ่มช่องทางในการระบายผลไม้ กรมราชทัณฑ์สามารถมีผลไม้ที่หลากหลายชนิดและราคาให้เลือกสรร ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถศึกษาระบบการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรองรับ ต่อช่วงฤดูผลไม้ล้นตลาด ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม ของทุกปี
1.3 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดฯ ที่ ยธ 0208.2 / 5590 ลงวันที่ 22 กันยายน 2554 แจ้งเรื่องการดำเนินการ จัดซื้ออาหาร และวัสดุปรุงอาหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 โดยกระทรวงยุติธรรม พิจารณาแล้ว เห็นควรดำเนินการดังนี้
1. ให้กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการจัดซื้อข้าวสารจากกระทรวงพาณิชย์ โดยการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กขช.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
2. ให้กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการจัดซื้ผลไม้ตามมติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 โดยให้กรมราชทัณฑ์ จัดซื้อผลไม้กับเกษตรกรโดยตรงป็นการถาวร และต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
3. การจัดซื้ออาหารดิบ ( อาหารดิบรายสิ่ง ) ประเภทเนื้อสัตว์ ผักสด และเครื่องปรุง ให้ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือฯ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505 / 21264 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 เรื่อง การจัดซื้ออาหาร เครื่องบริโภค และวัสดุ เพื่อการหุงหาอาหารประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ของกระทรวงยุติธรรมว่า
คณะ รัฐมนตรี ได้ประชุม ปรึกษาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ลงมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยให้ยกเว้น การปฏิบัติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ( เรื่อง ขอให้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ การจัดระบบการจัดซื้ออาหาร เครื่องบริโภค และวัสดุ เพื่อการหุงหาอาหาร )
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
1.3.1 กรมราชทัณฑ์ ได้แจ้งแนวทางการจัดหาเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ว่า กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการจัดซื้ออาหารข้างสารขาว 5 % และข้าวสารเหนียว 10 % ให้แก่เรือนจำและทัณฑสถาน บริโภคตามความต้องการ และจะทยอยส่งมอบให้แก่เรือนจำและทัณฑสถาน เป็นคราวๆ ตามความต้องการ และเพียงพอแก่ แก่การบริโภค และสถานที่เก็บ โดยให้แจ้งปริมาณ ชนิดของข้าวสาร และวันที่ที่ต้องการทางโทรสาร โดยตรงที่หมายเลข 02-967 3540-41 รายละเอียดปรากฏตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0703 .6 / 25069 ลงวันที่ 30 กันยายน 2554
2 กรมราชทัณฑ์ได้แจ้งแนวทางการจัดหาเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ โดยใช้อัตรา ถือจ่ายสำหรับเชื้อเพลิงประเภทแก๊ส ไม่เกิน 2.50 บาท ต่อคนตออวัน หากเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ไม่เกิน 1.50 บาท ต่อคนต่อวัน โดยวิธีตกลงราคา หรือวิธีกรณีพิเศษ แล้วแต่กรณี
1.3.2 อัตราถือจ่ายค่าอาหารดิบ ( อาหารดิบเป็นรายสิ่งและเครื่องปรุง ) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้ดำเนินการโดยวิธีการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีวงเงินในการจัดซื้ออาหาร ไม่ถึง 2 ล้าน ให้ดำเนินการโดยวิธีสอบราคา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
1.3.3 หนังสือฯ กรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ 01703.6 / 30206 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 เรื่อง การจัดหาผลไม้พืชอื่น ที่รับประทานแทน ผลไม้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
2.เหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 กรมราชทัณฑ์ ได้รับงบประมาณ ค่าอาหารผู้ต้องขัง 3023218 000 บาท ( สามพันสยี่สิบสามล้าน สองแสนหนึ่งหมื่นแปดพันบาทถ้วน ) จากจำนวนผู้ต้องขังจำนวน 166800 คน และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ จำนวน 3658 คน แต่ปัจจุบันนี้ จำนวนผู้ต้องขังประมาณ 246,342 คน ถ้ารวมผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์จะมียอดผู้ต้องขัง มากกว่า จำนวน 250,000 คน ( ข้อมูลวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ) ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะต้องเฉลี่ยค่าอาหารที่ได้รับงบประมาณให้เพียงพอในการจัด เลี้ยงอาหารผู้ต้องขัง
การดำเนินการจัดซื้อข้าวสาร อาหารดิบ ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) และเชื้อเพลิง ในวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ จะเห็นว่ามีผู้ต้องขังจำนวนประมาณ 79,542 คน ไม่มีงบประมาณค่าอาหาร กรมราชทัณฑ์จะต้องหาวิธีดำเนินการจัดซื้ออาหารดิบตามวงเงินงบประมาณที่มีอยู่
องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอรายละเอียด การขายอาหารดิบ กับกรมราชทัณฑ์โดยเน้นในเรื่องของการป้องกันการลักลอบนำเข้าสารเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมายโดยเข้าเรือนจำฯ โดยปรับปรุงสภาพรถขนส่งเครื่องบริโภคให้เป็นแนวทางเดียวกัน กรมราชทัณฑ์จึงพิจารณา เห็นว่าตามจำนวนเงินงบประมาณที่มีอยู่ องค์การตลาดฯ สามารถจัดส่งอาหารดิบให้กับเรือนจำฯ ได้ตามจำนวนผู้ต้องขัง 246,342 คน เป็นการช่วยรัฐบาล ในการประหยัดงบประมาณ
3.ความเร่งด่วนของเรื่อง
เนื่องจากสัญญา จะซื้อจะขายของเรือนจำและทัณฑสถาน จะสิม้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2555 กรมราชทัณฑ์จะต้องแจ้งแนวทาง การจัดซื้อเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ให้เรือนจำและทัณฑสถาน ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556
4.สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง และกฎหมาย
ไม่มี
5.รายงานการวิเคราะห์ หรือศึกษาตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใดๆ
ไม่มี
6. ผลกระทบ
ไม่มี
7.ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
ไม่มี
8.ความเห็นคือความเห็นชอบ / อนุมัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ไม่มี
9.ข้อกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
9.1 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552
9.2 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553
10.ข้อเสนอของส่วนราชการ กระทรวงยุติธรรม พิจารณาแล้วเห็นว่า บัดนี้ใกล้สิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ที่ได้รับยกเว้นให้ปฏิบัติ ตามหนังสือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ในวันที่ 30 กันยายน 2555 ซึ่ง เรือนจำและทัณฑสถานจะต้องดำเนินการจัดซื้อเครื่องบริโภคสำหรับใช้เลี้ยงผู้ ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 ดังนั้น เพื่อให้การจัดซื้ออาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่ง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหา ในการจัดเลี้ยงอาหารผู้ต้องขัง และกรมราชทัณฑ์จะต้องได้ผู้ขายอาหารดิบ ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) ที่มีความมั่นคงทางการเงิน สามารถจัดส่งอาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) ให้กับกรมราชทัณฑ์ ในวงเงินงบประมาณที่มีจำกัด สามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับกระทรวงยุติธรรมได้ เป็นแนวทางใหม่ในการจัดซื้ออาหารดิบ ( อาหารดิบเป็นรายสิ่ง ) เพื่อการป้องกันปัญหาการลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้าเรือนจำฯ เป็นการช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการระบายสินค้าของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง กรมราชทัณฑ์จึงขอมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
(1) ขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 เรื่อง การจัดซื้อผลไม้และพืชอื่นที่รับประทานแทนผลไม้
(2) ให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการจัดหาอาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่ง) สำหรับใช้เลี่ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 กับองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย โดยวิธีกรณีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 26 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
….
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลักฐานสำคัญ ที่แสดงถึง “ต้นทาง” ความเป็นมาของมหากาพย์การจัดซื้ออาหารดิบเลี้ยงผู้ต้องขัง ด้วยวิธีกรณีพิเศษ ที่เอื้อให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย!
( อ่านประกอบ : เปิดคำต่อคำ"อิศรา"ถาม"องค์การตลาด"ตอบปมจัดซื้ออาหารเลี้ยงผู้ต้องขัง! )
(ผอ.องค์การตลาดแจงปมขายอาหารเรือนจำ-อ้าง"ตัวแทน"3 จว.มีคุณภา)
(หลักฐานมัดจัดซื้ออาหาร"ผู้ต้องขัง"เรือนจำอ่างทอง เสร็จองค์การตลาด? )
(เปิด 3 ปมจัดซื้ออาหารเรือนจำอ่างทอง-ยื่นเสนอราคาก่อนวันกำหนด 3 วัน? )
(คนนามสกุลเดียวกันโผล่เป็น"ตัวแทน"จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ 3 แห่ง )
(อีกแห่ง!จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำชัยนาท เรียกเสนอราคาก่อนผู้ว่าฯ ลงนาม )
(ร้องสอบจัดซื้ออาหารดิบ"ผู้ต้องขัง"ส่อฮั้ว-ซัดผบ.เรือนจำ-ผู้ว่าฯ อาจผิด กม. )
(ตีแผ่!ผูกปิ่นโต 15 ปีซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง”เรือนจำทั่ว ปท.8.5 พันล. )
(ยอดจัดซื้ออาหารดิบเรือนจำทะลัก 1.3 หมื่นล.-องค์การคลังสินค้า 2.7 พันล.)