มติป.ป.ช.ให้สนช.ยื่นบัญชีฯ-เปิดเผย เหตุทำหน้าที่เหมือนส.ส.-ส.ว.
ป.ป.ช. มีมติให้ สนช. ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ยึดมติที่ประชุมปี 49 เหตุทำหน้าที่เหมือน ส.ส.-ส.ว. ยันต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. แก้ไขปี 54 “สรรเสริญ” เผย สนช. ที่ถือครองหุ้นสัมปทานรัฐไม่ต้องโอน เพราะ ม.41 รธน.ชั่วคราวปี 57 คุ้มครองอยู่ ยังไม่เคาะ สปช. ยื่นบัญชีฯหรือไม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ หากมีหน้าที่ยื่นจะต้องดำเนินการตั้งแต่เมื่อใด
นายสรรเสริญ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งประกาศในราขกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มาตรา 6 วรรคสอง ได้บัญญัติให้ สนช. ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ประกอบกับมาตรา 41 ก็ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง สนช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในสถานะและทำหน้าที่เช่นเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว.
“ดังนั้น สนช. จึงย่อมมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 มาตรา 32 โดยจะต้องยื่นบัญชีฯภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง กล่าวคือ ในวันที่ได้กล่าวปฏิญาณตนต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ซึ่งสอดคล้องกับมติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยพิจารณาไว้ในการประชุมครั้งที่ 7/2549 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 กรณีของ สนช. เมื่อปี 2549” นายสรรเสริญ กล่าว
ส่วนกรณีที่ สนช. ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช. แล้วจะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เช่นเดียวกับตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. หรือไม่นั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงสองตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ดังนั้นบัญชีฯของ สนช. เมื่อปี 2549 จึงไม่มีการประกาศเปิดเผย แต่ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ได้กำหนดให้ต้องประกาศเปิดเผยบัญชีฯของ ส.ส. และ ส.ว.
“ดังนั้น ในเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อ สนช. ปี 2557 ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. และมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯต่อ ป.ป.ช. เช่นเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว. จึงเห็นควรเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของ สนช. ปี 2557 ต่อสาธารณชนตามมาตรา 35” นายสรรเสริญ กล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังนี้
1.กำหนดให้ สนช. มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
2.การยื่นบัญชีฯ ให้ถือวันปฏิญาณตนต่อที่ประชุมแห่งสภาเป็นวันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคือวันที่ 8 สิงหาคม 2557
3.ให้มีการประกาศเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 35 เช่นเดียวกับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
นายสรรเสริญ กล่าวด้วยว่า สนช. จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯได้ตั้งแต่ 8 สิงหาคม 2557 ถึง 7 กันยายน 2557 และสำนักงาน ป.ป.ช. จะเปิดเผยต่อสาธารณชนภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน กล่าวคือ ไม่เกินวันที่ 7 ตุลาคม 2557
ผู้สื่อข่าวถามว่า สนช. หลายรายที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐและวิสาหกิจซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. และ ส.ว. จะต้องโอนหรือขายไปก่อนยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า สนช. สามารถเป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐได้เช่นเดิม เพราะว่ามีมาตรา 41 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 คุ้มครองอยู่ ดังนั้นไม่ต้องโอนหรือขายแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำเป็นจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯหรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกสภาปฏิรูปฯ เนื่องจากอยู่ในระหว่างสรรหา และที่ผ่านมาก็ไม่เคยกำหนดให้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง