ปกป้อง ศรีสนิท:ประกาศ คสช.แก้กม.วิอาญา ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่รากเหง้า
อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. เห็นแย้งมหาดไทย ชี้ ประกาศ คสช. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญา มาตรา 145/1 และมาตรา 21/1 ไม่ทำลายอำนาจการถ่วงดุลตรวจสอบเพียงเปลี่ยนจากผู้ว่าฯ เป็นตำรวจ แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่รากเหง้าโดยเฉพาะเขตอำนาจที่ศาลมักมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย
ผศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา
โดยมีประเด็นสำคัญตอนหนึ่ง กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจในการยื่นฟ้องหรือไม่ยื่นฟ้องคดีทางอาญา ซึ่งในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยคัดค้านประกาศดังกล่าว โดยชี้ว่าอำนาจของผู้ว่าฯ ถูกลดลงไป และให้อำนาจนั้นแก่ผู้บัญชการตำรวจภูธรภาค
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขมาตรา 145/1 ในประกาศดังกล่าวถือเป็นการทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ตามที่มหาดไทยค้าน โดยระบุว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาคดีความ ทางอาญา ทั้งในอำนาจการสั่งฟ้อง และการสืบสวน ของทั้งตำรวจและอัยการหรือไม่
ผศ.ดร.ปกป้อง ตอบว่า ประกาศดังกล่าวนี้ ไม่ได้ลดทอนกลไกการตรวจสอบหรือส่งผลต่อการสั่งฟ้องคดีอาญาแต่อย่างใด เพียงแต่เปลี่ยนคนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้นเอง
"หากถามว่าคำสั่งดังกล่าวลดทอน อำนาจการสั่งฟ้องคดีหรือไม่ คำตอบคือไม่มีอะไรเปลี่ยน ยังเหมือนเดิม ยังมีกระบวนการที่เปิดให้แย้งความเห็นอัยการได้ดังเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตำรวจเท่านั้น"
ผศ.ดร.ปกป้อง ยังระบุด้วยว่า ส่วนสาเหตุที่ผ่านมามอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจาก ในอดีต เวลาที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ก็จะต้องส่งเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดด้วยว่าผู้ว่าฯ จะมีความเห็นแย้งหรือไม่ ขณะที่หากเป็น กทม. ก็จะส่งให้อัยการ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีทั้งเห็นด้วยและเห็นแย้งกับอัยการ แต่คนชี้ขาดว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องก็คืออัยการสูงสุดนั่นเอง
“แต่กฎหมายใหม่ที่ออกมานี้ เมื่ออัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้องในคดีใด จากเดิมทีที่จะส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่จากนี้เขาให้ส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการภาคซึ่งก็คือ ตำรวจ ทำหน้าที่ชี้ขาด กล่าวแบบสรุปคือ ให้ผู้บัญชาการภาคคือตำรวจเป็นคนชี้ขาด เป็นคนพิจารณา จากเดิมที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนพิจารณา แล้วจากนั้น ผู้บัญชาการภาคก็ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด” ผศ.ดร.ปกป้องระบุ
ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่าจากสถิติที่ผ่านมา ของทั้งประเทศ กรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดทำความเห็นแย้งอัยการเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หมายความว่าคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในทั่วประเทศ มีเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น ที่ผู้ว่าราชการเห็นแย้ง นั่นแปลว่ามีมากถึง 95เปอร์เซ็นต์ที่ผู้ว่าฯ เห็นด้วยกับกับอัยการ
“ดังนั้น ที่มีผู้มองว่าประกาศของ คสช. ฉบับนี้ ทำให้อำนาจการถ่วงดุลตรวจสอบเปลี่ยนไป ผมว่าก็ไม่น่าจะส่งผลแบบนั้น เพราะทุกวันนี้ ผู้ว่าฯ ก็แย้งอัยการเพียงแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”
นักวิชาการรายนี้ กล่าวด้วยว่าประเด็นสำคัญกว่านั้น คือในประกาศดังกล่าว คสช. มีคำสั่ง แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21/1 ที่ระบุว่าสำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการ เดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด
ผศ.ดร.ปกป้องกล่าวต่อไปว่า มาตรา 21/1 นี้ เป็นกรณีคล้ายๆ กันกับมาตรา 145 เพราะว่าเป็นการเปลี่ยนอำนาจ จากเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเคยชี้ขาดอำนาจสอบสวนภายในจังหวัด แต่ก็มีการเปลี่ยนให้ผู้บัญชาการของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเป็นคนชี้ขาดเอง
“นี่อาจเป็นสิ่งที่มหาดไทยกังวล ว่าจากเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเคยมีอำนาจชี้ขาดการสอบสวน กลายเป็นผู้บัญชาการตำรวจชี้ขาดเอง แต่การแก้ไขอำนาจในการชี้ขาดนี้ ก็ล้วนไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด เพราะในความเห็นผม เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทั้งเรื่องอำนาจในการชี้ขาดและการแก้ไข ป.วิอาญา มาตรา 21 ล้วนไม่สำคัญ เพราะมันไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ใครมีอำนาจชี้ขาดไม่สำคัญสำหรับผม แต่ชี้ขาดแล้วส่งผลอย่างไรต่างหากที่สำคัญมากกว่า และเป็นปัญหาของการดำเนินคดีอาญาในปัจจุบัน”
ผศ.ดร.ปกป้องกล่าวด้วยว่าในปัจุบัน คำพิพากษาของศาลในประเทศไทยมักยกเรื่องเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน มาเป็นเหตุยกฟิอง และปล่อยจำเลยไป ทั้งๆ ที่จำเลยมีความผิดโดยศาลอ้างว่าเขตที่หนึ่งมีอำนาจสอบสวน แต่เขตที่สองมาสอบสวน ศาลก็เลย หยิบการสอบสวนผิดเขต มาเป็นเหตุยกฟ้อง ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ตรงจุด จึงไม่ใช่อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตำรวจ แต่ควรเขียนลงไปให้ชัดว่า เมื่อใครชี้ขาด เรียบร้อยแล้ว ไม่ให้ ศาลหยิบยกเรืองการ สอบสวนผิดเขตอำนาจ มาเป้นเหตุยกฟ้อง และปล่อยจำเลยไป โดยเฉพาะกรณีที่มีหลักฐานว่าจำเลยมีความผิดจริง
ผศ.ดร.ปกป้องกล่าวว่า การแก้ไขกกฎหมายครั้งนี้ จึงไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การหยิบยกเรื่องเขตอำนาจ ที่ศาลมักนำมาเป็นเหตุยกฟ้อง ซึ่งจริงๆ ไม่ควรยกฟ้อง เพราะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่กระเทือนต่อเหตุแห่งการกระทำผิดของจำเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพนักงานสอบสวนเขตหนึ่งหรือเขตสองทำหน้าที่สอบสวนก็ย่อมไม่ต่างกัน แต่ที่ผ่านมาศาลกลับนำกรณีกการสอบสวนผิดเขตมาเป็นเหตุยกฟ้อง ดังที่กล่าวมา เพราะการแก้ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ว่าต้องมีการเขียนให้ชัดไปเลยว่าให้ใครมีอำนาจชี้ขาดในการสั่งฟ้อง แล้วศาลต้องไม่นำมาอ้างเป็นเหตุยกฟ้อง คือ ถ้ามีการชี้ขาดเรียบร้อยแล้ว ก็ควรต้องเขียนให้ชัดเลยว่าเมื่อใครชี้แล้วต้องเป็นที่สุด และไม่ให้ศาลหยิบยกมาเป็นเหตุยกฟ้องให้ปล่อยจำเลยไป ด้วยเหตุผลว่า ใครสอบเกินขอบเขตอำนาจ
นักวิชาการรายนี้ กล่าวด้วยว่า ถึงที่สุดแล้ว การให้อำนาจแก่ตำรวจและอัยการก็ไม่ใช่รูปแบบเดียวในคดีอาญา เพราะผู้เสียหายในคดีก็สามารถฟ้องร้องเองได้
“ในประเทศไทย ให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเองได้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ จึงไม่เรื่องสำคัญอะไรเลย ขอยืนยันว่าการถ่วงดุลอำนาจการตรวจสอบแบบนี้ไม่ใช่รูปแบบเดียวในคดีทางอาญา เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีใครเห็นแย้งกับอัยการ เช่น กรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้เสียหายก็สามารถตรวจสอบและฟ้องคดีเองได้อยู่แล้ว ดังนั้น ประเด็นนี้ จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร” นักวิชาการรายนี้ระบุ
( อ่านประกอบ : "อัยการ-ตร.-มหาดไทย"โยนกฤษฎีกาแก้ประกาศ คสช.กม.วิอาญาชั้นสนช. )
( คสช.แก้กม.วิ อาญาคดีตจว.เห็นแย้งอัยการให้ ผบช.ชี้ขาดแทนผู้ว่าฯ )
ภาพปกป้อง ศรีสนิท จาก : ilaw.or.th