"อัยการ-ตร.-มหาดไทย"โยนกฤษฎีกาแก้ประกาศ คสช.กม.วิอาญาชั้นสนช.
ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย "อัยการ-ตำรวจ-มหาดไทย" ลงความเห็นมอบ "กฤษฎีกา" รับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 115/2557 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอ สนช. แก้ไขในขั้นตอนต่อไป หลังกระแสค้านเพียบ
จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา โดยกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจในการยื่นฟ้อง หรือไม่ยื่นฟ้องคดีทางอาญา ทั้งที่แต่เดิมกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน ในเรื่องการรักษาความสงบ รวมไปถึงการดูแลเรื่องความยุติธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่งผลทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเมื่อประกาศฉบับนี้ออกมา อำนาจของผู้ว่าฯจึงถูกลดลงไป และให้อำนาจนั้นแก่ผู้บัญชการตำรวจภูธรภาค ประการสำคัญทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาคดีความทางอาญา ทั้งในอำนาจการสั่งฟ้อง และการสืบสวน ของทั้งตำรวจและอัยการนั้น
(อ่านประกอบ :คสช.แก้กม.วิ อาญาคดีตจว.เห็นแย้งอัยการให้ ผบช.ชี้ขาดแทนผู้ว่าฯ , มหาดไทยค้านคสช.แก้ป.วิอาญา 145/1 ยันทำลายถ่วงดุลตร.-อัยการ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ประกอบไปด้วย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผู้บัญชีการตำรวจแห่งชาติ นายกิตติ บุศยพลากร ผู้ตรวจการอัยการสูงสุด และอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557 ดังกล่าว
โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 115/2557 ไปก่อน เนื่องจากมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ก่อนจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามประกาศคสช.ฉบับที่ 115/2557 ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขกฎหมายในชั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาในประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้วิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการสอบสวนมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
1.ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 23/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 21/1 สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป้นผู้บังคับบัญชาการพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด
การรอคำสั่งชี้ขาด ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน”
2.ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนี”
3.ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“มาตรา 145/1 สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 143
ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน
บทบัญญัติในมาตรนี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ มาตรา 145 [86] ระบุว่า ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 143
ในกรณีที่อธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน
บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม