"ประสิทธิ์"แจงอสส.ถูกแผนร้ายเล่นงานตีกอล์ฟ เหตุขวางผลประโยชน์ทีโอที
"เอ็กซ์คลูซีฟ" เปิดหนังสือฉบับเต็ม "ประสิทธิ์ ศิริภากรณ์" แจงอัยการสูงสุด ที่มาถูกแผนร้ายโจมตีใช้บัตรสมาชิกสโมสรราชพฤกษ์ตีกอล์ฟ เหตุเข้าไปขัดขวางผลประโยชน์คลื่นทีโอที
จากกรณีนายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ อัยการพิเศษฝ่ายสัญญาและหารือ 3 ในฐานะอดีตกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงที่มาในการได้รับบัตรสมาชิกสโมสรราชพฤกษ์ ว่าได้รับมอบมาจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที นั้น
( อ่านประกอบ : คำให้การ"บิ๊กอัยการ":ประชุม 3 จี"ทีโอที"ร้านไวน์หรู!ร้ายแรงกว่าตีกอล์ฟ )
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดจากหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ที่นายประสิทธิ์ ยื่นต่ออัยการสูงสุด ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 พบว่า
เนื้อหาส่วนแรกของหนังสือฉบับดังกล่าว มีใจความดังนี้
บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ สำนักงานอัยการสูงสุดสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย
วันที่ 10 มิถุนายน 2557
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริง
เรียน อป.
ตามหนังสือ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคณะกรรมการ 1 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 แจ้งให้ข้าพเจ้าชี้แจงกรณีที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ ( เฟซบุ๊ค ) ว่า นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ อัยการพิเศษฝ่ายสัญญาและหารือ 3 ในฐานะกรรมการของบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ได้ใช้จ่ายเงินของบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) เป็นค่ารับรองกรรมการที่สโมสรราชพฤกษ์นั้น
ขอเรียนว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ได้ทำบัตรสมาชิกสโมสรกีฬาราชพฤกษ์ เป็นสโมสรที่มีกีฬาทุกประเภท ทั้งกอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ว่ายน้ำ และอื่นๆ บัตรสมาชิก 3 ใบนี้ ทางกรรมการผู้จัดการใหญ่สมัยนั้น ( นายอานนท์ ทับเที่ยง ) ได้มอบบัตรสมาชิกหมายเลขนี้ให้ข้าพเจ้า เพราะเป็นกรรมการคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ในตำแหน่งหลังจากการปรับเปลี่ยนกรรมการออกทั้งชุด เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2554
โดยการมอบบัตรนี้ มิได้มีการบอกกล่าวข้อจำกัด หรือเงื่อนไขการใช้ให้รับทราบแต่อย่างใด บัตรสมาชิกหมายเลขที่มอบให้ข้าพเจ้าใช้นี้ เป็นบัตรสมาชิกที่เคยมอบให้กรรมการท่านหนึ่งซึ่งถูกปรับออกไป การใช้บัตรของกรรมการท่านนั้นก็มิได้มีข้อห้ามหรือจำกัดแจ้งให้ทราบเช่นกัน
ส่วนบัตรสมาชิกอีก 2 ใบ มอบให้แก่รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การชำระค่าใช้บริการกีฬาของบัตรสมาชิกนี้ ทางสโมสรกีฬาราชพฤกษ์จะแจ้งยอดการใช้จ่ายเป็นรายเดือนไปยังเจ้าของสมาชิก คือ บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ซึ่งผู้ใช้บัตรสมาชิก ไม่สามารถชำระเป็นเงินสดหรือบัตรเครดิตในการไปใช้แต่ละครั้งได้
กรณีตามข่าวที่เกิดขึ้นนี้ มิใช่เป็นเรื่องการที่ข้าพเจ้านำใบเสร็จในลักษณะที่ได้ชำระเงินล่วงหน้าแล้ว ไปขอให้เบิกจ่ายเป็นค่ารับรองจากบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) กลับคืนมา ในการใช้บริการดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา
ทางบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ก็ชำระค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สโมสรราชพฤกษ์เรียกเก็บตรงตามเวลาตลอดมา โดยมิได้มีข้อท้วงติงหรือขัดข้องหรือข้อจำกัดแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด
มาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 ต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม 2557 ฝ่ายการเงินไม่ดำเนินการชำระเงินค่าใช้จ่ายตามปกติอย่างที่เคย ทำให้มียอดเงินค้างสะสมสูงขึ้นหลายเดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือชี้แจงต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ดังกล่าว ยังระบุเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งของตนกับบอร์ดบริหารทีโอทีว่า
ประกอบกับห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเสนอวาระให้คณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาเกี่ยวข้องกับการโอนคลื่น 2100 Mhz ของบริษัททีโอที จำกัด ( มหาชน ) ไปให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่น ใช้ในลักษณะที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติโครงการโทรศัพท์ 3 จี ที่มีมติให้บริการแบบ MVNO และการโอนคลื่นความถี่ครั้งนี้ อาจขัดต่อพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 46 ซึ่งบัญญัติว่า “ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต จะโอนแก่กันมิได้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมด หรือบางส่วน หรือยินยอมให้บุคคล อื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้” อันอาจทำให้คณะกรรมการบริษัท ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ข้าพเจ้าจึงได้ท้วงติง และแนะนำให้นำกรณีดังกล่าว หารือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทค.) หรือ กสทช. เสียก่อน ในฐานที่ กทค. และ กสทช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่อนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัททีโอที จำกัด ( มหาชน ) และเอกชนรายดังกล่าวด้วย แต่มิได้มีการหารือไปยัง กทค. หรือ กสทช. แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในห้วงเวลาเดือนกันยายน 2556 ถึง เมษายน 2557 มีกรณีการไม่ปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตให้บริการโทรศัพท์ต่างๆ ในสาระสำคัญหลายประการที่กระทบต่อรายได้ และฐานะทางการเงินของบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ลงลงจำนวนมากในแต่ละปี ที่สำนักกฎหมาย เสนอให้คณะกรรมการกฎหมายพิจารณา รวมทั้งมีการนำเสนอโครงการใหญ่ มีการลงทุนจำนวนหลายพันล้านบาทที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอ จึงได้เสนอความเห็นว่า ขอให้ฝ่ายบริหารไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม มาให้ชัดเจนก่อนการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการ มิฉะนั้น อาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าหรือไม่คุ้มค่า
การที่ข้าพเจ้าได้ท้วงติงและเสนอความเห็นเป็นไปตามหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) แต่อาจเป็นที่ไม่พอใจแก่ผู้หนึ่งผู้ใดได้ หลังจากนั้น จึงได้เริ่มปรากฏตามสื่อดังกล่าว อันมีลักษณะเพื่อการทำลายความน่าเชื่อถือในลักษณะไม่ประสงค์ให้ข้าพเจ้าอยู่ในตำแหน่งกรรมการในบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) อีกต่อไป เนื่องจากในช่วงนี้จะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ
อนึ่ง ข้าพเจ้าจะยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ซึ่งได้แนบสำเนาหนังสือลาออกมาด้วยแล้ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์
อฝ.สห.3
( อ่านประกอบ : เปิดทุกฉบับ! หนังสือลาออก "ประสิทธิ์" ย้ำทีโอทีส่อเอื้อประโยชน์ "เอกชน" )