เลขาฯ สพฐ.หนุน"คตร."ลุยตรวจทุจริตแท็บเล็ต ลั่นเอาคนเลวออกจากระบบ
"กมล รอดคล้าย" เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกาศพร้อมสนับสนุน คตร.ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแท็บเล็ต เผยสั่งระงับโครงการแล้ว ลั่นใครทุจริตพร้อมดำเนินการถึงที่สุด ซัดแรงไม่ต้องการให้มีคนที่แสวงหาประโยชน์จากเด็กนักเรียน เอาคนเลวออกจากระบบ
จากกรณีโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน หรือโครงการแท็บเล็ตของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถูกระบุเป็นหนึ่งใน 8 โครงการรัฐที่มีมูลค่ามากกว่าพันล้านบาทที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ดำเนินการตรวจสอบ นั้น
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การตรวจสอบโครงการแท็บเล็ตของ คตร.แยกเป็นสองกระบวนการ กระบวนการแรกคือการตรวจสอบกระบวนการบริหารจัดการ เรื่องเนื้อหาสาระว่าเด็กได้รับประโยชน์หรือไม่
ส่วนกระบวนการที่สอง คือการตรวจสอบเรื่องการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในกระบวนการนี้ สพฐ.ไม่ยอมให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นแน่นอน เมื่อ คตร. เข้ามาก็พร้อมให้ข้อมูล ให้ความร่วมมือทุกอย่าง
"ตอนนี้ คตร เข้ามาตรวจสอบที่ สพฐ. แล้ว ในส่วนของปี พ.ศ.2556 ซึ่งเราก็ยินดี ส่วนโครงการแท็บเล็ตปี พ.ศ. 2555 คตร.ไปตรวจสอบที่ไอซีที ถ้ามีกระบวนการโกงในขั้นตอนใดหรือมีใครทุจริตในขั้นตอนใด เราขอให้เขาจัดการให้เต็มที่ เราก็พร้อมเอาเรื่องเต็มที่ เพราะเราอยากเอาคนเลวออกจากระบบเหมือนกัน อย่ามาหาประโยชน์จากเด็ก เราพร้อมสนับสนุน คตร. อยากเห็นเขาเปิดโปงเรื่องนี้ขึ้นมาเหมือนกัน”
นายกมลกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้โครงการแท็บเล็ตถูกระงับแล้ว แต่ที่ระงับไม่ใช่เพียงเพราะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เนื่องมาจากสาเหตุเรื่องนโยบายที่ถูกมองว่าไม่คุ้มค่า
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สำนักข่าวอิศราเคยตรวจสอบพบว่า บางบริษัท เช่นบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ชนะประมูลจัดหาคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ประจำปีการศึกษา 2556 โซน 3 (ภาคกลางและภาคใต้) เป็นคู่ค้าหน่วยงานรัฐและกระทรวงศึกษาธิการบ่อยครั้งกว่าบริษัทอื่น
นายกมลตอบว่า กรณีคู่ค้ารายใหญ่ที่บ่อยกว่าบริษัทอื่น ยอมรับว่าอาจถูกมองในมุมที่เป็นปัญหาได้ เพราะฉะนั้น จึงพยายามหาวิธีว่าจะทำอย่างไร คนจำนวนมากจึงจะเข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสได้
“เรื่องนี้เรากับ คสช. เห็นตรงกัน และหวังให้เป็นอย่างนั้น” นายกมล ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่าสำนักข่าวอิศรา เคยใช้สิทธิยื่นหนังสือขอเอกสารรายละเอียดการเซ็นสัญญาและยกเลิกสัญญาของบริษัทเซินเจิ้น อิงถังฯ ตามสิทธิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารแต่ปัจจุบัน สำนักข่าวอิศรายังได้เอกสารไม่ครบ นายกมลทราบเรื่องนี้หรือไม่ และจะช่วยเร่งรัดเรื่องข้อมูลเอกสารที่สำนักข่าวอิศราเคยยื่นขอไว้ แต่ยังไม่ได้รับการชี้แจงรายละเอียดได้หรือไม่
( อ่านประกอบ : “อิศรา”ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เปิดสัญญาแท็บเล็ต"เสิ่นเจิ้นอิงถัง" )
นายกมลตอบว่า ยินดีตามเรื่องให้ แต่ขอให้สำนักข่าวอิศราส่งรายการที่อิศรายื่นขอมาอีกครั้งแล้วจะติดตามให้
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีที่ บ.เซิ่นเจิ้น อิงถังฯ ผิดสัญญา และชดใช้ค่าเสียหาย เคยมีเจ้าหน้าที่ สพฐ. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่าเงินที่ บ.เซินเจิ้นฯ ชดใช้ ถูกเข้าสู่งบประมาณแผ่นดินแล้ว ปัจจุบันได้ติดตามหรือไม่ว่าถูกส่งเข้างบประมาณแผ่นดินแล้วจริงหรือไม่
นายกมลตอบว่าเรื่องนี้ไม่ทราบ ต้องถามเจ้าหน้าที่ที่ติดตามเรื่องนี้อีกครั้ง
อ่านประกอบ :
“สุพรีมฯ”ก่อนคว้าแท็บเล็ต สพฐ. คู่ค้าหน่วยงานรัฐ 212 ครั้ง 2.4 พันล.
แกะเครือข่ายบริษัทสุพรีมฯผู้คว้าแท็บเล็ตโซน 3 สพฐ.1.2 พันล้าน
เปิดละเอียด "มหากาพย์" ขั้นตอนประมูลแท็บเล็ต "สพฐ" 4 โซน ฉบับเต็ม!
เผยโฉม 2 คนเบื้องหลัง"เซินเจิ้น"ก่อนทิ้งแท็บเล็ตพันล้าน
“ม.เกษตรฯ” ปูด “สพฐ” รวบอำนาจจัดซื้อแท็บเล็ต 40 สถาบันฯทั่ว ปท.