“ม.เกษตรฯ” ปูด “สพฐ” รวบอำนาจจัดซื้อแท็บเล็ต 40 สถาบันฯทั่ว ปท.
“ม.เกษตรฯ” ปูด “สพฐ.” รวบอำนาจจัดซื้อแท็บเล็ต 40 สถาบันการศึกษาทั่วปท. – จนท.อ้างเพิ่งรู้ข่าว “เซินเจิ้น อินถัง” ปิดกิจการหนีกลับเมืองจีน
ความคืบหน้าล่าสุดการตรวจสอบปัญหาการยกเลิกสัญญาซื้อขายแท็บเล็ต ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ บริษัท เซินเจิ้น อิงถัง อินเทลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด จากประเทศจีน นั้นภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรากฏรายชื่อเป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ทำสัญญาซื้อขายแท็บเล็ตกับบริษัท เซินเจิ้น อิงถัง อินเทลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้รับการยืนยันข้อมูลจากตัวแทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รายหนึ่ง ว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายแท็บเล็ตกับบริษัท เซินเจิ้น อิงถัง อินเทลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด จากประเทศจีนจริง แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากขั้นตอนนี้ ทาง สพฐ. เป็นฝ่ายรับผิดชอบแทนทั้งหมด มหาวิทยาลัยมีหน้าที่แค่ลงนามในสัญญาซื้อขายเท่านั้น
“การที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำสัญญากับ บ. เซินเจิ้น อิงถังฯ เนื่องจากไม่มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างเอง ต้องให้ สพฐ. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีการประกวดราคา แล้วก็มีการประมูล แบ่งเป็น 4 โซน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ในโซนที่ 1 ได้ บริษัท เซินเจิ้น อิงถังฯ ซึ่งก่อนหน้านั้น มหาวิทยาลัยฯ ได้รับแจ้งจากสำนักงบประมาณว่า ได้รับงบประมาณเพื่อจัดซื้อแท็บเล็ต 573 เครื่อง สำหรับนักเรียนชั้น ป. 1 คือโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และให้ที่วิทยาเขตที่กำแพงแสนด้วย”
แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายนี้ ยังระบุด้วยว่า นอกจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ทำสัญญาจัดซื้อกับบริษัทเซินเจิ้น อิงถังฯ แล้ว ยังมีสถาบันการศึกษาอีก 40 สถาบัน ที่ต้องทำสัญญาซื้อแท็บเล็ตกับบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลกับสพฐ.ด้วย แยกกันอยู่ใน โซน 1 โซน 2 และโซน 4 เมื่อ โดย สพฐ. มีหนังสือคำสั่งดังกล่าวผ่านมาทางหน่วยงานต้นสังกัด ก่อนจะมาถึงมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง
“ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ สพฐ.เขามีตัวอย่างสัญญาที่เขาทำส่งมาให้เราด้วยเรียบร้อย เมื่อได้มา เราก็ตรวจดูว่าสัญญาเขาตรงกับระเบียบพัสดุของเราหรือเปล่า เมื่อเรามาตรวจดูแล้ว สัญญาที่ สพฐ.ทำตรงกับระเบียบพัสดุ แล้ว เราก็เลยทำสัญญาซื้อขาย กับบริษัท เซินเจิ้น อิงถังฯ จากนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งคณะกรรมการตรวจรับคอมพิวเตอร์พกพา ( แท็บเล็ต) ขึ้น โดยสำนักการคลัง สำนักอธิการบดี เป็นผู้เสนอแต่งตั้ง” แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า สพฐ. มีกระบวนการจะฟ้องร้อง บ.เซินเจิ้น อิงถังฯที่ยกเลิกสัญญา แล้ว ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแผนจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า เซินเจิ้น อิงถังฯ ปิดกิจการในเมืองไทยไปแล้ว
“ เราไม่ทราบเลยจริงๆ เขาไม่ได้บอก เพราะ บ.เซินเจิ้น อิงถังฯเขาทำเรื่องขอขยายเวลามา แล้วเราก็ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการตรวจรับ พิจารณา เหตุผลที่เขาขอขยายเวลา เท่าที่จำได้ ในหนังสือขอขยายเวลา เขาแจ้งมาว่า เพราะบริษัทเขาไฟไหม้ หนังสือที่เขาขอยายเวลามาเราก็เสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการตรวจรับ แต่เราก็ไม่รู้เลย เรื่องที่เขายกเลิกกิจการที่เมืองไทยไป”
ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้ว ทาง สพฐ. ไม่ได้แจ้งปัญหาของ บริษัทเซินเจิ้น อิงถังฯ ให้ ม.เกษตรศาสตร์ทราบหรือ แหล่งข่าวรายนี้ ยืนยันว่า “ไม่แจ้งเลย แล้ว สพฐ.จะทำอะไรต่อเราก็ไม่รู้”
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า หนังสือที่บริษัท เซินเจ้น อิงถังฯ ขอขยายเวลามา ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ คณะกรรมการตรวจรับว่าจะยอมให้ขยายเวลาไหม มหาวิทยาลัยมีสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้เขาขยายเวลาหรือไม่ กฎหมายว่าอย่างไร ทางมหาวิทยาลัย จะยอมได้ไหม เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้บอกยกเลิกสัญญากับ บริษัทเซินเจิ้น อิงถังฯไป
“เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ของเราเหมือนกัน ว่าจะทำยังไงต่อ แต่ก็คงต้องคุยกับ สพฐ. ด้วย เพราะว่าเขาเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ เพราะการติดต่อเขาก็ยากมาก กว่าจะทำสัญญากันได้ กว่าจะติดต่อกันได้ ก็ยากมากเลย”
แหล่งข่าว กล่าวต่อไปว่าคงต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยด้วย เมื่อมีเรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ก่อนที่เรื่องจะถูกส่งไปถึงฝ่าย ฎหมาย ต้องมีการรายงานจากคณะกรรมการตรวจรับก่อนว่าบริษัทเซินเจิ้นฯ เกินกำหนดสัญญาแล้ว ยังไม่สามารถส่งมอบของได้ คณะกรรมการตรวจรับก็ต้องแจ้งให้ บริษัทส่งของและแจ้งปรับ
“ที่น่าสังเกตเรื่องนี้ ก็คือมันเหมือนกับว่า สพฐ.เขาดำเนินการจัดซื้อทั้งประเทศ คือซื้อเยอะมาก แล้วการบริหารจัดการก็ยาก ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่เท่าไหร่ เพราะเราเป็นขั้นตอนในช่วงปลายที่ทำสัญญา แต่ก็ยอมรับว่าตัวแทนบริษัทที่เราติดต่อตั้งแต่แรกเลยติดต่อยากมาก แต่อาจเป็นเพราะเขาจำเป็นต้องทำสัญญากับทุกหน่วยงานให้เสร็จภายใน4-5 วัน คือให้เสร็จสิ้นทั้งหมดภายในวันที่ 30 กันยายน 2556 เราเองก็ต้องทำสัญญาให้ทัน เพราะสพฐ. เขาจัดมาให้เราแล้ว ถ้าเราทำสัญญาไม่ทัน งบประมาณส่วนนี้ก็หลุด แต่การติดต่อ กับบ.เซินเจิ้น อิงถังฯ ไม่ค่อยสะดวกเลย แต่ในที่สุดแล้ว เขาก็มาเซ็นสัญญาทัน ในวันที่ 30 กันยายน”
แหล่งข่าวรายนี้ กล่าวยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ งบประมาณ จำนวน 1,119,137.73 บาท ที่ส่งมาให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซื้อแท็บเล็ตจำนวน 573 เครื่องนั้น ยังอยู่ครบถ้วน ยังไม่มีการจ่ายไปให้กับบ.เซินเจิ้น อิงถังฯ แต่อย่างใด และยืนยันว่าสำนักกองคลัง อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเงินค้ำประกัน มาจากบริษัทเซินเจิ้น อิงถังฯ เป็นจำนวนเงิน 55,957 บาท