วสท.ชี้ไม่ปฏิรูปรฟท. อีก 100 ปี ฝันมีรถไฟทางคู่-เร็วสูงใช้
นักวิชาการชี้พัฒนาระบบรางต้องเร่งปฏิรูปรฟท. ชี้เวลานี้เป็นโอกาสดี หากเป็นรัฐบาลปกติทำไม่ได้ แนะมองข้ามเรื่องแหล่งเงินทุนมาเป็นอันดับหนึ่ง ย้ำควรเน้นความคุ้มทุน-พัฒนาเมืองเป็นหลัก
26 มิถุนายน 2557 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ บริษัท วีเอ็น เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด จัดงานแถลงข่าวงาน “วิศวกรรม 57 วิศวกรรมสำหรับอนาคต” ณ ห้องโซเชียล โรงแรมดับเบิลยู ทั้งนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ยกเครื่องเรื่องระบบราง”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. กล่าวถึงการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของในประเทศไทยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ หากมองในเรื่องการรองรับด้านการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต แต่เมื่อพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเรามักมองเรื่องทุนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งเป็นโครงการที่มีความคุ้มทุนทางด้านเศรษฐกิจและสามารถที่จะหาแหล่งเงินทุนจากในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้
ส่วนหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบในการขยายระบบรางในอนาคตคือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น นายก วสท. กล่าวว่า การทำงานของรฟท.เองยังคงมีปัญหาทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ ย่ำอยู่กับที่ ดังนั้นการพัฒนาระบบรางจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปรฟท. เพราะหากปล่อยให้รฟท.ทำงานในระบบเดิมๆ อีก 100 ปีเราก็ยังไม่มีรถไฟทางคู่ หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูงใช้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปรฟท.จะต้องปฏิรูป 2 เรื่องด้วยกัน คือความพร้อมของบุคลากร เนื่องจากขณะนี้พนักงานส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องระบบราง และอีกเรื่องรฟท.เป็นองค์กรที่มีหนี้สิ้นมาก ฉะนั้นควรวางแผนว่าจะจัดการอย่างไร อาจจะต้องให้รฟท.ดูแต่เรื่องการก่อสร้าง ส่วนการบริหารเงินหรือหนี้ก็ให้เป็นเรื่องของอีกองค์กร
"เพราะหากรฟท.มัวแต่มาดูเรื่องการบริหารหนี้ทำอยู่แบบนี้เราคงไม่ต้องทำอะไร"นายก วสท. กล่าว และว่า การที่เราพูดเรื่องการปฏิรูประบบรางหรือการปฏิรูปรฟท.ในขณะนี้ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเกิดขึ้นได้จริง หากเป็นช่วงรัฐบาลปกติเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก ตอนนี้คสช.มีอำนาจสามารถที่จะทำได้ ก็ต้องรีบทำต้องรีบเสนอ เพราะไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบโลจิสติกของประเทศให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
ด้านดร.รัฐภูมิ ปริชาติปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและราง มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องลงทุนพัฒนาระบบรางโดยด่วน เนื่องจากระบบขนส่งไทยที่ผ่านมาด้อยประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหารถติด รวมถึงการใช้พลังงานที่เกินความจำเป็น มีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และงบซ่อมแซมถนนก็สูงถึงปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท
"การพัฒนาระบบรางเองก็ควรจะเกิดขึ้นนานแล้ว โดยที่เราทุกคนควรจะมองข้ามเรื่องเงินทุนว่า มีหรือไม่มี แต่ควรมองไปที่การพัฒนาเมืองว่า หากเราพัฒนาระบบรางได้จะเกิดการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจอย่างไร โดยจะต้องมีการให้ความรู้ในเรื่องข้อมูลกับประชาชนและทำเป็นประชามติของคนทั้งประเทศ ทั้งนี้ภาครัฐเองจะต้องหันมาดูในเรื่องกฎหมายเวนคืนที่ดิน กฎหมายร่วมทุน หน่วยงานกลางเพื่อที่จะกำกับและรองรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2557 วสท. ร่วมกับ บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด จะจัดงาน “วิศวกรรม ’57” หรือ “Engineering ‘14” งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ งานแสดงสินค้าและนิทรรศการนวัตกรรมด้านวิศวกรรมยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งปี ภายใต้แนวคิด “วิศวกรรมสำหรับอนาคต” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ยกระดับวิชาชีพ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยงานในปีนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคลทั่วไปให้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมงานมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มวิชาชีพวิศวกรรม จึงได้กำหนดแนวคิดหลักการจัดงานเป็น “วิศวกรรมสำหรับอนาคต” ซึ่งจะเป็นการรวบรวมนวัตกรรมล่าสุดด้านวิศวกรรมในสาขาต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
ทั้งนี้ภายในงานยังจะมีการจัดแสดงนิทรรศการชุดพิเศษ “บ้านอัจฉริยะ เมืองแห่งอนาคต” หรือ “Smart Home and Living” ซึ่งรวบรวมผลิตผลและผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรมล้ำสมัยยังไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ จากกลุ่มนักสร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ด้านวิศวกรรม รวมทั้งพื้นที่พิเศษสำหรับครอบครัว “ลานอัจฉริยะวิศวกรแห่งอนาคต” หรือ “Engineering Play Ground” จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ ของเล่น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความเข้าใจในวิชาชีพวิศวกรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะปรับโครงสร้างรฟท.ก่อนลงทุนรถไฟทางคู่
ทปอ.ตั้งคณะทำงานศึกษาเงินกู้ 2 ล้านล้าน เล็งยื่น 7 ข้อเสนอ ส่งถึงรัฐบาล
ความฝันกับความจริง (1) เปิดงานวิจัย กู้ 2 ล้านล้าน โอกาสสำเร็จ หรือต้องถมเงินใส่ทุกปี