นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะปรับโครงสร้างรฟท.ก่อนลงทุนรถไฟทางคู่
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ หวั่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 3 ล้านล้านของ คสช. ที่ส่วนใหญ่เน้นระบบราง รถไฟรางคู่ กลับไม่พูดถึงมิติการปรับโครงสร้างหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น รฟท. เชื่ออนาคตอาจเกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พยายามขับเคลื่อนในการพิจารณาโครงการตาม แผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2558-2565 ครอบคลุมการคมนาคมทั้งทางบก น้ำ อากาศ และระบบราง เพื่อให้เกิดการลงทุน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ยังไม่มีการอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรแหล่งเงินทุนและแผนงาน โดยที่โครงการรถไฟความเร็วสูงในรัฐบาลที่แล้วถูกแขวนไว้ในกลุ่มโครงการที่ต้องรอศึกษาเพิ่มเติมไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ประจำทีดีอาร์ไอ เปรียบเทียบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่แล้วกับโครงการ 3 ล้านล้านบาทของ คสช. โดยระบุว่า ในโครงการ 2 ล้านล้านบาทมียุทธศาสตร์ชัดเจนเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเป็นหลัก และใช้เงินกู้ ส่วนโครงการ 3 ล้านล้านบาทขยายขอบข่ายการลงทุนออกไปมากเน้นภาพรวมระบบคมนาคมขนส่งของประเทศทั้งหมด และยังคงเน้นระบบรางอยู่โดย 70-80% นำมาจากโครงการ 2 ล้านล้าน ส่วนแหล่งเงินในการลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณา
สำหรับโครงการที่ถูกนำมารวมในกรอบ 3 ล้านล้านบาทนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่โครงการใหม่ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่หนึ่ง โครงการที่เคยเสนอดำเนินการแล้วถูกชะลอไว้ ซึ่งครั้งนี้คาดว่าจะได้รับพิจารณาให้ดำเนินการต่อตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อความต่อเนื่องในการก่อสร้างและดำเนินงาน อาทิ โครงการลงทุนรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งมีทั้งโครงการที่กำลังก่อสร้างและโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการแต่รอการอนุมัติจากรัฐบาล สำหรับรถไฟทางคู่ซึ่งแต่ละเส้นทางมีความก้าวหน้าแตกต่างกัน ในครั้งนี้อาจอนุมัติได้บางส่วน เฉพาะโครงการที่พร้อมดำเนินงานแล้ว ในเส้นทางที่ยังไม่พร้อมก็อาจไม่ได้รับอนุมัติ
กลุ่มที่สอง โครงการที่เสนอดำเนินการแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ หากแก้ไขแล้วก็อาจได้รับอนุมัติในรอบนี้ ถ้ายังไม่แก้ไขก็คงไม่ได้รับอนุมัติเหมือนเดิม เช่น การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งมีปัญหาซับซ้อนมายาวนาน เพราะไม่ได้เป็นปัญหาเพียงตัวเงินอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างองค์กร (ขสมก.) ด้วย
กลุ่มที่สาม โครงการที่ยังเป็นเพียงแนวคิด ยังต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน เช่น โครงการไฟความเร็วสูง และเนื่องด้วยเป็นโครงการที่ใช้เงินค่อนข้างมาก ก็คงยังไม่มีการอนุมัติในรอบนี้
ดังนั้นความเป็นไปได้สำหรับโครงการที่พร้อมดำเนินการในปีนี้และพร้อมอนุมัติอาจจะน้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท และในรายละเอียดของแต่ละโครงการก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่หลายโครงการ ส่วนการจัดสรรแหล่งเงินเชื่อว่าในที่สุด คสช.จะสามารถอนุมัติงบหรือหาเงินมาได้ และเมื่อใช้ในโครงการเสร็จแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ จะใช้เงินคืนอย่างไร
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการดำเนินการโครงการนั้นมีกระบวนการที่ชัดเจนอยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการมากกว่า เพราะหลาย ๆ โครงการพบว่า หน่วยงานรับผิดชอบมีความไม่ชัดเจน จึงทำให้ดำเนินโครงการได้ล่าช้าหรือทำไม่ได้เลย ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาองค์กรหรือปรับโครงสร้างก่อนที่จะลงทุนทำโครงการ จึงจะทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าการลงทุน
นอกจากนี้ สำหรับการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเชิงพาณิชย์ ไม่ควรนำงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจมาใส่ไว้ในงบลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ เป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถระดมทุนเพื่อการลงทุนดำเนินธุรกิจของหน่วยงานเองได้ เช่น การบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เพื่อไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐ ไม่เป็นการสร้างระเบียบทางการเงินที่ไม่ดีให้กับรัฐวิสาหกิจ และเป็นสิ่งที่รัฐวิสาหกิจที่ดีถึงกระทำ
ปรับโครงสร้าง รฟท. ก่อนเดินต่อรถไฟทางคู่
เพื่อให้เห็นแนวทางที่ชัดเจน ผอ.วิจัยฯ ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่าง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เป็นโครงการที่มีการวางแผนและขออนุมัติเพื่อดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 และมีการพัฒนาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินงานของ รฟท. ทั้งเรื่องภาระหนี้สิน และปัญหาด้านการบริหารจัดการ
ปัญหาหนี้สินของ รฟท.เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน โดยที่ปัจจุบัน รฟท.มีหนี้สินกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งการดำเนินงานที่ขาดทุนในแต่ละปี รวมถึงภาระดอกเบี้ยของหนี้สิน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการให้บริการให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากการขาดเงินทุนในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ และการบริหารจัดการที่ไม่มีแรงจูงใจด้านการเงินทั้งในส่วนของเงินเดือนและโบนัสเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการ
ถึงแม้ว่าการลงทุนรถไฟทางคู่จะมีความสำคัญ แต่จากเหตุผลของปัญหาด้านโครงสร้างการบริหารงานและหนี้สิน การลงทุนเพียงอย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหาประสิทธิภาพการดำเนินงานของ รฟท. รวมถึงไม่ได้มีการแก้ปัญหาภาระหนี้สินและการบริหารจัดการภายในองค์กร ซึ่งการลงทุนนี้จะไม่สามารถคาดหวังถึงผลลัพท์ที่ชัดเจนได้ว่า เมื่อมีการลงทุนรถไฟทางคู่แล้ว รฟท.จะกลับมาประกอบการเดินรถอย่างมีกำไรในอนาคตได้อย่างไร การปรับโครงสร้างสาขาการขนส่งทางรถไฟ จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
สิ่งที่น่ากังวลในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางในครั้งนี้คือ การที่พิจารณาแต่มิติด้านการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่พูดถึงมิติการปรับโครงสร้างและมิติด้านประสิทธิภาพชองการดำเนินงานของระบบรถไฟในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการในอนาคต ทำให้การลงทุนที่ต้องมีการลงทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาท ไม่ได้ผลประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้นการปรับโครงสร้างสาขาการขนส่งทางรถไฟเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการ ก่อนที่จะดำเนินการลงทุนรถไฟทางคู่ เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการปรับโครงสร้างฯสามารถดำเนินการได้ตามผลการศึกษาที่ผ่านมา โดยมีขั้นตอนที่สำคัญได้แก่
1. การจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสาขาการขนส่งทางรางและกรมการรถไฟเพื่อรับผิดชอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางราง
2. การปฎิรูป รฟท.เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างฯ นั่นคือการแยกส่วนระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและการเดินรถออกจากกัน
3. การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการรถไฟเพิ่มมากขึ้น เช่น การเดินรถ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางส่วน