เปิดโครงสร้างดับไฟใต้ยุค คสช. ลุยพุดคุยสันติภาพ-ปิดช่องปกครองตนเอง
หลังผ่านการควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาเกือบ 1 เดือนเต็ม จึงเริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็น "วาระแห่งชาติ" ปัญหาหนึ่งของทุกรัฐบาลในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา
วันพุธที่ 18 มิ.ย.2557 ได้มีการประชุมระหว่างผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เพื่อหารือเรื่องกรอบโครงสร้างและการทำงานในภารกิจดับไฟใต้
ทั้งนี้ การหารือมี 2 ประเด็นหลัก กล่าวคือ
หนึ่ง โครงสร้างการบริหารจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับนโยบาย มีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ทำงานร่วมกับ สมช.
- ระดับแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ จะมีการจัดตั้ง "คณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้นมา โดยมีรองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) ที่ได้รับมอบหมาย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มี สมช.เป็นเลขานุการ เลขาธิการ ศอ.บต. และผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน. (รับผิดชอบปัญหาภาคใต้) เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
โดยองค์กรที่อยู่ในโครงสร้างระดับนี้ นอกจาก ศปป.5 กอ.รมน. และ ศอ.บต.แล้ว ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ตามกฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต. ซึ่งมีผู้แทนส่วนราชการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานเข้าร่วม
- ระดับปฏิบัติการในพื้่นที่ มี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยนำ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้า และให้ กอ.รมน.จังหวัด กองกำลังตำรวจ (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต.) กองกำลังของทหาร (หน่วยเฉพาะกิจทหารหลักและทหารพราน) รวมทั้ง ศอ.บต.ส่วนหน้า (หน่วยย่อยของ ศอ.บต. แยกรายจังหวัด) ขึ้นการบังคับบัญชากับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
สอง วางกรอบแนวทางและกลไกการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยได้มีการหารือเรื่องโครงสร้างที่รับผิดชอบกระบวนการพูดคุย เริ่มจาก
- ระดับนโยบาย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สมช.เป็นเลขานุการ
- ระดับผู้ดำเนินกระบวนการพูดคุย จะมีการดึงผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง เช่น กอ.รมน. ศอ.บต. กระทรวงกลาโฆม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
- ระดับประสานการปฏิบัติในพื้นที่
สำหรับคณะพูดคุยสันติภาพ ให้ผ่านการคัดเลือกจากนายกรัฐมนตรี และมีรูปแบบการพูดคุยทั้งปิดลับ และเปิดเผย พร้อมมีคณะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม
ขณะที่กรอบการพูดคุยจะกำหนดชัดเจน เน้นเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ แต่จะไม่มีเรื่อง "การปกครองตนเอง" ทั้งนี้หลักการของการพูดคุย ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ทำเพื่อขบวนการบีอาร์เอ็น หรือพูโล
ส่วนสถานะของรัฐบาลมาเลเซีย รัฐบาลไทยจะเชิญเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเช่นเดิม
อีกจุดหนึ่งที่มีการหารือกัน คือในส่วนของกระบวนการพูดคุย และการประสานกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ กองทัพจะเป็นผู้กำกับทิศทาง ไม่ปล่อยให้ ศอ.บต. องค์กรอิสระ นักวิชาการ หรือฝ่ายการเมืองเข้ามากำหนดทิศทางเหมือนที่ผ่านมา ระดับพื้นที่มีหน้าที่ประสานกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่ขับเคลื่อนเองโดยพลการ แม้แต่การขับเคลื่อนผ่าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ต้องสอดคล้องกับนโยบายของส่วนกลาง
สำหรับสถานะทางกฎหมายของกลไกการพูดคุย คสช.จะพิจารณาออกเป็นประกาศหรือคำสั่งเพื่อให้เห็นว่าการพูดคุยจะมีความต่อเนื่อง และเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ดี ประเด็นต่างๆ ทั้งหมดนี้จะมีการสรุปเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและ คสช.พิจารณาในขั้นสุดท้าย แต่หลักการก็คือ คสช.ให้ความสำคัญกับการพูดคุยสันติภาพ และจะพยายามแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการพูดคุยที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดผลจริงๆ แต่ก็ต้องตั้งกำแพงไม่ให้มีการเสนอเรื่อง "การปกครองตนเอง" ขึ้นมาพูดคุยหรือเป็นเงื่อนไข และให้การพูดคุยเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่อย่างแท้จริง
แหล่งข่าวจากกองทัพ เปิดเผยว่า พิมพ์เขียวในส่วนของโครงสร้างการบริหารจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าตกผลึกแล้ว และจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดตัวโครงสร้างใหม่ ในวันจันทร์ที่ 23 มิ.ย.นี้ ส่วนการออกแบบกลไกการพูดคุยสันติภาพยังต้องหารือในรายละเอียดต่อไป
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โครงสร้างการบริหารจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุค คสช.
ขอบคุณ : ทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เอื้อเฟื้อภาพโครงสร้าง
อ่านประกอบ :
1 จับตาดับไฟใต้ยุค "คืนความสุข" ชงฟื้นโครงสร้าง "แม่ทัพ4คุมเบ็ดเสร็จ"
http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/30161-ncpo_30161.html
2 อนาคตพูดคุยสันติภาพ (2) จับตา กอ.รมน. ผงาดหลังทหารยึดอำนาจ-เด้ง"ทวี"
http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/29753-isoc_29753.html
3 อนาคตพูดคุยสันติภาพ (1) เจรจาแบบไหนที่เป็นสไตล์ "ถวิล เปลี่ยนศรี"
http://www.isranews.org/south-news/special-talk/item/29317-future.html