จับตาดับไฟใต้ยุค "คืนความสุข" ชงฟื้นโครงสร้าง "แม่ทัพ4คุมเบ็ดเสร็จ"
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาหนึ่งในไม่กี่ปัญหาของประเทศนี้ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยหรือวางโรดแมพกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นเรื่องเป็นราวเลย
สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ "ไฟใต้" เป็นปัญหาเชิงความมั่นคงซึ่งเป็นงานหลักของทหาร ตำรวจ และหน่วยงานด้านความมั่นคงอยู่แล้วก็เป็นได้
แต่แม้จะไม่ถูกเอ่ยถึงในระดับ คสช. ทว่าในระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากนับตั้งแต่ช่วงหลังการยึดอำนาจเป็นต้นมา ได้มีการประชุมหารือกันมาแล้ว 1-2 รอบ ทั้งนี้ไม่นับรวมการหารือที่มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเจ้าภาพ ในเรื่องการทบทวนปรับปรุงนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งกำลังจะหมดอายุในปีงบประมาณนี้ และไม่รวมประเด็นการทบทวนรูปแบบการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่ง สมช.เป็นแม่งานรับฟังความคิดเห็นเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในห้วงนี้ คือ การเสนอปรับโครงสร้างหน่วยงานและการบริหารจัดการใหม่ในภารกิจดับไฟใต้!
ก่อนจะไปถึงข้อเสนอเรื่องปรับโครงสร้าง ต้องย้อนกลับมาดูก่อนว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งใช้มาในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีรูปแบบอย่างไร...
โครงสร้างที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ บูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน ภายใต้การกำกับของ ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต. ซึ่งโครงสร้างนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2555
ส่วนในระดับพื้นที่ยังคงรูปแบบการบริหารจัดการแยกเป็น 2 แท่ง คือ
แท่งที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ขึ้นตรงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้า รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง การรักษาความปลอดภัย สร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ และภารกิจการใช้กำลัง (ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม)
แท่งที่ 2 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นหัวหน้า รับผิดชอบงานด้านการพัฒนา อำนวยความยุติธรรม และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง
ทั้งนี้ กอ.รมน.มีขอบเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ขณะที่ ศอ.บต.มีขอบเขตอำนาจตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับนี้กำหนดให้ทั้งสองหน่วยงานมีสถานะเท่าเทียมกัน เพราะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) โดยตำแหน่งเช่นเดียวกัน ทั้ง ผอ.รมน. และ ผอ.ศอ.บต.
โครงสร้างในระดับพื้นที่ดังกล่าวนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2553 ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแยกงานด้านความมั่นคงกับการพัฒนาออกจากกัน โดยงานความมั่นคงให้ กอ.รมน.รับผิดชอบ ส่วนงานด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม มอบหมายให้ ศอ.บต.รับผิดชอบ
อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงมองว่าโครงสร้าง "เดินสองขา" ดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพ เพราะ ศอ.บต.กลายเป็นองค์กรที่มี "แท่งการบริหาร" คู่กับ กอ.รมน.แต่รับผิดชอบภารกิจคนละด้าน หากไม่ประสานงานกันให้ดี การทำงานอาจส่งผลขัดแย้งกันเองได้ จึงมีการปรับเปลี่ยนโดยตั้งกลไกใหม่ คือ ศปก.กปต. ขึ้นมาขับเคลื่อนงานในส่วนกลาง เพื่อบูรณาการตั้งแต่ต้นทาง แก้ปัญหาความไม่มีเอกภาพที่ปลายทาง (ในระดับพื้นที่)
แต่ถึงกระนั้น ดูเหมือนปัญหาจะไม่ได้ถูกแก้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายการเมืองเองด้วยที่ไม่มีความต่อเนื่องในการทำงาน โดยในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้วางตัวรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงให้ทำหน้าที่ ผอ.ศปก.กปต. แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงตัวจริง จึงมีการเปลี่ยนตัว ผอ.ศปก.กปต.หลายครั้งจนต่องานกันไม่ติด
ล่าสุดเมื่อมีการรัฐประหาร และมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนภาคใต้ จึงได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดคุยกันอีกครั้ง และหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยจึงถือโอกาสเสนอ "โครงสร้างใหม่" เพื่อแก้ปัญหาความไม่มีเอกภาพให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
"โครงสร้างใหม่" ที่ว่านี้ คือการมอบอำนาจให้ "แม่ทัพภาคที่ 4" ในฐานะ "ผอ.รมน.ภาค 4" เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในระดับพื้นที่ และเป็นผู้กำกับดูแลการทำงานของ ศอ.บต.ด้วย เท่ากับเป็นการล้มโครงสร้าง "เดินสองขา" ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
จริงๆ ช่วงต้นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือน ต.ค.2554 กอ.รมน.ก็เคยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) เรื่องนี้มาแล้ว ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดับไฟใต้ทุกหน่วยมาระดมสมอง บทสรุปที่ได้จากการเวิร์คชอป คือ โครงสร้างใหม่ดับไฟใต้ เสนอให้มี "บอร์ด 2 ชั้น" คือ บอร์ดระดับนโยบาย ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน กับบอร์ดระดับพื้นที่ ชื่อว่า คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต.มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน
ในโครงสร้าง กบชต. ให้ย่อส่วน ศอ.บต.เป็น "ศอ.บต.ส่วนแยก" ขึ้นตรงกับ กบชต. (โดยนัยคือ กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน ส่วนเลขาธิการ ศอ.บต. (ข้าราชการระดับ 11) ให้นั่งทำงานอยู่ในส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ลักลั่นในการบริหารงาน เนื่องจากแม่ทัพภาคที่ 4 หากเทียบกับข้าราชการพลเรือน อาจเทียบเคียงได้กับระดับ 10 เท่านั้น
อย่างไรก็ดี โครงสร้างดังกล่าวนี้ไม่สามารถแปรเป็นรูปธรรมได้ แม้จะมีการยกร่างคำสั่งเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ก็มิได้ลงนาม เพราะเกรงขัดต่อกฎหมาย ศอ.บต. หรือ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่กำหนดให้งานความมั่นคงกับงานพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน่วยงานรับผิดชอบแยกส่วนกันชัดเจน
สุดท้ายรัฐบาลและ กอ.รมน.จึงเลี่ยงไปใช้โครงสร้าง ศปก.กปต. คือ บูรณาการตั้งแต่ "ต้นน้ำ-กลางน้ำ" เพื่อหวังให้ "ปลายน้ำ" เป็นเอกภาพแทน แต่ก็ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก
ฉะนั้นจึงน่าจับตาว่าการรื้อโครงสร้างดับไฟใต้ใหม่ในยุค คสช.ที่หลายคนเรียกว่า "คืนความสุขให้คนในชาติ" ด้วยการให้ "แม่ทัพภาค 4 " คุมเบ็ดเสร็จ ซึ่งเคยใช้มาแล้วในยุครัฐบาลขิงแก่ ก่อนมี พ.ร.บ.ศอ.บต.นั้น จะประสบผลสำเร็จเพียงใด เพราะในวงประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังเถียงกันไม่จบ
แต่งานนี้ได้ยินแว่วๆ ว่าหน่วยที่รับผิดชอบโดยตรงแสดงท่าที "เอาแน่" แม้จะติดปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม เพราะมีการเตรียมการให้ใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หักดิบกันเลยทีเดียว!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แม่ทัพภาคที่ 4 (นั่งกลาง) ขณะลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตำรวจ
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า