หม่อมอุ๋ย ฉะคลังสั่ง ‘เล่นเกม’ เชื่อไร้หนทางกู้เงินอุ้มจำนำข้าว
นิพนธ์ ชี้ ครม.รักษาการณ์ไม่มีอำนาจเพิ่มกรอบวงเงิน-ขอกู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านไม่ใช่นโยบายต่อเนื่องตาม 'โต้ง' อ้าง ด้านหม่อมอุ๋ย มองเป็นการสั่ง 'เล่นเกม' สบน.ไม่น่าหาแหล่งกู้เพิ่มได้
ภายหลังที่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2557 ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะครั้งที่ 1/2557 โดยลดปริมาณการก่อหนี้ลง 5,000 ล้านบาท และมีมติให้กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 อีก 1.3 แสนล้านบาท อีกทั้ง ได้สั่งให้ ธ.ก.ส.นำเงินฝากในระบบจำนวน 55,000 ล้านบาท สำรองเพื่อนำไปจ่ายหนี้ชาวนาก่อนนั้น
ทั้งนี้ รักษาการ รมว.คลัง ระบุด้วยว่า วงเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท อยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ จึงไม่ขัดหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการเลือกตั้ง และถือเป็นนโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจาก ครม.มาแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2556
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าว โดยมองว่าเป็นการสั่ง 'เล่นเกม' ไปก่อนของรัฐบาลรักษาการ ในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้ เพราะเคยมีคำสั่งให้ สบน.หาเงินกู้มาเป็นเวลาหลายเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่สามารถได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกู้ หรือออกค้ำประกันตอนนี้ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า แหล่งเพดานหนี้ทางกฎหมายก็ติดขอบมานานแล้ว ไม่สามารถทำได้ หากจะกู้ก็ไม่รู้ว่าจะใช้เพดานไหน หรือจะปรับอย่างไรได้อีก
ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. และ ป.ป.ช. เรื่องการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทเพื่อโปะการรับจำนำข้าวว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ และครม.รักษาการ ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเพิ่ม กรอบวงเงินสำหรับการจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 เพราะรัฐบาลได้ยุบสภาไปก่อนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2557
"เมื่อไม่มีกรอบวงเงินใหม่ กระทรวงการคลังย่อมไม่สามารถจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส.อีก 1.3 แสนล้านบาท หาก ธ.ก.ส.ดำเนินการกู้เงินจำนวนนี้ก็ผิดกฎหมาย และการขอกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1.3 แสนล้านบาทจึงไม่ใช่นโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจาก ครม.ตามที่รักษาการ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ เพราะมติ ครม.เมื่อ 3 ก.ย. 2556 ยังยืนยันตามความเห็นของกระทรวงการคลังว่า กระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้เพื่อใช้แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาลจำนวนไม่เกิน 270,000 ล้านบาท โดยอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 410,000 ล้านบาทที่ ครม.อนุมัติไปแล้วดังกล่าว"
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการกู้เงินเพิ่มเติม 1.3 แสนล้านบาทเพิ่มเติมด้วยว่า ยังมีปัญหาเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณรายจ่าย เมื่อครม.มีมิติให้กระทรวงพาณิชย์รับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท เมื่อ 3 ก.ย. 2556 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 ได้ผ่านรัฐสภาไปแล้วนั่นหมายความว่า รัฐบาลได้มีโครงการเงินกู้ต่างๆ ที่ต้องอาศัยการค้ำประกันเงินกู้ 'เต็มเพดาน' แล้ว หากรัฐบาลต้องการให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้รับจำนำข้าว รัฐบาลก็ต้องตัดลดงบประมาณการกู้ยืมของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ลง
"รัฐบาลกลับเป็นพวกศรีธนชัยเสนอความคิดให้ ธ.ก.ส.กู้เงินเพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในปี พ.ศ. 2557-2560 จำนวน 130,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเ ป็นการกู้แบบ "refinance" หรือ "roll-over" แต่แทนที่จะนำเงินกู้ก้อนนี้ไปไถ่ถอนหนี้เก่า กลับเสนอให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปจ่ายให้ชาวนาที่นำข้าวมาขายให้รัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับเงิน แล้วรอให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวให้ได้ก่อน จึงค่อยนำเงินมาชำระหนี้ วิธีนี้จะทำให้รัฐบาลไม่เสียฐานเสียงชาวนา ซึ่งเป็นวิธีการ เลี่ยงข้อจำกัดของเพดานการกู้เงิน และการค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 'นิพนธ์ พัวพงศกร' ยันคลัง-ครม.รักษาการ ไม่มีอำนาจเพิ่ม กรอบวงเงินจำนำข้าว