- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง
- 'นิพนธ์ พัวพงศกร' ยันคลัง-ครม.รักษาการ ไม่มีอำนาจเพิ่ม กรอบวงเงินจำนำข้าว
'นิพนธ์ พัวพงศกร' ยันคลัง-ครม.รักษาการ ไม่มีอำนาจเพิ่ม กรอบวงเงินจำนำข้าว
หมายเหตุ:ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง กกต.- ป.ป.ช. เรื่องการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทเพื่อโปะการรับจำนำข้าว
--------------
ไทยพับบลิก้า รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ ได้ทบทวนแผนการกู้เงินของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2557 และได้พิจารณากรอบวงเงินรวมที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 มีวงเงินไม่เกิน 270,000 ล้านบาท แหล่งเงินที่จะใช้มาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ กระทรวงคลังจะจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้ธกส. 130,000 ล้านบาท และเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ รักษาการรมว.กระทรวงการคลังกล่าวว่า หลังจากนำมติของคณะกรรมการฯรายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเริ่มดำเนินการกู้เงินจำนวน 130,000 ล้านบาทให้ธกส.ทันที เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้นำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 1 ปี 2556/57 แต่ยังไม่ได้รับเงินกว่า 1 แสนล้านบาท รักษาการรมว.คลังให้สัมภาษณ์ว่าวงเงินกู้ 130,000 ล้านบาทนี้อยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ จึงไม่ขัดหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการเลือกตั้ง เพราะ ถือเป็นนโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจากครม.มาแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556
ประเด็นสำคัญ คือ วงเงินกู้จำนวน 130,000 ล้านบาทนี้ถือเป็นนโยบายต่อเนื่องหรือไม่
ผู้อำนวยการสบน.กล่าวว่ากรอบวงเงินการจำนำข้าวปี 2556/57 จำนวน 270,000 ล้านบาทถือเป็นกรอบวงเงินใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรอบวงเงินเดิม 500,000 ล้านบาทที่ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556
มติ ครม. เมื่อ 3 กันยายน 2556 อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาทจริง และให้กระทรวงพาณิชย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคม
ความเห็นของกระทรวงการคลังที่ส่งให้กับครม.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 คือ วงเงินสำหรับดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 (จำนวน 270,000 ล้านบาท) จะต้องอยู่ภายใต้กรอบสินเชื่อ 410,000 ล้านบาท และเงินทุนธกส. 90,000 ล้านบาท ตามที่ครม.ได้มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556
ก่อนที่จะยุบสภา ครม. ยังไม่เคยมีมติเพิ่มกรอบวงเงินสำหรับการจำนำข้าวปี การผลิต 2556/57 ถ้าอย่างนั้นกรอบวงเงินจำนำข้าวปี 2556/57 ก็ยังต้องคงอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท ตามที่ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556
คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะและครม.รักษาการ ไม่มีอำนาจใดๆที่จะเพิ่ม กรอบวงเงินสำหรับการจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 เพราะรัฐบาลได้ยุบสภาไปก่อนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557
เมื่อไม่มีกรอบวงเงินใหม่ กระทรวงการคลังย่อมไม่สามารถจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธกส. อีก 130,000 ล้านบาท หากธกส.ดำเนินการกู้เงินจำนวนนี้ก็ผิดกฎหมาย
การขอกู้เงินเพิ่มเติมอีก 130,000 ล้านบาทจึงไม่ใช่นโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจากครม. ตามที่รักษาการรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ เพราะมติครม. เมื่อ 3 กันยายน 2556 ยังยืนยันตามความเห็นของกระทรวงการคลังว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้เพื่อใช้แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาลจำนวนไม่เกิน 270,000 ล้านบาท โดยอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 410,000 ล้านบาทที่ครม.อนุมัติไปแล้วดังกล่าว
ปัญหาประการที่สองของการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 130,000 ล้านบาท คือ ปัญหาเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณรายจ่าย เมื่อครม.มีมิติให้กระทรวงพาณิชย์รับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท เมื่อ 3 กันยายน 2556 พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 ได้ผ่านรัฐสภาไปแล้วนั่นหมายความว่ารัฐบาลได้มีโครงการเงินกู้ต่างๆที่ต้องอาศัยการค้ำประกันเงินกู้เต็มเพดานแล้ว หากรัฐบาลต้องการให้ ธกส. กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้รับจำนำข้าว รัฐบาลก็ต้องตัดลดงบประมาณการกู้ยืมของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆลง
กระทรวงการคลังทราบข้อจำกัดนี้ดี และแม้จะสมมติว่าวันนี้ยังไม่ได้ยุบสภา และครม.มีมติเพิ่มกรอบวงเงินกู้สำหรับโครงการจำนำข้าวปี 2556/57 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระทรวงคลังก็จะยังไม่สามารถค้ำประกันเพื่อให้ ธกส. กู้เงินเพิ่มขึ้น เพราะยังติดเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามพรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2556/57 ดังกล่าวแล้ว
ดังนั้น จึงมีพวกศรีธนชัยเสนอความคิดให้ธกส.กู้เงินเพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในปีพ.ศ. 2557-2560 จำนวน 130,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเ ป็นการกู้แบบ “refinance” หรือ “roll-over” แต่แทนที่จะนำเงินกู้ก้อนนี้ไปไถ่ถอนหนี้เก่า พวกศรีธนชัยกลับเสนอให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปจ่ายให้ชาวนาที่นำข้าวมาขายให้รัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับเงิน แล้วรอให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวให้ได้ก่อน จึงค่อยนำเงินมาชำระหนี้ วิธีนี้จะทำให้รัฐบาลไม่เสียฐานเสียงชาวนา
วิธีนี้เป็นการเลี่ยงข้อจำกัดของเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ หากผู้บริหารสถาบันการเงินและกระทรวงการคลังยอมก้มหัวรับใช้นักการเมือง โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์การเงินการคลัง ผลร้ายที่จะตามมาคือ การล่มสลายของธกส. ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่มีที่พึ่งทางการเงินอีกต่อไป
ถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริง ก็แสดงว่าแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ยังกล้าที่จะแหกกฎกติกาต่างๆ
รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมที่จะกำหนดนโยบายประชานิยม แม้จะเป็นประชานิยมสุดโต่งก็ตาม แต่การที่ประชาชนเลือกท่านมาบริหารประเทศ มิได้หมายความว่าประชาชนได้ให้อำนาจท่านทำทุกอย่างตามอำเภอใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายกฎกติกาด้านการเงินการคลัง และการบริหารประเทศแบบขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจในระบบประชาธิปไตย
ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะรับฟังความเห็นของผม ผมจึงเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ กกต. และปปช. โดยหวังว่าท่านจะสามารถป้องกันมิให้นักการเมืองบางคนทำลายกฎเกณฑ์การเงินการคลังของประเทศ
ที่มา:http://tdri.or.th