ย้อนรำลึก ‘มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’ นักต่อสู้หญิงเพื่อคนจน
6 ธันวาคม 2556 เป็นวันครบรอบการจากไป 6 ปี ของนักต่อสู้หญิงเพื่อชุมชน 'มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์'ในฐานะที่เธอเป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดสมัชชาคนจนต่อรองกับอำนาจรัฐ เพื่อเป็นการระลึกจึงได้รับการคัดเป็น 1 ใน 12 คน สยามปูชนียบุคคลเเห่งสันติประชาธรรม
แม้ ‘มด’ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักต่อสู้เพื่อประชาชน จะจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมนานกว่า 6 ปีเต็ม กับวัยเพียง 52 ปี แต่พลังของผู้หญิงคนนี้ที่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนจนกล้าที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิจากสังคมในการจัดการฐานทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง ดังเช่น กรณีเขื่อนปากมูล ภายใต้ ‘กลุ่มสมัชชาคนจน’ และอีกหลายโครงการ ยังคงอยู่ในใจของใครหลายคนอย่างมิเสื่อมคลาย
ด้วยความดีงามที่เธอได้สร้างไว้ ทำให้ ‘ป๋วย เสวนาคาร’ เลือกเป็น 1 ใน 12 คน สยามปูชนียบุคคลแห่งสันติประชาธรรม พร้อมจัดเสวนา ‘สืบสานปณิธานหิ่งห้อย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’ ขึ้น ณ ป๋วย เสวนาคาร โรงเรียนวัดปทุมคงคา โดยมี ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นักสิทธิมนุษยชน ผู้เป็นน้องสาว ร่วมย้อนรำลึก
ดร.ลัดดาวัลย์ บอกเล่าถึงสิ่งที่ผู้เป็นพี่สาวทำมานั้น มิได้คาดหวังอะไร นอกเสียจากมุ่งทำด้วยใจที่เห็นความไม่เป็นธรรม และคิดว่า เมื่อได้มีบทบาททำแล้วก็น่าจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้บ้าง จนทำให้สิ่งที่ทำนั้นได้รับการยอมรับจากสังคมเรื่อยมา แม้จะจากโลกนี้ไปกว่า 6 ปีแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกิดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยขึ้น หลายคนตั้งคำถามว่า ถ้าวันนี้นักต่อสู้เพื่อประชาชนคนนี้ ยังมีชีวิตอยู่ เธอจะทำอย่างไร
ผู้เป็นน้องสาว เชื่อว่า พี่สาวคงจะไปเข้าร่วมการชุมนุมด้วยจิตใจที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง "ต้องเข้าใจว่า พี่มดใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนยากคนจนมาตลอด แม้กระทั่งในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) แต่ช่วงนั้นมิได้เห็นด้วยกับเสื้อเหลืองทั้งหมด แต่เพราะเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นจริงในสังคม ดังนั้นจึงเชื่อว่า พี่มดจะพยายามยึดทุกพื้นที่ที่ให้โอกาสคนจนส่วนใหญ่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นของประชาชน"
ดร.ลัดดาวัลย์ ยังเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของการชุมนุม 99 วัน สมัชชาคนจน กับกลุ่มขับไล่ระบอบทักษิณว่า สมัยก่อนจะเหน็ดเหนื่อยจริง แต่ปัจจุบันค่อนข้างสนุกมากกว่า ซึ่งหากถามว่า สิ่งที่ทำมีอิทธิพลหรือไม่ ขอตอบว่ามีส่วนอยู่บ้าง เพราะการชุมนุมทุกอย่างต้องใช้เวลาและต่อเนื่อง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมชั่วครู่ชั่วยามไม่ตอบโจทย์ แต่ความจริงต้องใช้เวลาและความอดทน รัฐบาลจะได้เล็งเห็นถึงปัญหาว่ามีอยู่จริง
ประชาธิปไตยต้องชอบธรรม-ตรวจสอบได้-เคารพเสียงข้างน้อย
ด้าน ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึงความรู้สึกเสียดายที่หญิงแกร่งผู้นี้ต้องจบชีวิตลงเสียก่อน มิเช่นนั้น ประเทศไทยคงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ เพราะในสมัยระบอบเผด็จการเธอสามารถจะคุยกับคน 1 คน คน 2 คน หรือ คน 3 คน ให้ตื่นได้โดยไม่ต้องทำตัวเป็นแกนนำ แต่เธอจะทำตัวเป็นลูกหลาน จนสามารถสร้างสมัชชาคนจนขึ้นมาได้ โดยที่ไม่เคยอ้างว่า เธอเป็นผู้สร้างองค์กรนี้ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่า หากไม่มี วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สมัชชาคนจนคงไม่เกิดขึ้น
ที่สำคัญ คนจนทั้งหมดรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ นับว่าสิ่งนี้สำคัญมากสำหรับการเป็นผู้นำที่ดี คือ ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ
“มดเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงให้คนอย่างผมมารับใช้คนเล็กคนน้อย ซึ่งผมไม่มีทางรู้จักคนเล็กคนน้อยได้ และเวลาที่ผมเดือดร้อนก็มีเหล่าสมัชชาคนจนคอยช่วยเหลือ นั่นแสดงว่ามดไม่มีพรมแดน ไม่มีความเป็นชาตินิยม แต่มีความเป็นมนุษยนิยม ความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ ซึ่งคนอย่างมดถือเป็นคนที่วิเศษที่สุดในสังคมที่คนไทยยังมองไม่เห็น” ส.ศิวรักษ์ กล่าว และยกตัวอย่างถ้านายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีมดคอยช่วยเหลือ ท่านก็ไม่มีทางจะเข้าถึงคนจนได้เลย แต่ที่สามารถเข้าถึงสมัชชาคนจนได้ด้วยเพราะมีมดเป็นแกนกลางประสาน
ส.ศิวรักษ์ มีมุมมองของการต่อสู้ของ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่สู้ในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องและสามารถทำให้ชาวบ้านทั้งหมดพร้อมใจสู้ โดยไม่จำเป็นต้องชนะ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก การต่อสู้ไม่จำเป็นต้องชนะเสมอไป เพราะไม่มีการต่อสู้ใด ๆ ที่ชนะจริง ๆ นอกเสียจากการตรัสรู้เท่านั้น ดังนั้นเธอจึงเลือกที่จะสู้ในสิ่งที่ถูกต้องนั่นเอง นอกจากนี้ยังรู้จักรับใช้และโน้มน้าวใจคน แม้จะโดนโจมตีก็ตาม
“สมัยพุทธกาล ถ้าคนโจมตีเราผิด เราต้องสงสารมัน แต่ถ้าโจมตีเราถูก จะต้องนำคำนั้นมาแก้ไข”
ส.ศิวรักษ์ ยังกล่าวถึงผลงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการคัดค้านสร้างเขื่อนว่า ความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำไม่ได้ ขนาดญี่ปุ่นที่สามารถพัฒนาชนะฝรั่งทุกเรื่อง ยังได้รับอันตรายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเลย ดังนั้นหากมีการนับถือฝรั่งโดยไม่เข้าใจพื้นฐานของฝรั่งจะอันตรายมาก
“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงเตือนว่ากาลภายหน้าศึกสงครามข้างเขมร ลาว พม่า ไม่น่าห่วง แต่ที่น่าห่วง คือ ฝรั่ง จึงจะต้องรู้จักเท่าทันฝรั่ง อย่านับถือเสียทีเดียว แม้หลายอย่างฝรั่งจะมีจุดเด่น”
เมื่อถามว่า ‘เธอ’ เคยขอปรึกษาถึงแนวทางช่วยเหลือคนจนหรือไม่ ส.ศิวรักษ์ ตอบทันทีว่า "มดจะปรึกษาคนที่อยู่ในกลุ่มสมัชชาคนจนมากกว่า ผมเป็นเพียงลิ่วล้อเท่านั้น เธอใช้ผมและผมยินดีรับใช้ แม้ผมจะอายุมากกว่า แต่ผมก็พร้อมที่จะเรียนจากมดเสมอ และเธอก็พร้อมเรียนจากยายไฮ มนุษย์เราต้องเดินหันหลังกลับโดยให้คนอายุมากหัดเรียนจากคนเล็กคนน้อยบ้าง"
ส.ศิวรักษ์ ยังระบุถึงสถานการณ์ชุมนุมปัจจุบันว่า ได้นั่งชมรายการโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส มีนักวิชาการสองท่านออกมาให้ความเห็น ฝ่ายหนึ่งบอกยึดถือในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องมาจากการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับไม่ได้กับรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม จึงสนับสนุนการตั้งสภาประชาชนขึ้น แต่ไม่เคยนึกถึงเลยว่าควรผลักดันให้ผู้แทนสมัชชาคนจนหรือองค์กรชุมชนเข้าร่วมด้วย ทั้งที่มีบุคคลเหล่านี้อยู่แล้ว
“ไทยเลียนแบบระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้งจากฝรั่ง โดยให้เสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ ทั้งที่พื้นฐานของระบอบนี้จะต้องมีธรรมะ นั่นหมายถึง ความชอบธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ ตรวจสอบได้ และเคารพเสียงข้างน้อย ซึ่งหากผิดแปลกจากนี้ไปถือเป็นระบอบประชาธิปไตยปลอม” ส.ศิวรักษ์ กล่าว และว่าสมัยนายปรีดี พนมยงค์ นำระบอบการปกครองนี้เข้ามาในไทยเมื่อพ.ศ.2475 ต้องยอมรับว่ากระท่อนกระแท่น แต่คณะราษฎรในเวลานั้นรักบ้านรักเมืองมาก โกงกินน้อย ที่สำคัญ ต้องชมผู้แทนราษฎรที่ถูกเลือกเข้ามาเป็นคนดีมีคุณภาพ แม้จะเลือกตั้งผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน อีกทั้งยังสามารถนำระบอบเผด็จการออกไปได้โดยวิธีการของรัฐสภา เห็นชัดจากการแพ้โหวตย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ นั่นเอง จึงถือได้ว่าพื้นภูมิเดิมเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยไทยนับว่าใช้ได้ทีเดียว
สมัชชาคนจนต้นกำเนิดการเมืองภาคปชช.แท้จริง
ขณะที่ผศ.ดร.ประภาส สะท้อนหลักการทำงานของนักต่อสู้เพื่อประชาชน ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านโดยคำนึงถึงปัญหาปากท้องเป็นสำคัญ
พร้อมยกตัวอย่างเวลามีการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนปากมูล มักจะชูประเด็นชาวบ้านหาปลาไม่ได้ หรือยังไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งเธอไม่เคยหลุดจากหลักการเหล่านี้ ดังนั้นจึงพูดได้เต็มปากว่าสมัชชาคนจนเกิดมาจาก วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ทำให้กลายเป็นที่มาของการเมืองภาคประชาชน สามารถถ่ายโอนอำนาจกับตัวแทนนักการเมืองได้ เพราะได้เกิดปัญหาการใช้อำนาจรัฐจากโครงการขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม
“เธอทำงานเล็ก ๆน้อย ๆ และทำงานแบบเสมอหน้า ไม่ใช่ทำแบบมวลมหาประชาชนที่ใช้ชาวบ้าน แต่เน้นการปลดปล่อยตนเองออกจากอำนาจ เกิดจิตสำนึกให้คนจนเสมอหน้ากับคนมีอำนาจได้ การทำงานในระหว่างที่เกิดกระบวนการสมัชชาคนจนจึงเหนียวแน่นมากตลอด 20 ปี” ผศ.ดร.ประภาส ถ่ายทอดมุมมอง และเล่าว่า การเดินขบวนชุมนุม 99 วันของสมัชชาคนจนในอดีตนั้นเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากเหนื่อย เพราะไม่มีเต็นท์ จะต้องเอากระสอบปุ๋ยมาเย็บต่อกัน ฝนตกก็ต้องนั่งกอดกระสอบข้าว ทำให้การเดินขบวนชุมนุมของคนจนไม่มีใครอยากเดิน แต่สิ่งที่แตกต่างจากปัจจุบันคือการสร้างพื้นที่เชิงสถาบัน ซึ่งการเดินขบวนถือเป็นทรัพยากรอย่างเดียวที่ชาวบ้านมีด้วยการเอาความทุกข์ยากมาแลก มิใช่ไปเช้าเย็นกลับ
สำหรับประเด็นหลายฝ่ายมองว่า สมัชชาคนจนเริ่มถดถอยนั้น ผศ.ดร.ประภาส ชี้ว่า โดยส่วนตัวมองไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่มีการขยายเครือข่ายออกไปมากกว่า เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เครือข่ายสลัม 4 ภาค แต่อาจจะถูกภาพของการเมืองกลบไป เลยถูกลดบทบาทความสำคัญลงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การขยายออกไปของสมัชชาคนจนกลับสร้างความเข้มแข็งให้คนจนแต่ละท้องที่มากขึ้นอีก .
......................................................................................................
ล้อมกรอบ
12 สยามปูชนียบุคคล เเห่งสันติประชาธรรม
1.พระโพธิญาณเถร
2.นรินทร์ (กลึง) ภาษิต
3.ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
4.หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
5.อารมณ์ พงศ์พงัน
6.พระยาพหลพลพยุหเสนา
7.นพ.เสม พริ้งพวงเเก้ว
8.จำกัด พลางกูร
9.หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล
10.เฟื้อ หริพิทักษ์
11.ศ.ดิเรก ชัยนาม
12.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
อ่านข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง:ย้อนปัญหาแรงงานไทย จากเสี้ยวมุมชีวิต ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’
‘ส.ศิวรักษ์’ฉายภาพอดีต‘ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล’ ต้นตำรับอาหารชาววังในแผ่นดินรัชกาลที่ 5
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ท้องถิ่นสนทนา