- Home
- Community
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน
- ย้อนปัญหาแรงงานไทย จากเสี้ยวมุมชีวิต ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’
ย้อนปัญหาแรงงานไทย จากเสี้ยวมุมชีวิต ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’
“ถ้าหนูคิดถึงพ่อ
จงคิดถึง คนยากคนจน
เขาเหล่านั้น เป็นชีวิตของพ่อ
ถ้าอยากกอดพ่อ
จงกางแขนของหนูออก
โอบอุ้มคนยากคนจนเอาไว้
ประชาชนผู้ทุกข์ทรมานเหล่านั้น”
ท่อนหนึ่งจากบทกลอนเปล่าเรื่อง ‘คือ...พ่อ’ ของอดีตผู้นำกรรมกรไทยอย่าง ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’ ชาวเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ที่เขียนถึงลูกจากห้องขัง ภายหลังเป็น 1 ใน 18 จำเลยคดี 6 ตุลาคม 2519 ถูกอ่านขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของเขาผู้นี้ ในวงเสวนา ‘ปัญหาแรงงานไทย:มองจากชีวิตและแนวคิดของอารมณ์ พงศ์พงัน’ ณ ป๋วยเสวนาคาร โรงเรียนวัดปทุมคงคา
‘อารมณ์’ ถือเป็นผู้นำสหภาพแรงงานการประปานครหลวงที่โดดเด่น นอกจากนี้เขายังเป็นทั้งนักคิด นักเขียน มีผลงานตีพิมพ์มากมาย ที่สำคัญเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รักความยุติธรรม และยึดมั่นในการต่อสู้คัดค้านเผด็จการที่กำลังลุกลามในสังคม ที่สำคัญได้รับเลือกให้เป็น รองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย
หากแม้นชีวิตของผู้ชายแห่งเมืองคนดีผู้นี้ช่างแสนสั้นนัก ภายหลังตกเป็นจำเลยในคดีทางการเมือง โดยถูกสั่งจำคุก 2 ปี ก่อนได้รับการนิรโทษกรรม และในเวลาต่อมาเขาก็ล้มป่วยด้วยโรคร้ายและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ด้วยวัยเพียง 34 ปี
สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะคณะทำงานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ย้อนรำลึกให้ฟังว่า แม้ตนเองไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับคุณอารมณ์ แต่หากเรามองดูเหตุการณ์ในอดีตจะเห็นว่าช่วงปี 2513 คุณอารมณ์เป็นประธานนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคโคราช ประจวบกับได้เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้เป็นยุคที่ทุกคนเห็นปัญหา ซึ่งจุดที่น่าสนใจ คือ คุณอารมณ์ได้เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาครั้งนี้ด้วย
กระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้เกิดกระแสการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานกรรมกรขึ้น โดยเฉพาะการประปานครหลวง เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการที่มีมายาวนาน ทั้งนี้ ความจริงแล้วการต่อสู้ของกรรมกรเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคต้นปี 2500 ซึ่งคุณอารมณ์อยู่ในกระแสบ้าง แต่ไม่ได้โดดเด่นมากนัก
“จุดโดดเด่นของคุณอารมณ์จริง ๆ น่าจะอยู่ที่การต่อสู้ของสหภาพการประปานครหลวง ซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทของชาวสหภาพรัฐวิสาหกิจที่มีพลัง และขับเคลื่อนต่อไปในนามกลุ่มสภาแรงงานแห่งประเทศไทย” รองประธานคปก. กล่าว และว่าหากวิเคราะห์บทบาทของคุณอารมณ์ให้ดี สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ผลงานเขียน โดยแกนนำคนอื่นอาจจะต่อสู้มาเยอะ แต่ไม่ได้เขียนบันทึกไว้ ผิดกับเขาที่เป็นนักเขียนบันทึกไว้ในคนรุ่นหลังได้ศึกษา
สุนี ขยายความต่อว่า การต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรยุคนั้นถือเป็นการต่อสู้ที่มีกระแสสูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็ถูกปราบปรามเร็วมาก จะเห็นว่าเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จบลง บทบาทคุณอารมณ์ก็หายไป เพราะติดคุก แต่มาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่งในชิ้นงานเขียน ซึ่งภายหลังกลายเป็นที่สนใจ
และเมื่อวิเคราะห์ลงไป จะเห็นอีกว่า บทบาทของคุณอารมณ์ไม่หวือหวาเหมือนคุณเสกสรร ประเสริฐกุล แต่กลับมีลักษณะการลุกขึ้นมาสานประสานไม่ซ้ายจัด คือ การคัดค้านการขึ้นราคาข้าวสาร ซึ่งกรณีนี้เป็นจุดเชื่อมโยงให้มองว่า เขาชูธงไม่ได้ต่อสู้เฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังต่อสู้กับฝ่ายการเมืองผ่านระบอบประชาธิปไตยด้วย
เมื่อถามว่า เหตุใดคุณอารมณ์ถึงได้รับการยอมรับในแวดวงชนชั้นกรรมกร รองประธานคปก. กล่าวว่า คงเป็นกรณีได้เป็นคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเรื่อง บริษัท ฮาร่า (HARA) จนสามารถช่วยคลี่คลายคดีได้ สะท้อนให้เห็นว่าเขาได้ใช้วิธีการแบบสันติวิธี
นอกจากนี้อีกกรณีหนึ่งรัฐบาลยกเลิกการจัดหาข้าวสารราคาถูกแก่กรรมกร โดยอ้างว่าชาวนาควรจะได้ราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้น ฉะนั้นจึงไม่ควรมีการกดราคาข้าวสาร เสมือนว่ากรรมกรกับชาวนาเป็นคนละพวกกัน ทำให้คุณอารมณ์ออกมาเรียกร้องว่า กรรมกรกับชาวนาไม่ใช่คู่ขัดแย้ง
พร้อมเรียกร้องให้เกิดการประกันราคาข้าวเปลือกแก่ชาวนา และผลักดันนโยบายข้าวสารราคาถูกแก่กรรมกรเช่นเดิม ภายใต้การเข้าเป็นคณะกรรมการพิสูจน์อัตราแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารโดยร่วมกับรัฐบาล
เมื่อถามถึงผลงานเขียนของคุณอารมณ์ สุนี เผยว่า มีงานเขียนที่โด่งดังหลายเรื่อง แต่ตนเองไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะต้องเข้าป่าในช่วงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จนมีโอกาสได้อ่านจริงจังเมื่อออกจากป่าแล้ว และสัมผัสได้ว่า หลายเรื่องมีความน่าสนใจ มีพลัง โดยเฉพาะด้านการต่อสู้
“เขาเชื่อมั่นในพลังการต่อสู้ของสหภาพแรงงานและคิดว่าต้องต่อสู้ให้เต็มที่ ซึ่งเขาจะบอกว่าสหภาพแรงงานต้องไม่ต่อสู้เฉพาะผลประโยชน์ของกรรมกรเท่านั้น แต่พยายามทำให้เกิดเป็นองค์กรแกนนำของการรวมกลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งถือเป็นทฤษฎีของผู้ชายคนนี้” เธอทิ้งท้าย .
ด้านรศ.วิทยากร เชียงกูล ผอ.ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ม.รังสิต บอกเล่าว่า ตนเองรู้จักคุณอารมณ์ในฐานะนักเขียนที่มีความคิดสนใจปัญหาทางสังคม โดยเขาเริ่มสนใจจากปัญหาเล็ก ๆ ปัญหาเชิงความเป็นธรรม ก่อนจะค่อย ๆ ขยายไปสู่สังคม การเมือง และแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่มั่นคง แม้ไม่หวือหวาก็ตาม
คุณอารมณ์เขียนเรื่องสั้นหลายเรื่อง แต่ว่าจะเขียนเกี่ยวกับชีวิตในเกาะพงันเป็นหลัก สะท้อนภาพการเป็นแรงงานทางสังคมในระบบทุนนิยมเข้าไปส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง มีการเอาเปรียบทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเรื่องสั้นอยู่ในเกณฑ์ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ที่ดีและตนเองชื่นชอบ คือ บทกวีกลอนเปล่า เรื่อง คือ...พ่อ ซึ่งเขาเขียนถึงลูกสาวตอนติดคุก เขียนง่าย ๆ จริงใจ และมีพลัง ออกมาโดดเด่นมากสำหรับงานชิ้นนี้
“เขาไม่ได้สนใจทางการเมือง เพราะอยากเป็นนักการเมืองหรืออยากดัง แต่เขามีความคิดเชิงมนุษยธรรม คือ ทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมดี” นักวิชาการ กล่าว และว่าโดยพื้นฐานคุณอารมณ์เห็นสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดถูกทำลาย ดังนั้นเรื่องสั้นหลายเรื่องจึงสะท้อนมุมมองเหล่านี้ด้วย
รศ.วิทยากร เล่าต่อว่า ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ไทยตกอยู่ในยุคเผด็จการทหารและเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น การกดขี่ ขูดรีดแรงงาน ชาวนา ส่งผลให้ประเทศเกิดการพัฒนาที่ล้าหลัง นักศึกษาจึงเกิดความตื่นตัวเรียกร้องประชาธิปไตยจนชนะ เพราะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุน เนื่องจากไม่พอใจที่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะอีกต่อไป
ความคิดร่วมกันที่จะพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษากลายเป็นผู้อยากช่วยเหลือคนจน จึงตัดสินใจช่วยเหลือชาวนา และชนชั้นกรรมกร ด้วยการส่งเสริมความรู้ ถึงขนาดนักศึกษาบางคนยอมพักการเรียนเพื่อมุ่งทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เพราะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมิได้ช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ นอกเหนือจากการรักษาฐานอำนาจทางการเมือง
“รัฐบาลเกิดความคิดว่านักศึกษาเป็นพวกหัวรุนแรง ซ้ายจัด นักศึกษาก็มองนักการเมืองหัวเก่าต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงพยายามจับกุม เข่นฆ่า เรียกว่าช่วง 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาเป็นพระเอก แต่หลังจากนั้นชนชั้นปกครองมองเป็นผู้ร้าย” นักวิชาการกล่าว และว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะขณะนั้นแถบประเทศอินโดจีนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีการเรียกร้องสำเร็จ ทำให้รัฐบาลไทยกลัวว่าจะเป็นทฤษฎีโดมิโน จึงเกิดความคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบสุดโต่ง นำมาสู่การปราบปราม
สำหรับคุณอารมณ์ รศ.วิทยากร มองว่าไม่มีหัวความคิดซ้ายจัดมาก คงอยู่ระดับกลาง ๆ มิเช่นนั้นแล้วคนคงไม่รักเขามากเช่นนี้ เนื่องด้วยแนวคิดยึดหลักการต่อรองของสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ยังโดนถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายซ้ายจัดเลย ทั้งที่ความจริงแล้วเสรีนิยมมาก
ท้ายที่สุด คุณอารมณ์เป็นนักสหภาพแรงงานอย่างแท้จริง ไม่ทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเลย .
ที่มาภาพ: http://laboursolidarity.blogspot.com/2010/07/blog-post.html
http://voicelabour.org/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97/