เปิดแนวคิด ‘เค วอเตอร์’ โมดูล A3 แก้มลิง กินพื้นที่ 4 จว.ต้นน้ำ
พลิกเอกสารโมดูล A3 สร้างแก้มลิง งบ 9 พันล้าน กินพื้นที่ 4 จังหวัดต้นน้ำ เน้นสร้าง-ปรับปรุงประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำ ขุดลอกคลอง อาคารรับน้ำ สถานีสูบน้ำ ตั้งเป้าเก็บกักได้ 3.2 พันล้าน ลดน้ำท่วมริมแม่น้ำยม-น่าน
"สำนักข่าวอิศรา" เปิดเอกสารประกอบการจัดแสดงนิทรรศการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ในโมดูล A3 เรื่อง พื้นที่เก็บกักน้ำหลากหลายชั่วคราว (แก้มลิง) บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค-วอเตอร์) ที่ได้รับการประมูลไปในงบประมาณไม่เกิน 9,863 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเค วอเตอร์ ชนะการประมูลใน 2 โมดูลใหญ่ จากทั้งหมด 9 โมดูล ได้แก่ โมดูล A3 พื้นที่เก็บกักน้ำหลากหลายชั่วคราว (แก้มลิง) และโมดูล A5 การก่อสร้างคลองผันน้ำ หรือฟลัดเวย์ (Floodway) มูลค่างานรวม 1.62 แสนล้านบาท
เอกสารฉบับดังกล่าวระบุว่า สาเหตุสำคัญเบื้องต้นของมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 เกิดจากอัตราการไหลสูงสุด (Peak Flow) ของแม่น้ำเกินกว่าที่แม่น้ำจะสามารถรับได้ จึงได้วางแนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การเก็บกักน้ำหลากเพิ่มเติมในบริเวณพื้พื้นที่ลุ่มต่ำ ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณเหนือจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อลดอัตตราการไหลสูงสุดในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา วางเป้าหมาย ความจุเก็บกักของแก้มลิง 3,221 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับขอบเขตการดำเนินงาน ศึกษา ออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างต่างๆ ได้แก่ ประตูระบายน้ำ (ปรับปรุงระบบรับน้ำเข้าและระบายน้ำออก) สร้างคันกั้นน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำหลาก และขุดลอกคลอง เพื่อปรับปรุงจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำสายหลักและพื้นที่เกษตรกรรม วางพื้นที่ดำเนินโครงการ เป็นพื้นที่เกษตรชลประทานและพื้นที่ลุ่มต่ำตามธรรมชาติบริเวณเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ในงบประมาณไม่เกิน 9,863 ล้านบาท ในระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี
ทั้งนี้ เอกสารระบุว่าบทบาท และหน้าที่ของแก้มลิง จะสามารถเก็บกักน้ำหลากจากลำน้ำสาขาและแม่น้ำสายหลัก โดยการลดระดับน้ำบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำ ด้วยการปรับปรุงความสามารถในการระบายน้ำ ย่นระยะเวลาการเกิดน้ำท่วม และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งภายในแก้มลิงจะมีอาคารรับน้ำโดยรอบ มีคลองระบายน้ำภายใน และอาคารสถานีสูบน้ำ
โดยได้วางหลักการดำเนินงาน ไว้ 3 ระดับ ได้แก่
1.ก่อนการเกิดอุทกภัย ใช้น้ำเพื่อการเกษตร ระหว่างแม่น้ำ พื้นที่แก้มลิง และที่อายู่อาศัย
2.ระหว่างการเกิดอุทกภัย เก็บกักน้ำโดยเปิดประตูรับน้ำเข้าในพื้นที่แก้มลิง และเก็บกักน้ำตามแผนการดำเนินงานพื้นที่แก้มลิง
3.หลังการเกิดอุทกภัย เมื่อระดับน้ำลดต่ำลงแล้ว จะระบายน้ำออกภายใต้การควบคุมของประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ โดยคำนึงถึงการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ยึดหลักรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม
เกณฑ์การบริหารจัดการ จะลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยการดำเนินการร่วมกันกับระบบพยากรณ์และเตือนภัย รักษาระดับน้ำเก็บกักให้ต่ำกว่าระดับที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ชุมชน ระยะเวลาการเก็บน้ำไม่นานเกินไป เพื่อลดความเสียหายต่อชุมชน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินงาน รวมถึงส่งเสริมแผนการเพาะปลูกพืชอย่างเหมาะสม เช่น ปลูกข้าวอายุสั้น และเก็บเกี่ยวก่อนน้ำหลากมาถึง
ในส่วนของความจุพื้นที่เก็บกักน้ำหลากชั่วคราว จะอยู่ในในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ (แบ่งเป็น N1 N2 N3 N4 ตามภาพประกอบ) จำนวนรวม 3,221 พันล้าน ลบ.ม. ขนาดของพื้นที่เก็บกักน้ำหลากชั่วคราว 1,212,921 ไร่ (ตร.กม.) เพิ่มประตูระบายน้ำบนโครงสร้างเดิม จำนวน 9 แห่ง ก่อสร้างประตูระบายน้ำแห่งใหม่ เพื่อสูบน้ำเข้า 20 แห่ง สูบน้ำออก 13 แห่ง และสูบน้ำเข้า-ออก 9 แห่ง สถานีสูบน้ำ 12 แห่ง ปรับปรุงลำคลอง 454 กม. และปรับปรุงคันกั้นน้ำ 139.7 กม. ซึ่งงานก่อสร้างหลักจะเป็นประตูน้ำ ก่อสร้างใหม่ 42 แห่ง ปรับปรุง 9 แห่ง ควบคุมการเก็บกักน้ำและการระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ 12 แห่ง ส่งจ่ายน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ และเร่งระบายน้ำในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
รวมถึงปรับปรุงคลอง 454 กม. เพิ่มอัตราไหลเข้า-ออก ในพื้นที่แก้มลิง และปรับปรุงคันกั้นน้ำ 139.7 กม. รักษาความจุเก็บกัก มีระบบตรวจสอบและติดตาม เก็บข้อมูลระดับน้ำ ปริมาณเก็บกัก และข้อมูลน้ำฝนจากอ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ และข้อมูลคลองเข้าฐานข้อมูลกลาง
ทั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ว่าจากการดำเนินโครงการจะสามารถลดการเกิดอุทกภัยบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ (ยมและน่าน) โดยการเพิ่มความจุเก็บกักชั่วคราวในแก้มลิง ลดความเสียหาย (พื้นที่ท้ายน้ำ เจ้าพระยา) โดยการเก็บกักน้ำหลากไว้ในพื้นที่แก้มลิง และเป็นการส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรในบริเวณพื้นที่น้ำท่วมถึง รวมถึงลดระยะเวลาเกิดอุทกภัย โดยส่งเสริมการปรับปรุง ความสามารถในการระบายน้ำและสร้างผลประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่เกษตรกร ด้วยการปรับปรุงความสามารถในการระบายน้ำ
ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินงานก่อสร้างพื้นที่แก้มลิงภายในระยะเวลา 5 ปี โดยแบ่งเป็นระยะเวลาการศึกษาความเหมาะสม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 1 ปี ออกแบบศึกษารายละเอียด 10 เดือน และก่อสร้างให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 4 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง แจงละเอียด! แนวคิด 'เค วอเตอร์' วาง 5 เส้นทางฟลัดเวย์ฝั่งตต.-ตอ.