นักวิชาการชี้ภาพรวมสินค้าเกษตรไม่วิกฤต-จี้รบ.แก้ยางตกต่ำถูกวิธี
'ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง' ชี้ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรไทยไม่ผันผวนนัก ยกเว้นข้าว-ยาง-อ้อย เสนอทางออกราคายางตกต่ำ ชาวสวนต้องพึ่งตนเองมากกว่ารัฐ แนะรบ.ล้มเลิกเเทรกเเซงตลาด หลังพบจำนำข้าวทำปท.พังชัวร์
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผอ.วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงแนวโน้มภาพรวมด้านราคาของสินค้าเกษตรไทยว่า ช่วงนี้ยังไม่มีความผันผวนด้านราคามากนัก ยกเว้นในสินค้าเกษตร 3 ชนิดที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่
1.ข้าว ที่มีราคาในตลาดโลกไม่สูงมากนัก เนื่องจากหลายประเทศมีการเพาะปลูกมากขึ้น
2.ยางพารา ที่ได้รับผลกระทบจากตัวแปรหลักอย่างราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ประกอบกับหลายประเทศมีการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราไทยอาจจะมีแนวโน้มสู่ขาลง
และ 3. อ้อย ที่มีการปรับตัวของราคาลงเช่นกัน
สำหรับกลุ่มเกษตรกรไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้อุ้มราคาที่ตกต่ำนั้น นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ยกระดับราคาสูงกว่าตลาดโลก ทำให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความรู้สึกถึงสิทธิที่ทำได้เทียบ เช่น ชาวนา อย่างไรก็ตาม จากผลพวงโครงการดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ให้เกษตรกรปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และพืชชนิดอื่น จ่อเรียกร้องรัฐบาลเรื่อย ๆ รวมถึงยางพาราในขณะนี้ด้วย
“ผมเข้าใจเกษตรกรอาจรู้สึกว่า ถ้าช่วยเหลือชาวนาได้ก็ควรช่วยเหลือชาวสวนยางในระดับราคาที่ใกล้เคียงกันได้ ทว่า ความจริงแล้วรัฐบาลไม่อยู่ในสถานะที่ช่วยรุกคืบอัตราอุดหนุนได้ เพราะเพียงโครงการรับจำนำข้าวอย่างเดียวก็เกิดปัญหาแล้ว ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลพยายามหาทางลงอยู่ แต่เมื่อขี่หลังเสือแล้วก็ลงยาก” ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่า มติครม.เห็นชอบราคาจำนำข้าวนาปี 15,000 บาท/ตัน และนาปรัง 13,000 บาท/ตัน ซึ่งยังเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดโลกค่อนข้างมากอยู่ แต่เข้าใจว่า รัฐบาลคงประเมินไว้ว่าจะมีข้าวเข้ามาน้อยลงกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ปริมาณอาจจะเยอะอยู่ และจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระบายข้าวร่วม 10 ล้านตัน/ปีเช่นเดิม
ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ควรยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงกว่าตลาดโลก โดยเฉพาะในฐานะที่ไทยเป็นประเทศส่งออกยิ่งทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาตลอด ซึ่งหากทำต่อไปจะสร้างปัญหาให้ประเทศเรื่อย ๆ แตกต่างกับประเทศนำเข้าสินค้า เพียงจำกัดการปริมาณสินค้าเกษตร ส่งผลให้สินค้าในประเทศขาดแคลนและต่อยอดราคาสูงขึ้นทันที
ยกตัวอย่างกรณียางพารา หากไทยต้องการยกระดับราคา ทั้งที่เราใช้ภายในประเทศเพียง 15% นั่นหมายถึง ต้องอุดหนุนราคากับสินค้าดังกล่าวสูงถึง 85% ให้กับประเทศนำเข้า ดังนั้น กรณีนี้รัฐบาลไม่อยู่ในสถานะที่จะยกระดับราคามากได้ จึงอยากให้เกษตรกรเข้าใจส่วนนี้ด้วย
"ทางออกจำเป็นต้องเจรจาร่วมกันอย่างสมเหตุสมผลในแนวทางที่รัฐบาลและเกษตรกรพอรับได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า ยางพาราเป็นพืชที่มีมูลค่าสูงและเกษตรกรล้วนแต่มีฐานะความเป็นอยู่ดีพอควร แม้ระบบการกรีดยางวิธีแบ่งสัดส่วน 60/40 จะส่งผลต่อรายได้บ้างก็ตาม กระนั้นเกษตรกรควรต้องรับสถานะความผันผวนของราคาให้ได้ เรียกว่าอาจต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งรัฐบาลทั้งหมดนั่นเอง"
อ่านประกอบ:ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง :ทางออกปัญหาการแทรกแซงราคายางในไทย
ที่มาภาพ:กรุงเทพธุรกิจ