ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง :ทางออกปัญหาการแทรกแซงราคายางในไทย
"ถ้ายอมถอยและยึดหลักการไม่พยายามไปสู้กับตลาด สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ ทำให้ราคาในประเทศผันผวนน้อยกว่าราคาตลาดโลก โดยอาจใช้มาตรการเก็บภาษีเวลาราคาในตลาดโลกสูง และเวลาราคายางตกต่ำก็มาอุดหนุนการส่งออกแทน เป็นการแทรกแซงเมื่อจำเป็น"
ชาวสวนยางในภาคใต้ได้ออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนสายหลัก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อยางในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ในขณะเดียวกันทางฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอรับซื้อยางแผ่นดิบที่ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ประมาณ 76 บาท
นอกจากนี้ รัฐบาลจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติเงินกู้แก่เกษตรกรสวนยางเป็นวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท โดย 5,000 ล้านบาทจะช่วยลงทุนในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณค่า และอีก 15,000 ล้านบาทลงทุนในการอัพเกรดอุปกรณ์ และขณะนี้การแก้ปัญหายังไม่คลี่คลาย
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ได้ให้สัมภาษณ์สถานีทีดีอาร์ไอ ต่อปัญหาการแทรกแซงราคายางในประเทศไทย โดย ดร.วิโรจน์ วิเคราะห์ว่า ตัวแปรที่กำหนดราคายางมี 2 ตัวแปรหลัก คือ ราคาน้ำมัน กับ เศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยเศรษฐกิจโลกก็สะท้อนไปสู่อีกตัวแปรคือความต้องการใช้ยางของประเทศที่สำคัญ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น พอราคายางเริ่มสูงขึ้นมีประเทศต่าง ๆ หันมาปลูกยางมากขึ้นและเมื่อดูรอบบ้านเราจะเห็นว่าในระยะหลังหลายประเทศอย่าง ลาว กัมพูชา จีน สิบสองปันนาเรื่อยไปจนถึงปากีสถาน ฯลฯ ก็หันมาปลูกยางกันมากขึ้น ยางใช้เวลา 5-6 ปีจึงจะเริ่มกรีดได้ และในช่วงนี้ก็เป็นช่วงมีผลผลิตออกมามากขึ้นนี่เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สะท้อนว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงยางขาลงและคาดว่ายังจะลงต่อ
บทเรียน แทรกแซงสินค้าเกษตร...ไม่ง่าย
ดร.วิโรจน์ : รัฐบาลอาจจะมีเหตุผลในการช่วยเกษตรกรรับมือกับราคาที่ตกต่ำกะทันหัน แต่รัฐบาลไม่ควรตั้งเป้ายกระดับราคาให้สูงกว่าราคาตลาดโลก ยางเป็นสินค้าเกษตรอีกตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลพยายามและมีมาตรการมาหลายอัน เช่น การร่วมมือกับประเทศอื่นเพื่อกำหนดราคาสินค้าเกษตร ซึ่งยางเป็นตัวที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือมีการประชุมที่เรียกว่า ITRC และมีการตั้งองค์กรที่เรียกว่า IRCo โดยเป็นความร่วมมือของประเทศหลักที่ปลูกยางพารามากที่สุดของโลก 3 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ปีที่แล้วช่วงที่ราคายางต่ำลงก็มีการประชุมแต่ก็หาทางออกไม่ได้ เสร็จแล้วก็ให้แต่ละประเทศกลับไปลดการส่งออกร้อยละ 10 ซึ่งในทางปฎิบัติไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง IRCo ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่าตั้ง ขึ้นมาในช่วงราคาค่อนข้างดีคนที่เอามาตรการนี้มาใช้ก็คุยกันว่าสามารถทำให้ราคายางดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พอถึงยามที่ราคายางตกลงเราก็ได้รู้ว่าองค์กรนี้ช่วยอะไรไม่ได้เลย!
เปรียบเทียบข้าวกับยาง
ดร.วิโรจน์ : หากจะเปรียบเทียบการช่วยเหลือระหว่างข้าวกับยาง จะเห็นว่า ปีที่แล้วรัฐบาลนี้ได้มีมาตรการแทรกแซงตลาดยาง ได้ซื้อยางเข้ามาและตอนนี้มีสต๊อกยางอยู่กว่า 2 แสนตัน จำนวน 2 แสนตันอาจจะฟังดูน้อยเมื่อเทียบกับสต๊อกข้าว แต่อย่าลืม ว่าราคายางหนึ่งกิโลกับข้าวหนึ่งกิโล ยางราคาสูงกว่าข้าวมาก รัฐบาลใส่เงินเข้าไปรับซื้อยางสองครั้งไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และเราก็มีสต๊อกยาง ซึ่งรัฐบาลก็ไม่กล้าเอามาขายเพราะกลัวว่าถ้าเอามาขายจะทำให้ราคายางตกลงไปอีก
รัฐบาลเริ่มเรียนรู้จากทั้งเรื่องข้าวและยางว่าไม่สามารถสู้กับตลาดได้ เรื่องข้าวรัฐบาลก็พยายามหาทางลงโดยเจรจากับชาวนาอยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจชาวนาด้วยว่า โครงการของรัฐบาลดึงให้ต้นทุนของชาวนาสูงขึ้นจริง การปรับตัวก็เป็นเรื่องยากพอสมควรผมคิดว่าพอมีเรื่องข้าวเกิดขึ้นและรัฐบาลกำลังพยายามหาทางลง พอมีเรื่องยางขึ้นมาในช่วงนี้รัฐบาลจึงลังเลที่จะใช้วิธีการเข้าไปทำแบบเดียวกับข้าว
สำหรับทางออก ต้องเข้าใจว่า ข้าวต่างกับยาง สำหรับข้าวเราบอกว่าเราเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก จากผลผลิตเราไม่เกินร้อยละ 7ของโลก แต่ยางเราเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าแม้เราจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกแต่เราก็ไม่สามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้จริง หรือแม้กระทั่งว่าเราเป็นอันดับหนึ่งและสามประเทศหลักรวมกันมีผลผลิตถึงร้อยละ 70 แต่ว่าเวลามีประเทศอื่นผลิตออกมาก็ยังมีผลกระทบ และสามประเทศหลักเองก็ไม่สามารถคุมราคาของยางในตลาดโลกได้
อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าการที่คิดจะไปสู้กับสินค้าเกษตรเนี่ยไม่ง่าย และตัวอย่างของยางที่ดีอีกอันหนึ่งก็คือว่า การที่เราผลิตมาก มีส่วนที่ใช้ภายในประเทศแค่ประมาณร้อยละ 15 อีกร้อยละ 85 ส่งออก คนชอบพูดกันว่าเราควรจะแก้ปัญหานี้โดยการหันมาใช้ยางในประเทศมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็คือว่า ในเมื่อเราส่งออกถึงร้อยละ 85 แม้เราจะใช้ยางเพิ่มขึ้นเป็น 2-4 เท่า โจทย์ก็จะไม่เปลี่ยนเพราะยางจำนวนมากก็จะต้องส่งออกและราคายางก็ยังต้องไปโยงกับราคาตลาดโลกเหมือนเดิม อันนี้จึงไม่ใช่ทางออกเหมือนกัน
ทางออก ยอมถอยก็แก้ได้
ดร.วิโรจน์ เสนอทางออกว่า ถ้ายอมถอยและยึดหลักการไม่พยายามไปสู้กับตลาด สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ ทำให้ราคาในประเทศผันผวนน้อยกว่าราคาตลาดโลก โดยอาจใช้มาตรการเก็บภาษีเวลาราคาในตลาดโลกสูง และเวลาราคายางตกต่ำก็มาอุดหนุนการส่งออกแทน เป็นการแทรกแซงเมื่อจำเป็น ซึ่งก็คงมีข้อถกเถียงกันได้มากว่าแค่ไหนถึง หลายคนก็พูดถึงต้นทุน แต่ผมจะชี้ข้อเท็จจริงอันหนึ่งคือ ยางที่กำลังกรีดกันในวันนี้ ต้องมองถอยหลังไปที่ 5 ปีครึ่ง สำหรับภาคใต้ และนานกว่านั้นสำหรับภาคอีสาน ณ เวลาที่เกษตรกรตัดสินใจปลูกกัน ก็คงคงคิดต้นทุนและราคาที่จะขายได้ไว้แล้ว ซึ่งตอนนั้นผมเชื่อว่าเกษตรกรแทบจะไม่มีใครที่คิดว่าแทบจะได้ราคาสูงกว่า กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนต้นทุนก็คงพูดได้ว่าต่ำกว่า 50 บาท แต่ทีนี้หลังจากปลูกมาแล้วก็เกิดสถานการณ์ที่ว่า ใน 2-3 ปี ถัดมาราคายางขยับขึ้นมา 70 บาทไปจนถึงมากกว่า100 บาทและก็กลับมาลดลง
ช่วงที่ยางขึ้นไปเกิน 100 บาทหรือ 100 บาทปลาย ๆ เกษตรกรก็มีฐานะดีขึ้นมากดูได้จากยอดการซื้อรถปิ๊กอัพที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งอาจพูดได้ว่าช่วงนั้นเป็นลาภลอยของชาวสวนยาง ไม่ได้เป็นฝีมือจากใครแต่มาจากปัจจัยน้ำมันที่สูงขึ้นตอนนั้น พอเป็นแบบนั้นเมื่อราคาตกลงมา เกษตรกรซึ่งคิดว่าราคาควรจะยืนอยู่ในระดับสูงก็อาจจะรู้สึกว่าแย่หรือตัวเองไม่ได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามการจะทำระบบรักษาเสถียรภาพราคายางก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ด้วย คิดว่าราคาที่เกิน 100 บาทหรือใกล้ ๆ 100 บาท เป็นราคาที่ไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว
จากข้าวถึงยาง แนะทบทวนนโยบายแทรกแซงสินค้าเกษตร
ดร.วิโรจน์ : บทเรียนที่รัฐบาลได้แม้จะยังไม่ได้ยอมรับเต็มปาก คือ ไม่สามารถไปสู้กับราคาตลาดโลกได้จริง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร ปัญหาที่รัฐบาลสร้างและพยายามหาทางลง คือ รัฐบาลมีปัญหากับข้าวและพยายามแก้ปัญหาโดยการปรับนิดปรับหน่อย ปรับราคาและยอดรับจำนำลงโดยหวังจะทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายลดลง รวมถึงแนวทางอื่น ๆ แล้วคิดว่าปรับแล้วมันจะพอไปได้ ผมคิดว่ารัฐบาลจะเอาตัวรอดจากตรงนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ไม่มีปัญหาอื่นแทรกเข้ามา และเราก็ได้เห็นว่ามันไม่จริง เพราะตอนนี้ยางก็เป็นประเด็นขึ้นมา และอาจจะมีที่ตามมาอีกคือ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ
ตอนนี้ถ้ารัฐบาลได้รับบทเรียนแล้วก็เป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลจะได้ทบทวนนโยบายสินค้าเกษตรโดยรวม และถ้ารัฐบาลทำแบบนั้นก็จะทำให้ไม่ถูกข้อกล่าวหาด้วยว่าทำไมช่วยชาวนาแต่ไม่ช่วยชาวสวนยาง เพราะถ้ามองแค่ตัวเลขราคา 1.5 หมื่นบาท กับ 120 บาท ก็เป็นราคาที่สูงกว่าตลาดทั้งคู่ และก็จะเห็นว่าการที่เราได้พยายามสู้แล้วแต่เราสู้กับตลาดไม่ไหวเราก็ควรเปลี่ยนแนวทางไปเลยในเรื่องของนโยบายสินค้าเกษตรโดยรวม .
สามารถดูคลิปสัมภาษณ์ได้ที่ http://tdri.or.th/multimedia/rubble-trouble/