ชาวนาอยุธยา-เพชรบุรี แบกหนี้อื้อ งานวิจัยชี้จำนำข้าว 1.5 หมื่นไม่ช่วยอะไรเลย
วิจัยชุมชนเผยภาวะหนี้สินชาวนาอยุธยาสูงเฉลี่ย 6.3 แสนบ./ราย เพชรบุรี 3.6 แสนบ./ราย จ่อสูญเสียที่ดิน ‘สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกร’ ชี้ 10 ปี กองทุนฟื้นฟูฯ เหลว ช่วยได้แค่ 4% นักวิชาการเตือนอย่าปล่อยให้ทุนครองแหล่งผลิตอาหารฝ่ายเดียว เสี่ยงไม่มั่นคง
วันที่ 15 ส.ค. 56 กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอด) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปท.) สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ ‘คุณค่า ความหมาย ของชาวนาและชุมชนในยุคโลกาภิวัฒน์’ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ สมาชิกสค.ปท. นำเสนอผลสรุปงานวิจัย ‘ภาวะหนี้สินชาวนากับนัยที่มีผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหาร กรณีศึกษา จ.พระนครศรีอยุธยาว่า อยุธยาจากที่เคยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ตอนนี้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของจังหวัด ล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 98.27% ภาคเกษตรกรรมเพียง 1.73% โดยผู้ที่มีอาชีพทำนาส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุเฉลี่ย 62 ปี และมีแนวโน้มไม่มีลูกหลานสืบทอดอาชีพต่อ
ขณะที่พื้นที่ทำนานั้น นางกิมอัง กล่าวว่า จากอดีตเคยมีสูงถึง 50-100 ไร่/ครัวเรือน กลับลดน้อยลงในปัจจุบัน โดยเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ คิดเป็น 27%, 1-4 ไร่ คิดเป็น 45%, 5-9 ไร่ คิดเป็น 15% เฉลี่ยแล้วมีเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ สูงถึง 87% ทำให้คนที่ทำนาต้องเช่านาไร่ละ 1,052บาท มีจำนวน 85% ซึ่งคิดเป็น 18% ของต้นทุนทำนาทั้งหมด และหากลงลึกถึงหนี้สินของเกษตรกรอยุธยาเฉลี่ย 636,387 บาท/ราย ในจำนวนหนี้เป็นดอกเบี้ย 58% เป็นเงินต้น 42%
ตัวแทนสค.ปท. กล่าวต่อว่า ด้านกรณีศึกษา จ.เพชรบุรีผู้ที่มีอาชีพทำนาส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุเฉลี่ย 60 ปี และยังพบเกษตรกรมีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ คิดเป็น 4%, 1-4 ไร่ คิดเป็น 27%, 5-9 ไร่ คิดเป็น 29% เฉลี่ยแล้วมีเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ สูงถึง 60% เช่นเดียวกันทำให้คนที่ทำนาต้องเช่าที่นาไร่ละ 2,400 บาท คิดเป็น 35% ของต้นทุนทำนาทั้งหมด
ส่วนหนี้สินของเกษตรกรจ.เพชรบุรีเฉลี่ย 364,787 บาท/ราย ในจำนวนหนี้เป็นดอกเบี้ย 35% เป็นเงินต้น 65% ดังนั้นจะเห็นว่าแม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาทำได้เฉพาะการเยียวยาเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกถึงโครงสร้างของปัญหา ที่จะช่วยเหลือและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมชาวนาได้จริง
"นี่ยังไม่นับรวมปัญหาการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม การไม่ควบคุมราคาปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และระบบการปล่อยดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมล้วนส่งผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทั้งสิ้น"
ส่วนการตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น นางกิมอัง กล่าวว่า ก็ยังล้มเหลวอยู่ เนื่องด้วยตั้งแต่ปี 2546เป็นต้นมา สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางได้เพียง 4% จากจำนวนผู้ยื่นคำร้อง 500,000 ราย
“โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล 15,000 บาท/ตัน แม้จะให้ราคาสูง แต่เกษตรกรคิดว่าเมื่อรวมกับรำข้าว ฟาง น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 20,000 บาท/ตันได้ ทั้งนี้ แม้จะมีราคาสูงมากเท่าไหร่ หากเกษตรกรยังมีหนี้สินมากคงไม่ช่วยอะไร” นางกิมอัง กล่าว และว่า ขณะที่การส่งเสริมให้ใช้น้ำหมักชีวภาพแทนสารเคมีในพื้นที่เกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารปลอดภัย แม้จะเป็นหนทางแก้ปัญหาที่ดี แต่สถานะวันนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะวิธีดังกล่าวต้องใช้เวลา ฉะนั้นตราบใดที่เกษตรกรยังมีหนี้สินติดหลังอยู่คงเกิดขึ้นยาก
พร้อมกันนี้ มีการเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจากการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเพื่อจำหน่ายมาเป็นตั้งกลุ่มแปรรูปผลผลิตเอง เพราะอาชีพทำนามิได้เป็นเพียงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่คือวิถีชีวิตและแหล่งอาหารที่สำคัญของชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนที่จะไม่มีลูกหลานสืบทอดต่อไป
ด้านผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงที่มาของคำว่า ‘ชาวนา’ เป็นถ้อยคำที่ใช้เรียกบุคคลกลุ่มหนี่งที่มีสถานะตรงกลาง ไม่ใช่คนรวยหรือคนจน ซึ่งในอดีตเป็นผู้ใช้แรงงาน ผิดกับปัจจุบันกลายเป็นผู้รับจ้างทำนาโดยไม่มีที่ดิน ส่วนอนาคตชาวนาจะหายไปจากสังคมไทยหรือไม่ ตามทฤษฎีโบราณบอกว่า ได้หายไปแล้ว ด้วยชาวนาปัจจุบันรับจ้างทำนาอย่างเดียว
ส่วนสิ่งที่เกื้อหนุนให้ชาวนาไม่หายไป ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า คือ โลกต้องการความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่นายทุนไม่กล้าเข้าไปลงทุนในที่ดินของตนเอง แต่ยอมให้ชาวนาเช่าพื้นที่ทำนาแล้วส่งขายเข้าโรงสีแทน รวมถึงมิติทางการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสริมให้ชาวนายังอยู่ ผ่านการทำหน้าที่บางประการเพื่อให้วิกฤตดีขึ้นภายใต้ลักษณะการช่วยเหลือรูปแบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องโครงสร้างอายุชาวนาที่มากขึ้น โดยขาดคนรุ่นใหม่ที่มักยึดอาชีพในภาคอุตสาหกรรมมาสืบทอดอาชีพแทน รวมถึงปัญหาผลผลิตข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
ขณะที่อ.ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิจัยประจำโครงการสิทธิชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร ระบุถึงทิศทางความมั่นคงทางอาหารต่อกระแสเปราะบางของสังคมผู้ผลิตว่า กว่า 80% เปลี่ยนจากอาชีพทำนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์ในที่ดินจากเดิมเป็นเกษตรกรได้เปลี่ยนมือเป็นของทุนเกษตรกรรม ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์ผลิตอาหารของประเทศตกอยู่ในมือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะเกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารได้
“ยกตัวอย่างเหตุการณ์ช่วงน้ำท่วม หากขาดศูนย์การค้า คนเมืองจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ แต่สำหรับชุมชนยังมีแหล่งอาหารกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ”
ทั้งนี้ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งผลทิศทางในอนาคตมีอัตราส่วนเพิ่มและลดลง กล่าวคือ การเพิ่มขึ้น ได้แก่ พื้นที่ปลูกพืชเชิงพาณิชย์ ปริมาณผลผลิตจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่เข้มข้น การลงทุนของธุรกิจเกษตร โดยกว้านซื้อที่ดินให้เกษตรกรเช่านาปลูกข้าว รวมถึงค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่สูง
ขณะที่การลดลง ได้แก่ พื้นที่แหล่งอาหารที่เป็นเกษตรกรรม ความปลอดภัยและความหลากหลายของอาหาร นอกจากนี้ยังจะมีการลดลงของเกษตรกรรายย่อย การเป็นเจ้าของที่ดินตนเอง และเงินออมด้วย .
..............................................................................................................................................................................................................
หมายเหตุ:
-งานวิจัย ‘นัยยะความมั่นคงทางอาหารในกระแสความเปราะบางของสังคมผู้ผลิต’ โดยอ.ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิจัยประจำโครงการสิทธิชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร
-งานวิจัย ‘ภาวะหนี้สินเกษตกรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม กรณีศึกษาสค.ปท. จ.เพชรบุรี’ โดยเมธี สิงห์สู่ถ้ำ นักวิจัยพื้นที่ จ.เพชรบุรี
-งานวิจัย ‘ภาวะหนี้สินเกษตกรกรกับนัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคม กรณีศึกษาสค.ปท. จ.พระนครศรีอยุธยา’ โดยอารีวรรณ คูสันเทียะ นักวิจัยพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่ www.landactionthai.org
ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/content/eco/290821
----------------------------------------------------
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:อุตฯ จ.อยุธยา เต้น ! ร่อนหนังสือแจงขยายนิคมฯ ไม่กระทบแหล่งปลูกข้าว