- Home
- Community
- กระแสชุมชน
- ข่าวการเมือง
- อุตฯ จ.อยุธยา เต้น ! ร่อนหนังสือแจงขยายนิคมฯ ไม่กระทบแหล่งปลูกข้าว
อุตฯ จ.อยุธยา เต้น ! ร่อนหนังสือแจงขยายนิคมฯ ไม่กระทบแหล่งปลูกข้าว
อุตฯ จ.อยุธยา ร่อนหนังสือแจงวิพากษ์ขยายนิคมโรจนะ อ.อุทัย ไม่ทำลายแหล่งปลูกข้าว ชี้ยังไม่บังคับใช้ผังเมืองจึงไม่กระทบพื้นที่สีเขียว-ผิดกม. นักวิชาการแนะไทยควรส่งเสริมเกษตร-ท่องเที่ยวมากกว่า
จากกรณีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 2556 คอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย นำเสนอบทความ ‘พื้นที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุดกำลังถูกทำลาย’ เขียนโดย ลมตะวันตก ใจความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ปล่อยให้ขยายโรงงานอุตสาหกรรม ขยายนิคมอุตสาหกรรมไปในพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย นั่นคือการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในบริเวณอ.อุทัย รอยต่อกับอ.ภาชี มีการถมดินจำนวนมหาศาล ก่อนสร้างโรงงานพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 พันไร่-หมื่นไร่”
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นายสหวัฒน์ โสภา วิศวกรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนอุตสาหกรรมจ.พระนครศรีอยุธยา ได้ทำบันทึกข้อความถึง นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนยังมีความคลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง กล่าวคือ
1.ปัจจุบัน จ.พระนครศรีอยุธยายังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมของจังหวัด คงมีแต่การประกาศใช้ผังเมืองชุมชน ซึ่งในพื้นที่อ.อุทัยยังไม่ได้ประกาศใช้ผังเมืองแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่มี "พื้นที่สีเขียว" ห้ามตั้งโรงงานตามที่บทความกล่าวถึง การพิจารณาอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจะนำกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรงงาน พ.ศ. 2535 มาประกอบการพิจารณาและในพื้นที่อ.อุทัยไม่มีประกาศห้ามไม่ให้ตั้งโรงงานแต่อย่างใด
2.ปัจจุบันไม่มีนิคมอุตสาหกรรมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่อ.อุทัย แต่มีเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ของบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการดำเนินการบริหารสวนอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้มาแล้วกว่า 20 ปี โดยทั่วไปเรียกพื้นที่นี้ว่า โรจนะเฟส 1 มีเนื้อที่ประมาณ 5,630 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.อุทัย ต.คานหาม และต.ธนู อ.อุทัย มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตตั้งในเฟสที่ 1 จำนวน 164 โรงงาน
3.บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ยังมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งยังไม่เป็นพื้นที่ตามมาตรา 30 อีก 2 พื้นที่ เรียกว่า โรจนะ เฟส 2 และโรจนะ เฟส 3 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นเรื่องต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อขอให้ประกาศเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามมาตรา 30 มีรายละเอียดแต่ละเฟส ดังนี้
-โครงการโรจนะเฟส 2 มีเนื้อที่ประมาณ 2,600 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.อุทัย ต.คานหาม และต.บ้านช้าง อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตตั้งอยู่ในเฟสที่ 2 จำนวน 62 โรงงาน
-โครงการโรจนะเฟส 3 มีเนื้อที่ประมาณ 3,270 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.อุทัย ต.สามบัณฑิต และต.บ้านช้าง อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตตั้งอยู่ในเฟสที่ 3 จำนวน 23 โรงงาน
4.นิคมอุตสาหกรรมในบทความนี้น่าจะหมายถึงที่จัดสรรเพื่อการอุตสาหกรรมของบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพื้นที่เฟสที่ 2 และ 3 ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมแต่อย่างใด
5.พื้นที่ทั้ง 3 เฟส ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโดยรอบในแต่ละเฟส ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงอาณาเขตของพื้นที่อุตสาหกรรมชัดเจน และไม่ปรากฏว่า มีการขยายพื้นที่ออกนอกเขตแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า บริเวณโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมของบริษัทฯ มีผู้ประกอบการรายอื่นปรับถมพื้นที่เพื่อเตรียมตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือเพื่อการอื่น เนื่องจากมีการขยายของเมืองและชุมชน
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การประกอบกิจการโรงงานในอ.อุทัย ไม่ขัดกฎหมายว่าด้วยผังเมือง แต่หากอนาคตมีการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวม จะพิจารณาให้เป็นไปตามข้อบังคับต่อไป
ขณะที่นางภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า แนวคิดการขยายฐานอุตสาหกรรมในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยานั้น จะส่งผลกระทบต่อความเสียหายของพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงวิถีชีวิตคนในชุมชนและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปอยู่กับการพึ่งพาฐานเทคโนโลยีจากข้างนอกด้วย เพราะจากเดิมที่แหล่งอุตสาหกรรมอยู่ละแวกปทุมธานี ได้ขยายพื้นที่ไปยังพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และลพบุรี มากขึ้น เมื่อมีการพัฒนาระบบขนส่งให้เอื้อต่อการเกิดสิ่งเหล่านี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่แหล่งปลูกข้าวจะสูญเสียไป
ด้านรศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระ กล่าวถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว เนื่องจากเมื่อเกิดน้ำหลากจะนำพาตะกอนดินทับถมกัน จนกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่ดีอันดับต้น ๆ ของประเทศ จนกระทั่งมีนโยบายพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศ พร้อมกับยกตัวอย่างอุตสาหกรรมโรจนะที่ตั้งขวางเส้นทางไหลของน้ำ และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวที่ลดน้อยลง
"ประเทศไทยไม่เหมาะสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักแล้ว แต่ควรหันมาส่งเสริมด้านเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่า เพื่อป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายดังเช่นปัจจุบัน"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า จ.พระนครศรีอยุธยามีโรงงานทั้งสิ้น 2,316 แห่ง โดยอ.อุทัย มีจำนวน 419 แห่ง และอ.ภาชี มีจำนวน 33 แห่ง .