‘นักวิชาการเกษตร’ เผยเมทิลโบรไมล์ใช้เฉพาะส่งออก ยันข้าวถุงปลอดภัย ได้มาตรฐาน
'นักวิชาการเกษตร' ชี้สารรมยาตกค้าง 67 ppm ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจพบไม่เป็นอันตราย อัตราสะสมน้อยกว่านิโคตินในบุหรี่ แจงเมทิลโบรไมล์ใช้เฉพาะข้าวส่งออก ส่วนข้าวถุงในประเทศใช้ฟอสฟีน
ภายหลังเกิดกระแสข่าวแลความไม่มั่นใจว่ามีสารตกค้างจากการรมยาป้องกันแมลงในข้าวสาร และคุณภาพข้าวบรรจุถุงในประเทศ กระทั่งล่าสุดมูลนิธเพื่อผู้บริโภคเผยผลการตรวจสารเคมีตกค้างในข้าวสารบรรจุถุง และพบว่ามีข้าวสารบรรจุถึงในบางตราสินค้ามี 'สารเมทิลโบรไมล์ (Methyl Bromide)' ตกค้างเกินมาตรฐานกำหนด นางบุษรา จันทร์แก้วมณี นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร และทำงานตรวจมาตรฐานคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวกับ 'สำนักข่าวอิศรา' ว่า การสุ่มตรวจพบสารเมทิลโบรไมล์ตกค้างในระดับ 67 ppm ซึ่งเกินมาตรฐานนั้น ไม่แน่ชัดว่าใช้มาตรฐานห้องแล็บที่ใด อย่างไรก็ตามจากปริมาณการควบคุมที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าเกิน
"การตรวจพบสารเมทิลโบรไมล์ในระดับ 67 ppm นั้นสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 50 ppm แต่ก็น่าจะเป็นข้าวที่ส่งออก หรือสุ่มตรวจที่ผู้ส่งออก เพราะปัจจุบันสารนี้ "ใช้เฉพาะข้าวส่งออก" ส่วนข้าวที่บริโภคในประเทศจะใช้สารฟอสฟีน (Phosphine) ก่อนที่จะบรรจุถุง"
นางบุษรา กล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน 'สารเมทิลโบรไมล์' เป็นสารที่ทั่วโลกกำลังลด เลิกการใช้ เนื่องจากมีการพิสูจน์พบว่าทำให้ชั้นโอโซนโหว่ จึงใช้เฉพาะในการส่งออก เพื่อควบคุมแมลงก่อนนำเข้าแต่ละประเทศเท่านั้น
แต่ที่ยังมีการใช้อยู่ เพราะเมทิลโบรไมล์รมเพียงหนเดียว แต่สารฟอสฟีนต้องใช้ระยะเวลารม 5-7 วัน จึงไม่คุ้มทุน หากผู้ค้าข้าวในการส่งออกต้องจ่ายค่าท่าเรือถึง 7 วัน
"เรามีการควบคุมการใช้สารนี้เพื่อส่งออกและกักกันศัตรูพืชเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ทั่วไปและองค์การคลังสินค้า (อคส.) ก็ให้ใช้ฟอสฟีน ก็งงเหมือนกันว่า ทำไมถึงตรวจสอบพบสารเมทิลโบรไมล์จากข้าวถุงภายในประเทศ เพราะเมทิลโบรไมล์ราคาสูงกว่าฟอสฟีน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว ยกเว้นจะเป็นผู้ส่งออกด้วย หรือข้าวล็อตนั้นเป็นล็อตเดียวกับข้าวส่งออก"
อย่างไรก็ตาม นางบุษรา กล่าวต่อว่า การตรวจพบเมทิลโบรไมล์ในระดับ 67 ppm นั้นสูงกว่ามาตรฐานเพียงนิดเดียว พืชบางชนิดให้ถึง 100 ppm แต่นื่องจากข้าวเป็นสิ่งที่บริโภคมาก แต่ก็ไม่ใช่อาหารที่พร้อมรับประทาน ต้องผ่านน้ำ ผ่านความร้อน สารตกค้างก็จะสลายไป
"ตามกระบวนการหุงข้าว ต้องผ่านการซาวน้ำ สารรม 2 ตัวนี้เป็นแก๊ซระเหยได้ เมื่อหุงสุกความร้อนจะกำจัดได้ทั้งหมด และเร็วๆ นี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคงจะให้ทำการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ" นางบุษรา กล่าว และว่า ตามปกติแล้วกรมวิชาการเกษตรไม่ค่อยมีการสุ่มเก็บข้าวสารมาตรวจสารพิษตกค้างจากการรมยา เนื่องจากมีการกำหนดอัตราการใช้อยู่แล้ว ดังนั้น หากใช้ในอัตราที่เหมาะสม ยืนยันว่าปลอดภัย และไม่เป็นพิษต้องมนุษย์ที่จะนำไปบริโภค
"ทั้งเมทิลโบรไมล์ และฟอสฟีนมีคุณสมบัติเป็นแก๊ซ ที่มีการตกค้างไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ตามหลักเมื่อรมเสร็จจะต้องเปิดกองทิ้งไว้ เพื่อให้มีการระบายอากาศ ดังนั้น ปริมาณสารตกค้างที่เหลือยู่จึงไม่เป็นภัยต่อผู้บริโภค อัตราการสะสมของสารรมยานั้นไม่เหมือนกับยาฆ่าแมลง ค่าความเป็นพิษต่อคน หากใช้อย่างปลอดภัยจะน้อยกว่านิโคติน น้อยกว่าควันบุหรี่เสียอีก"
นางบุษรา บอกด้วยว่า กระบวนการผลิตข้าวสารบรรจุถุงของไทยได้มาตรฐาน โรงงานบรรจุข้าวถุงได้มาตรฐานชั้นดีของโลก มีต่างชาติมาตรวจ มาศึกษากระบวนการผลิตบ่อยครั้ง ไทยมีมาตรฐานในการผลิตสูงที่สุดในอาเซียน ดังนั้น ผู้บริโภคเลือกซื้อข้าวได้ตามปกติ สามารถมองดูด้วยสายตาถึงความขาว การมีสิ่งเจอปนได้ ส่วนสารพิษตกค้าง แค่ผ่านการซาวข้าว และหุงด้วยความร้อนก็ไม่เหลือแล้ว ปลอดภัย มั่นใจได้
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่
'นักวิชาการเกษตร' ไขความกระจ่าง ปมสารตกค้างข้าวถุงไทย
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก เดลินิวส์