‘นักวิชาการเกษตร’ ไขความกระจ่าง ปมสารตกค้างข้าวถุงไทย
"ทุกวันนี้ เราเสี่ยงภัยจากสารตัวอื่น
ทั้งสารเร่งเนื้อแดง กระทั่งในยาบางชนิด
อย่านำข้าวไปโจมตี เอาไปรวมกับโครงการรับจำนำข้าว
เราเอาข้าวมาเล่นกันจนเสียหายมากแล้ว"
ท่ามกลางกระแสข่าวว่าด้วยเรื่อง... สารตกค้างจากการรมยาป้องกันมอด แมลงในข้าวสาร และคุณภาพข้าวบรรจุถุงในประเทศ ไล่เรียงมากระทั่งล่าสุดมูลนิธเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยผลการตรวจสารเคมีตกค้างในข้าวถุง และพบว่า มีบางตราสินค้าที่มี 'เมทิลโบรไมล์ (Methyl Bromide)' ซึ่งเป็นสารรมควันข้าว ตกค้างเกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และต้องการความชัดเจน
'สำนักข่าวอิศรา' ไขความกระจ่างประเด็นนี้จาก... นางบุษรา จันทร์แก้วมณี นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผู้ที่คลุกคลีในวงการตรวจมาตรฐานคุณภาพข้าวถุงมายาวนาน
• โดยปกติแล้วกรมวิชาการเกษตรมีหลักเกณฑ์การสุ่มตรวจสารพิษตกค้างอย่างไร?
ต้องบอกว่า ตามปกติแล้วกรมวิชาการเกษตรไม่ค่อยมีการสุ่มเก็บข้าวสารมาตรวจสารพิษตกค้างจากการรมยา เนื่องจากสารรมที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งเมทิลโบรไมล์ (Methyl Bromide) และสารฟอสฟิน (Phosphine) มีการกำหนดอัตราการใช้ ซึ่งเป็นข้อกำหนดของต่างประเทศที่ให้รมยาข้าวก่อนส่งออก เพื่อป้องกันแมลง ดังนั้น หากใช้ในอัตราที่เหมาะสม ต้องยืนยันว่า
"ไม่เคยพบพิษตกค้าง และต่างประเทศก็ไม่เคยแจ้งกลับมาว่า พบเช่นกัน"
"ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรจึงมีหน้าที่อบรมผู้ประกอบการเรื่องการรมยาให้ถูกวิธี ที่ต้องใช้ผ้าพลาสติกคลุมปิดสนิท และใช้ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งข้าวถุงที่ใช้บริโภคภายในประเทศก็มีมาตรฐานเดียวกันกับข้าวส่งออก และผลิตผลอื่นๆ ทางการเกษตร"
• กรณีที่พบว่า มีสารตกค้างเกินมาตรฐาน เป็นอันตรายหรือไม่ อย่างไรบ้าง?
"ยืนยันว่าปลอดภัย และไม่เป็นพิษต้องมนุษย์ที่จะนำไปบริโภค"
ทั้งเมทิลโบรไมล์ และฟอสฟิน มีคุณสมบัติเป็นแก๊ซ ที่มีการตกค้างไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์... ต้องเข้าใจก่อนว่า เวลารมยาไม่ว่าพืชใดก็ตามย่อมมีสารพิษตกค้างอยู่แล้ว แต่ตามหลักเมื่อรมเสร็จจะต้องเปิดกองทิ้งไว้ เพื่อให้มีการระบายอากาศ ดังนั้น ปริมาณสารตกค้างที่เหลือยู่จึงไม่เป็นภัยต่อผู้บริโภค
• หากบริโภคไปนานๆ สารพิษนี้มีการสะสมในร่างกายหรือไม่?
อัตราการสะสมของสารรมยานั้นไม่เหมือนกับยาฆ่าแมลง ค่าความเป็นพิษต่อคน หากใช้อย่างปลอดภัยจะน้อยกว่านิโคติน น้อยกว่าควันบุหรี่เสียอีก
"สารรมที่อยู่ในข้าวเทียบแล้วน้อยมาก หากเทียบกับไปนั่งข้างๆ คนสูบบุหรี่ ได้รับควันบุหรี่โดยตรง สารรมนั้นเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิต ฆ่าแมลงตาย ดังนั้น หากใช้ผิดก็มีโทษเหมือนยาฆ่าแมลง แต่หากใช้ในอัตราต่ำตามข้อกำหนด ใช้ถูกวิธีทั้งการปฏิบัติและอัตราที่ใช้ ระยะเวลาที่รม เมื่อพ้นสภาพรมก็ถือว่าปลอดภัย"
• แล้วมาตรฐาน อัตราที่ใช้ และระยะเวลาในการรมยามีข้อกำหนดเป็นอย่างไร?
"มาตรฐานในการรมยา ไม่มีการกำหนดตายตัว"
เป็นที่เข้าใจกันว่า... หากข้าว 100 ตัน ควรจะคลุมผ้าพลาสติก แล้วรมครั้งเดียวก็พอ หากเก็บรักษาแบบที่อากาศแลกเปลี่ยนได้ แม้จะเก็บไว้ 1 ปีข้าวก็ไม่เสียหาย หากไม่มีแมลง คุณภาพก็ดีอยู่
"ปัจจุบันที่มีการรมยาบ่อยครั้ง เนื่องจากมีการย้ายข้าว เพื่อนำไปบรรจุถุง เมื่อเปิดกองเจออากาศถ่ายเท เจอลม แมลงก็เข้าไปทำลายได้ จึงต้องรมยาใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะนับตามวงจรชีวิตของแมลง หรือประมาณ 60 วัน"
• สำหรับข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาล ที่ต้องเก็บในสต็อกเป็นเวลานานๆ มีหลักเกณฑ์เดียวกัน?
ข้าวเป็นพืชที่เก็บได้นาน หากจัดการแมลงได้ และเก็บอย่างเหมาะสมก็จะได้คุณภาพ สำหรับข้าวในโครงการรับจำนำที่เก็บไว้นานนั้น ตามกระบวนก็ต้องรมยาทุก 60 วัน นี่เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้มานาน ไม่ใช่เฉพาะช่วงนี้ที่มีข้าวในปริมาณมาก สารพิษตกค้าง พูดได้ว่าอาจมีการสะสมในปริมาณสูงขึ้น อย่างข้าวเก็บ 1 ปี อาจรม 5-6 ครั้ง สารที่ตกค้างก็ยังไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ รับประกันได้
"แม้จะมีข้าวที่เก็บรักษาเป็นระยะเวลานาน หรือมีการรม 5-6 ครั้งต่อปี ข้าวก็ยังมีคุณภาพดีอยู่ จริงๆ แล้วมีปัจจัยหลายประการที่เอื้อให้คุณภาพข้าวเลวลง เช่น ความชื้นของข้าว สภาพการเก็บรักษา คุณภาพของโกดังที่อาจกระทบต่อคุณภาพข้าว ไม่ได้เกี่ยวกับสารรมอย่างเดียว"
• แต่มาตรฐานการเก็บสินค้าของแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน คุณภาพที่ได้ก็ต่างกัน?
จริงที่มาตรฐานของแต่ละตราสินค้าไม่เท่ากัน เพราะการคุมมาตรฐานข้าวมีเกณฑ์หลายตัว และขึ้นอยู่กับต้นทุน ความสามารถในการจัดการของบริษัท แต่นับจากอดีตกระทั่งปัจจุบัน คิดว่ากระบวนการสีข้าว คัดแยก ขัดสีและทำความสะอาดข้าวพัฒนาขึ้นมาก แทบไม่พบแกลบ กรวดหรือข้าวที่มีสีแปลกปลอมในถุงที่ผ่านการบรรจุแล้ว
"ดิฉันทำงานเกี่ยวกับคุณภาพข้าวถุงมานาน ได้เห็นกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน โรงบรรจุข้าวถุงเราได้มาตรฐานชั้นดีของโลก มีต่างชาติมาตรวจ มาศึกษากระบวนการผลิตบ่อยครั้ง ไทยมีมาตรฐานในการผลิตสูงที่สุดในอาเซียน"
• กรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจพบว่า มีบางตราสินค้าที่มีสารตกค้างเกินมาตรฐานในระดับ 67 ppm
"ปริมาณการควบคุมที่ผ่านมาไม่เคยพบว่า เกิน ที่ตรวจพบว่า เกินก็ไม่แน่ชัดว่าใช้มาตรฐานห้องแล็บที่ไหน"
การตรวจพบระดับ 67 ppm นั้นสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 50 ppm แม้จะเคยตรวจพบเมทิลโบรไมล์ เกินมาตรฐานแต่ก็น่าจะเป็นข้าวที่ส่งออก หรือสุ่มตรวจที่ผู้ส่งออก
เพราะปัจจุบันสารนี้ "ใช้เฉพาะข้าวส่งออก" ส่วนข้าวที่บริโภคในประเทศจะใช้ฟอสฟีนก่อนที่จะบรรจุถุง
• ทำไมเราถึงใช้เมทิลโบรไมล์เฉพาะการส่งออก และฟอสฟีนกับข้าวในประเทศ ให้ผลต่างกันอย่างไร?
(ถอนหายใจ) นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก...
จริงๆ ยิ่งเรานำเสนอข่าวเรื่องนี้มากๆ วงการค้าข้าวในไทยจะมีความเสียหายอย่างยิ่ง
จริงๆ แล้ว ในปัจจุบัน 'สารเมทิลโบรไมล์' เป็นสารที่ทั่วโลกกำลังลด เลิกการใช้ เนื่องจากมีการพิสูจน์พบว่า... ทำให้ชั้นโอโซนโหว่ จึงใช้เฉพาะในการส่งออก เพื่อควบคุมแมลงก่อนนำเข้าแต่ละประเทศเท่านั้น
ถามว่าทำไมยังใช้อยู่ได้ เพราะเมทิลโบรไมล์นั้นรมเพียงหนเดียว แต่ฟอสฟีนต้องใช้ระยะเวลารม 5-7 วัน จึงไม่คุ้มทุน หากผู้ค้าข้าวในการส่งออกต้องจ่ายค่าท่าเรือถึง 7 วัน
• หากเป็นเช่นนั้น ทำไมถึงตรวจพบเมทิลโบรไมล์กับข้าวบรรจุถุงในประเทศ?
เรามีการควบคุมการใช้สารนี้เพื่อส่งออก และกักกันศัตรูพืชเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ทั่วไป ฉะนั้น องค์การคลังสินค้า (อคส.) จะให้ใช้ฟอสฟีน
ก็งงเหมือนกันว่า ทำไมถึงตรวจสอบพบสารเมทิลโบรไมล์จากข้าวถุงภายในประเทศ !!
เพราะเมทิลโบรไมล์ราคาสูงกว่าฟอสฟีน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว ยกเว้นจะเป็นผู้ส่งออกด้วย หรือข้าวล็อตนั้นเป็นล็อตเดียวกับข้าวส่งออก
"ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกหน่อยต่างประเทศจะมองว่า ไทยทำผิดสัญญา นำเมทิลโบรไมล์มาใช้กับข้าวในประเทศ"
• สรุปว่า 67 ppm ที่เกินมาตรฐานนั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่?
ตัวเลข 67 ppm นั้นสูงกว่ามาตรฐานเพียงนิดเดียว พืชบางชนิดให้ถึง 100 ppm แต่นื่องจากข้าวเป็นสิ่งที่บริโภคมาก แต่ก็ไม่ใช่อาหารที่พร้อมรับประทาน ต้องผ่านน้ำ ผ่านความร้อน สารตกค้างก็จะสลายไป
"ตามกระบวนการหุงข้าว ต้องผ่านการซาวน้ำ สารรม 2 ตัวนี้เป็นแก๊ซระเหยได้ เมื่อหุงสุกความร้อนจะกำจัดได้ทั้งหมด และเร็วๆ นี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคงจะให้ทำการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ"
จริงๆ แล้วทุกวันนี้ เราเสี่ยงภัยจากสารตัวอื่นอีกมากมาย ทั้งสารเร่งเนื้อแดง และกระทั่งในยาบางชนิดที่มีความเสี่ยงอาหารเป็นพิษมากกว่าสาร 2 ตัวนี้ ซึ่งที่ผ่านมาปลอดภัยดีอยู่แล้ว... อย่านำข้าวไปโจมตี และเอาไปรวมกับโครงการรับจำนำข้าว เราเอาข้าวมาเล่นกันจนเสียหายมากแล้ว
• จะเรียกคืนความมั่นใจจากผู้บริโภคได้อย่างไร?
กรมวิชาการเกษตร สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะดำเนินงานสร้างความมั่นใจและพิสูจน์แน่นอน แต่ด้วยประสบการณ์ยืนยันว่า ข้าวถุงไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้บริโภค !!
• แล้วข้าวเน่าที่ชาวบ้านนำมาเผยแพร่ จะเป็นไปได้ด้วยสาเหตุใดบ้าง?
อาจเป็นไปได้จากกระบวนการเก็บรักษา ซึ่งก็มีมาช้านาน และเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่หากเก็บในสภาพไม่เหมาะสมก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับการเก็บรักษาผัก หรือปลาสด ซึ่งการเก็บรักษาข้าวสารต้องแห้ง มีความชื้นต่ำ หากมาตรฐานไม่ดีก็เสียหายได้
• การสุ่มตรวจพบครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่มาตรฐานอาจไม่ถึงกำหนด หรือการตรวจคุมไม่ทั่วถึง
ก็เป็นไปได้ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่จรรยาบรรณผู้ผลิตสินค้า เจตนาของผู้ผลิตว่าต้องการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคคงไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะตนเองจะอยู่ต่อไม่ได้ ผู้บริโภคเลือกเป็น
"ภาครัฐตามควบคุมดูแลกำกับอยู่แล้ว แต่บางทีอาจมีเล็ดลอดได้ เหมือนตำรวจจับขโมย แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตั้งใจและมีมาตรฐานในการผลิข้าวถงที่ดีมาก"
• จากนี้ผู้บริโภคควรระวังอะไรเป็นพิเศษ หรือเลือกซื้อข้าวอย่างไร?
ผู้บริโภคเลือกซื้อข้าวได้ตามปกติ สามารถมองดูด้วยสายตาถึงความขาว การมีสิ่งเจอปนได้ ส่วนสารพิษตกค้าง แค่ผ่านการซาวข้าว และหุงด้วยความร้อนก็ไม่เหลือแล้ว ปลอดภัย มั่นใจได้ ....
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก เดลินิวส์