ตำรวจไทยยิงตัวตายถี่ ปัตตานีลบอีก 1 "บิ๊กแป๊ะ"สั่งแก้ด่วน
ตำรวจปัตตานียิงตัวตายบนโรงพักราตาปันยัง คาดสาเหตุเพราะปมปัญหาส่วนตัว ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมสีกากีกระทำอัตวินิบาตกรรมถี่ยิบ โดยเฉพาะสายงานสอบสวน
เหตุตำรวจยิงตัวตายรายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 25 ก.ย.62 คือ ส.ต.ท.ชาตรี ฮะปาน อายุ 32 ปี เจ้าหน้าที่การเงิน สภ.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยเจ้าตัวใช้อาวุธปืนประจำกายจ่อขมับยิงตัวเองจนอาการสาหัสขณะปฏิบัติหน้าที่บนโรงพัก เพื่อนตำรวจช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลยะหริ่ง แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา
จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ ส.ต.ท.ชาตรี เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่บนโรงพักตามปกติ และได้ทักทายเพื่อนตำรวจด้วยกันโดยไม่มีอาการเครียดให้เห็น และเพื่อนทุกคนก็ไม่คิดว่า ส.ต.ท.ชาตรี จะยิงตัวเอง เพราะที่ผ่านมา ส.ต.ท.ชาตรี เองก็ไม่เคยเล่าเรื่องปัญหาส่วนตัวให้ใครฟัง และไม่มีปัญหาเรื่องงาน แต่ปรากฏว่า ขณะที่ ส.ต.ท.ชาตรี นั่งอยู่ในห้องทำงานตามลำพัง เพื่อนตำรวจได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด เพื่อนๆ จึงรีบวิ่งไปดูและพบว่า ส.ต.ท.ชาตรี ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงตัวเองจนเสียชีวิตในที่สุด เบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากปัญหาส่วนตัว
ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมามีตำรวจฆ่าตัวตายแล้วถึง 4 นาย ประกอบด้วย ร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.มาบอำมฤต จ.ชุมพร ร.ต.อ.สุรศักดิ์ สุวรรณศักดิ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ร.ต.อ.ทรงศักดิ์ ใจฉกรรจ์ รองสารวัตรปราบปราม สภ.เมืองสิงห์บุรี ซึ่งกำลังอบรมหลักสูตรวิชาชีพงานสอบสวน และ ร.ต.อ.สุพจน์ สุขเกษม รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจที่ตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมทั้งหมด เป็นสายสอบสวน หรือกำลังจะต้องย้ายไปอยู่สายสอบสวน ยกเว้น ส.ต.ท.ชาตรี ที่ปัตตานีเท่านั้นที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงเรื่องนี้ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ฝากแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตทุกนาย และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตำรวจสายสอบสวนเป็นส่วนใหญ่นั้น จึงได้มีการสำรวจอัตรากำลังของพนักงานสอบสวน พบว่ามีอัตราพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 17,500 ราย แบ่งเป็นพนักงานสอบสวนชาย 11,000 ราย พนักงานสอบสวนหญิง 550 ราย มีตำแหน่งที่ว่าง 5,900 กว่าอัตรา
สำหรับปัญหาของพนักงานสอบสวนที่เกิดขึ้น อาจเป็นเรื่องปริมาณงานที่ล้นมือ หรือการแต่งตั้งที่ผิดฝาผิดตัว ย้ายบุคคลที่ไม่มีความชำนาญไปปฏิบัติหน้าที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ จึงสั่งการไปยัง พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และได้กำหนดกรอบการแก้ไขปัญหาออกเป็น 3 มิติ คือ
1.การแต่งตั้งในรอบรองผู้บังคับการ ถึงสารวัตร (รองผบก.-สว.) วาระประจำปี 2562 ที่จะถึงนี้ จะเปิดโอกาสให้ข้าราชการตำรวจที่มีความประสงค์ขอย้ายกลับภูมิลำเนา หรือขอย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตนเองคิดว่าน่าจะมีความถนัดมากกว่า สามารถทำเรื่องสมัครใจขอย้ายได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาในลำดับต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตำรวจทุกคนที่ขอมาจะได้รับการตอบสนองทุกคน เพราะผู้บังคับบัญชาต้องดูอัตราส่วนที่มีความเหมาะสมด้วย
2.มีการสำรวจผู้ที่จบนักเรียนนายร้อยตำรวจ หรือผู้ที่จบปริญญาตรีที่มีคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย สามารถไปดำรงตำแหน่งที่ทำหน้าที่สอบสวนได้ โดยจะมีการสอบถามความสมัครใจ เพื่อแต่งตั้งไปลงตำแหน่งเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาทราบว่าการสอบสวนเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะฉะนั้นจะมีการแต่งตั้งเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด
และ 3.การเพิ่มเจ้าหน้าที่ธุรการทางคดี หรือผู้ช่วยพนักงานสอบสวน เพื่อช่วยงานพนักงานสอบสวน
สำหรับการกำหนดเงินค่าตำแหน่งที่ทำหน้าที่สอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ตามที่พึงมีพึงได้ การกำหนดเงินเพิ่ม สำหรับรองสารวัตร ได้รับเพิ่ม 12,000 บาท ตำแหน่งสารวัตรได้รับ 14,400 บาท ตำแหน่งรองผู้กำกับการ ได้เงินเพิ่ม 17,300 บาท ตำแหน่งผู้กำกับการ ได้เงินเพิ่ม 20,800 บาท ตำแหน่งรองผู้บังคับการ ได้เงินเพิ่ม 25,000 บาท ก็ถือว่าเป็นเงินเพิ่มผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสายสอบสวนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ส่วนสาเหตุการทำอัตวินิบากรรมของพนักงานสอบสวนที่เกิดขึ้นนั้น หากบอกว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในสายงานสอบสวนเป็นปัจจัยหลักก็คงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด เพราะมีนายตำรวจหลายคนที่เคยผ่านงานสอบสวนมาก็บอกว่าไม่ได้แย่อย่างที่คิด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเวลาของตนเอง บางรายอาจจะมีโรคประจำตัวโรคซึมเศร้า หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาส่วนตัวได้ จึงต้องให้ผู้ใกล้ชิด รวมถึงผู้บังคับบัญชาคอยดูแลในลักษณะพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิดด้วย
กรณีการยุบแท่งพนักงานสอบสวนทำให้เกิดปัญหาหรือไม่นั้น พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การขยายงานสายหนึ่ง และยุบงานสายหนึ่ง ถือเป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชาในยุคนั้นๆ คงมีการผ่านกระบวนการ ผ่านการกลั่นกรองมาพอสมควรแล้ว จึงตกผลึกว่าในยุคใด ห้วงเวลาใดมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
คำชี้แจงของ พ.ต.อ.กฤษณะ ในฐานะตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นไปที่ปัญหาพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการยุบแท่งสายงานนี้ในรัฐบาล คสช.
ก่อนหน้านั้นมีการสร้างแท่งพนักงานสอบสวนขึ้นมา และมีค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อให้เกิดการเลื่อนไหล เติบโตในสายงานตัวเอง เพื่อความภาคภูมิใจและมีขวัญกำลังใจในการทำงาน เนื่องจากแต่เดิมสายงานสอบสวนเป็นสายงานที่ไม่ค่อยมีตำรวจคนใดอยากไปทำ เพราะไม่มีค่าตอบแทนพิเศษ และมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบมาก การทำสำนวนการสอบสวนคดีหนึ่ง ต้องตามต่อเนื่องจนจบคดี ต้องขึ้นศาล แม้จะย้ายจากพื้นที่นั้นไปแล้ว ก็ต้องเดินทางกลับมาขึ้นศาล เงินค่าเดินทางหรือเบี้ยเลี้ยงก็ไม่มี หรือมีน้อยมาก ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องกลับ และถูกกดดันทั้งฝ่ายผู้ต้องหาและผู้เสียหาย ทำให้สายงานสอบสวนขาดแคลนกำลังพลอย่างมาก จนต้องสร้างแท่งพนักงานสอบสวนขึ้นมา
แต่เมื่อรัฐบาล คสช.ยุบสายงานนี้ ทำให้มีการย้ายนายตำรวจที่เชี่ยวชาญงานสอบสวนไปอยู่สายงานอื่น ส่งผลให้ค่าตอบแทนลดลง บางคนผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ก็ทำให้เงินขาดมือ จนคิดสั้น ขณะเดียวกันก็มีการย้ายตำรวจจากสายงานอื่นเข้ามากินตำแหน่ง มาครองยศ แล้วก็ขยับออกไป ทำให้สายงานสอบสวนยิ่งมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นพนักงานสอบสวนที่ทำงานจริงๆ ไม่ได้ย้ายมากินตำแหน่ง จนเกิดความเครียด และน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตาย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กำลังพลของตำรวจมีปัญหากระทำอัตวินิบาตกรรมจำนวนมาก ถึงขั้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเปิดโทรศัพท์สายด่วน ให้ตำรวจที่ปัญหาชีวิตโทรปรึกษา หรือระบายความทุกข์ ก่อนจะคิดสั้น
ส่วนกำลังพลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีปัญหาความเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบเพิ่มขึ้นมา โดยในช่วงหลายปีก่อน มีกำลังพลยิงกันเอง และยิงตัวเองเสียชีวิตบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงปี 2550-2555 ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างตึงเครียด แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่กระทำอัตวินิบาตกรรมมักเป็นทหาร หรือทหารพราน บางปีมีกรณียิงกันเองและฆ่าตัวตายมากกว่า 10 กรณี แต่ระยะหลังปัญหาเบาบางลงไป แต่ก็ยังมีอยู่บ้างประปราย
----------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ สภ.ราตาปันยัง จากเฟซบุ๊คของ สภ.
อ่านประกอบ : เครียดไฟใต้-ห่างบ้าน-ยาเสพติด... 3ปัญหากำลังพลปลายด้ามขวาน