เครียดไฟใต้-ห่างบ้าน-ยาเสพติด... 3ปัญหากำลังพลปลายด้ามขวาน
เหตุการณ์ซุ่มโจมตีทหารพราน สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 2207 (ร้อย ทพ.2207) หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เมื่อตอนตี 4 ครึ่งของวันอังคารที่ 28 พ.ค. จนทำให้กำลังพลเสียชีวิต 2 นาย ซึ่งภายหลังกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ เพราะไม่ได้ถูกคนร้ายที่ไหนซุ่มยิง แต่เป็นกำลังพลยิงกันเองนั้น นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงปัญหาของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งนับวันจะวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ
กรณีกำลังพลยิงกันเองหรือยิงตัวตายที่สมรภูมิปลายด้ามขวานนั้น จริงๆ แล้วเกิดขึ้นเนืองๆ ทว่าแต่ละครั้งมักไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว เฉพาะปีนี้เท่าที่มีข่าวเล็ดรอดออกมา ก็คือกรณีทหารยิงตัวเองเสียชีวิตที่ จ.นราธิวาส 1 กรณีเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา และล่าสุดคือกรณีทหารพรานที่ อ.แม่ลาน
แต่หากย้อนกลับไป โดยเฉพาะปี 2554 จะพบว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเหตุสลดครั้งใหญ่เมื่อ 14 ก.ย.2554 เมื่อ พลทหารรุสลาม มอและ อายุ 22 ปี สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 เกิดอาการคลุ้มคลั่งขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรยามอยู่ในฐานปฏิบัติการที่บ้านจำปากอ หมู่ 1 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ประจำกายบุกยิงผู้บังคับบัญชายศพันจ่าเอกและจ่าเอกถึงในห้องทำงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 นาย บาดเจ็บอีก 3 นาย จากนั้นเจ้าตัวก็ถูกยิงจนเสียชีวิตตามไปด้วย
ระหว่างปลายเดือน ก.ค.ถึงกลางเดือน ก.ย.2554 ห้วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน เกิดกรณีกำลังพลยิงกันเอง หรือใช้อาวุธปืนประจำกายยิงผู้อื่นถึง 3 กรณี ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการทหาร เผยว่า เฉพาะปี 2554 มีกรณีลักษณะนี้กว่า 10 กรณี เป็นคดีที่ขึ้นศาลทหาร และสถิติคดีประเภทนี้ในแต่ละปีมีจำนวนค่อนข้างน่าตกใจ
หลังเกิดเหตุมักมีคำอธิบายทำนองว่า เป็นเพราะความเครียดของกำลังพลที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดัน ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง แต่จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ พบว่าความเครียดจากสถานการณ์ไม่น่าจะเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้กำลังพลเลือกใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนร่วมอาชีพหรือฆ่าตัวเอง แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น
- ทันทีที่เกิดเหตุรุนแรงรายวัน มักมีการให้ข่าวของหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยอ้างว่าเป็นการกระทำของแกนนำคนนั้นคนนี้ พร้อมระบุชื่อ ซึ่งแม้จะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่จริงๆ ได้ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ เพราะแกนนำบางคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่นานแล้ว และไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อมีข่าวออกไปอย่างครึกโครมก็ทำให้ญาติพี่น้องเกิดความโกรธแค้น และพุ่งเป้าตอบโต้เอาคืนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ สร้างแรงกดดันต่อสถานการณ์มากขึ้นไปอีก
- กฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อควบคุมกำลังพลไม่ให้ผิดพลาดทางยุทธวิธีหลังตกเป็นเป้าโจมตีบ่อยครั้ง เช่น ห้ามรับโทรศัพท์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองครู หรือ รปภ.สถานที่สำคัญ ทำให้กำลังพลเครียด เพราะเวลาคนทางบ้านหรือคนรักโทรหาก็ไม่สามารถรับสายได้ หลายครั้งเป็นกรณีภรรยาคลอดลูก พ่อแม่ป่วย หรือแม้แต่วันเกิดของคนรัก เมื่อไม่ได้รับสายก็ทำให้ทะเลาะกัน เป็นปัญหาตามมา และกลายเป็นความเครียดสะสม
- กฎเหล็กของผู้บังคับบัญชาที่ห้ามกำลังพลคบหากับผู้หญิงในพื้นที่ โดยเฉพาะสาวมุสลิม แต่หลายรายก็มีปฏิสัมพันธ์และรักใคร่ชอบพอกัน เมื่อถูกคำสั่งห้ามก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ฝ่ายหญิงจะเข้าไปเยี่ยมหรือไปหาที่ฐานปฏิบัติการก็ไม่ได้ ทำให้เกิดความกดดัน
- ทหารแต่ละคนมาจากต่างพื้นที่ ต่างภูมิลำเนา และต่างวัฒนธรรม ทำให้คิดถึงบ้าน ประกอบกับเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น หรืออ่านข่าวทางสื่อต่างๆ แล้วมีการนำมาวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงกันไปมา หลายครั้งทำให้เกิดการกระทบกระทั่งจนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกัน
และล่าสุดที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆ หน่วย คือเรื่องเสพยาเสพติด กับอาวุธปืนสูญหาย ส่งผลให้มีความขัดแย้งภายในหน่วย เมื่อผู้บังคับบัญชาตรวจพบก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบ ทำให้เกิดความเครียดและกลัวถูกลงโทษ
ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว (ระดับอำเภอ) ยอมรับว่า ปัญหาการเสพยาเสพติดในหมู่กำลังพลบางกลุ่มกำลังเป็นปัญหาใหญ่มาก และแทบทุกหน่วยก็เจอปัญหานี้ ส่วนใหญ่เกิดจากกำลังพลมีพฤติการณ์เสพยามาก่อนที่จะเข้ามาเป็นทหาร เมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถเลิกเสพได้
พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาที่เกิดคู่กับวัยรุ่นในสังคม และกองทัพก็รับวัยรุ่นเหล่านี้มาเป็นทหาร ทำให้กำลังพลบางส่วนมีพฤติการณ์ใช้ยาเสพติดจริง
"ส่วนใหญ่เป็นพฤติการณ์ที่มีมาตั้งแต่ก่อนเป็นทหาร พลทหารส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ก็เคยผ่านเคยใช้ยาเสพติดมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่กองทัพตระหนักดีและสั่งให้กวดขันดูแลอย่างเข้มงวด หากพบจะถูกลงโทษทางวินัยทันที"
พล.ท.สกล กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาความเครียดสะสมของกำลังพลจนทำให้เกิดปัญหาใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนร่วมงานหรือฆ่าตัวเองนั้น เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในทุกสนามรบ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาก ได้สั่งการลงมาให้ผู้บังคับหน่วยดูแลสภาพจิตใจของกำลังพลอย่างใกล้ชิด ให้สังเกตอาการกำลังพล หากพบว่าใครมีปัญหาหรือส่อว่าจะมีปัญหา ให้ส่งกลับไปส่วนหลังเพื่อฟื้นฟูทันที
"มาตรการพิเศษที่ผู้บังคับบัญชาเน้นย้ำ คือการสังเกตอาการและส่งกลับไปฟื้นฟู ส่วนมาตรการปกติที่ปฏิบัติกันมาตลอดคือการจัดเวรผลัดพัก ยังไม่ถึงขั้นส่งนักจิตวิทยาเข้าไปดูแล ซึ่งที่ผ่านมาก็พบปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แม้จะไม่มาก แต่ในความรู้สึกของผู้บังคับบัญชาแค่ 1-2 กรณีก็ไม่อยากให้เกิด" แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
ด้านความรู้สึกของกำลังพล อย่างทหารพรานหญิงรายหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เล่าว่า ส่วนใหญ่กำลังพลที่ปฏิบัติงานในสามจังหวัดจะเครียดกับปัญหาครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องคนรัก เพราะบางคนต้องจากบ้านหรือคนรักมานาน จึงรู้สึกคิดถึง ว้าเหว่ บางรายคิดมากจนเกิดความหวาดระแวง เพราะกลัวว่าคนรักจะตีจาก จุดนี้ทำให้เกิดความเครียดค่อนข้างมาก
ส่วนเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างแรงกดดัน โดยเฉพาะเวลามีข่าวความรุนแรงที่ก่อความสูญเสียกับชีวิตกำลังพลพร้อมกันหลายๆ นาย ก็จะทำให้เครียดและเสียขวัญ
"ผู้บังคับบัญชาก็มีวิธีแก้ ด้วยการเรียกทุกคนมาพูดคุยปลอบขวัญและให้กำลังใจ สำหรับหน่วยที่ประจำการอยู่จะให้เพื่อนร่วมงานคอยสังเกตพฤติกรรมกันและกัน หากใครเริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เพื่อนๆ ก็ต้องรีบเข้าไปพูดคุยให้คำปรึกษา พร้อมแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ" ทหารพรานหญิงจาก อ.สุคิริน กล่าว
สำหรับผลัดพักของทหารในพื้นที่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยกำหนด เช่น ทำงาน 20 วันพัก 7 วัน หรือทำงานยาว 45 วัน หยุด 15 วัน ส่วนคนที่บ้านอยู่ไกล ก็จะเพิ่มวันหยุดให้อีก 2 วันให้ครอบคลุมวันเดินทางไป-กลับด้วย
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพจิตใจของกำลังพล ได้พยายามประสานกับหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ว่าหากมีกรณีไหนต้องการความช่วยเหลือก็ให้ประสานมาได้ทุกเวลา เพราะทางศูนย์ฯไม่สามารถเข้าไปตรวจได้โดยพลการ ต้องให้ทางหน่วยแจ้งมา หรือได้รับความยินยอมจากทางหน่วยก่อน
"ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงตัวตายหรือยิงกันเองหลายกรณีมาก ได้เข้าไปเยี่ยมกรณีของตำรวจคนหนึ่งที่ยิงตัวตาย พบว่าเขาพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งแล้ว แต่เพื่อนร่วมงานไม่รู้เรื่อง จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ"
หมอเพชรดาว กล่าวต่อว่า มีคำแนะนำ 2 ประการ คือ 1.ต้นสังกัดต้องคัดกรองความเครียดเบื้องต้นก่อนรับกำลังพลเข้าทำงาน และดูแลอย่างต่อเนื่องเมื่อรับเข้ามาทำงานแล้ว โดยต้องประเมินสภาพจิตใจเป็นระยะๆ และ 2.ให้ความรู้กับกำลังพล แล้วให้กำลังพลดูแลสังเกตพฤติกรรมกันเอง หากใครเริ่มซึมเศร้าหรือมีอาการไม่ปกติ ต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะความเครียดนำไปสู่ความซึมเศร้าและฆ่าตัวตายได้ตลอดเวลา หรือเมื่อความเครียดระเบิดออกก็อาจเป็นเพื่อนร่วมงานที่ถูกลูกหลงไปด้วยเหมือนกรณีทหารพรานที่ยิงกันเองล่าสุด
"หน่วยเฉพาะกิจยะลาเคยเชิญหมอไปประเมินเจ้าหน้าที่ประมาณ 50-60 คน พบว่าควรส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล แต่เป็นเรื่องที่หมอไปทำเองไม่ได้ หน่วยงานต้องประสานงานพาไปต่อ ซึ่งหน่วยทหารก็เหมือน ท.ทหารอดทน ที่ห้ามแสดงอาการอ่อนแอให้คนอื่นเห็น ได้คุยกับแม่ทัพหลายคนในเรื่องนี้ซึ่งท่านบอกว่ายินดี แต่ไม่มีการประสานงานต่อ บอกว่ามีโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) และโรงพยาบาลทหารค่ายอื่นอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการรับทหารที่ได้รับบาดเจ็บทางกาย ส่วนทางตำรวจก็ยอมรับว่ามีบุคลากรด้านจิตวิทยาค่อนข้างน้อย จิตแพทย์ของตำรวจเองที่ลงมาก็ทำงานไม่ทัน นี่คือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน" หมอเพชรดาว กล่าวในที่สุด