เตรียมกำลัง ตร.ครึ่งหมื่นคุมชายแดนใต้หลังทยอยเลิก พ.ร.ก.
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นำทีมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. โดยมีวาระสำคัญคือส่งมอบภารกิจดูแลพื้นที่ให้ "ฝ่ายตำรวจ" มีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม โดยจัดเตรียมกำลังเอาไว้เกือบ 5,000 นาย หลังมีคำสั่งให้ปลดล็อค ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มขึ้่นอีก 1 อำเภอ ที่สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
รัฐบาล คสช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบคิดที่ว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปก็ตาม โดยเฉพาะการสังหารหมู่ 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ล่าสุดในการ คปต.เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มิ.ย.61 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนอัตรากำลังพลของตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือ นปพ. และตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รวม 4,700 อัตรา ให้มีความพร้อมรักษาความปลอดภัยพื้นที่ในอนาคต
มีรายงานว่า การค่อยๆ ถ่ายโอนภารกิจรักษาความปลอดภัยพื้นที่ให้กับตำรวจ ทั้ง นปพ. และ ตชด. เป็นไปตามแผนการลดการใช้กำลังทหาร หลังจากรัฐบาลได้ปรับลดพื้นที่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส หลังจากก่อนหน้านี้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว 1 อำเภอในรัฐบาลชุดนี้ คือ อ.เบตง จ.ยะลา
ล่าสุดภาพรวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี รวมทั้งสิ้น 37 อำเภอ ซึ่งมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมาตลอด 14 ปีนั้น รัฐบาลได้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 7 อำเภอ คือ 4 อำเภอของ จ.สงขลา อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และล่าสุดคือ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยให้ใช้กฎหมายความมั่นคง หรือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งมีดีกรีอ่อนกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแทน ทำให้เหลือพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในขณะนี้ 30 อำเภอ
ที่ผ่านมา พื้นที่ใดที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะใช้ตำรวจเป็น "หน่วยนำ" ในการควบคุมพื้นที่แทนทหาร ซึ่งเลขาธิการ สมช. บอกว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไป หากพื้นที่ไหนที่สถิติเหตุรุนแรงลดน้อยลง และประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น ก็จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม
พล.อ.วัลลภ บอกอีกว่า ที่ประชุม คปต.ยังเน้นย้ำเรื่องการใช้งบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ โดยให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ เน้นความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถตรวจสอบได้
ด้านความเคลื่อนไหวในพื้นที่หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มีข่าวดีของฝ่ายความมั่นคง คือ มีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งเกี่ยวพันกับการก่อเหตุรุนแรง ยอมเข้ามอบตัวกับ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เพิ่มอีก 3 คน โดยนำระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนัก 20 กิโลกรัม พร้อมอาวุธปืนเอ็ม 16 และกระสุนปืนมอบให้แม่ทัพด้วย จากนั้นได้พาแม่ทัพไปชี้จุดซุกซ่อนระเบิดแสวงเครื่อง น้ำหนักดินระเบิดถึง 80 กิโลกรัม ที่อ้างว่าเตรียมใช้ก่อเหตุหลังเทศกาลฮารีรายอ หรือเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน โดยซุกซ่อนอยู่บนภูเขาในเขต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ปรากฏว่าพบระเบิดแสวงเครื่องจริงตามที่แจ้งข้อมูล แถมยังต่อระบบจุดชนวนไว้ถึง 4 แบบพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันการตัดสัญญาณของเจ้าหน้าที่ด้วย
----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการ สมช.
2 แม่ทัพภาคที่ 4 รุดตรวจวัตถุ่ระเบิดแสวงเครื่องที่ผู้เห็นต่างจากรัฐชี้เป้า
อ่านประกอบ : รอบที่ 50! ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯชายแดนใต้ - กอ.รมน.ลดอัตรากำลัง