รอบที่ 50! ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯชายแดนใต้ - กอ.รมน.ลดอัตรากำลัง
มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับชายแดนใต้ที่สมัยก่อนเคยเป็นข่าวใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้แทบไม่มีข่าวปรากฏตามหน้าสื่อ นั่นก็คือการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศใช้เมื่อเดือน ก.ค.48 ในรัฐบาล อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2495 และใช้พระราชกำหนดฉบับนี้แทน สาระสำคัญเป็นการให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีเงื่อนไขให้ประกาศเป็นขอบเขตพื้นที่ และมีกรอบเวลาประกาศได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน หากสถานการณ์ฉุกเฉินยังไม่ยุติลง ก็ให้ต่ออายุหรือขยายเวลาประกาศออกไปอีกคราวละไม่เกิน 3 เดือน
ห้วงเวลาที่รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ตรากฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ เป็นช่วงที่สถานการณ์ชายแดนใต้อยู่ในระดับวิกฤติ เกิดเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และมีการก่อเหตุในลักษณะ "ดับเมือง" คือทำลายหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อให้พื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองมืดมิด จากนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบก็ออกปฏิบัติการ ทั้งยิง ทั้งวางระเบิดคราวละหลายสิบจุดพร้อมกัน ถือเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลในขณะนั้นมองว่ายากจะรับมือ จึงตัดสินใจใช้อำนาจของฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศใช้พื้นที่แรก คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 33 อำเภอ
ต่อมาในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เพื่อให้เป็นอำเภอนำร่องในการยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ตามกระแสเรียกร้องของประชาชนปลายด้ามขวาน แล้วหันไปใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งมีดีกรีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่าแทน
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่ออายุ-ขยายเวลามาตั้งแต่ปลายปี 48 กระทั่งปัจจุบัน จากการประเมินสถานการณ์ของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. ซึ่งเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยปัจจุบันประธาน กบฉ. คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค.60 พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานการประชุม กบฉ. และเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน ออกไปอีก 3 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.60 ถึง 19 มี.ค.61 เพื่อใช้เป็นเครี่องมือของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งสามารถสนับสนุนการพัฒนางานต่างๆ ในพื้นที่ โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 19 ธ.ค.นี้
การต่ออายุ-ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเที่ยวล่าสุด นับเป็นครั้งที่ 50 แล้ว นับจากเริ่มประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ค.48
ความพยายามยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีกระแสมาตลอด เพราะหลายฝ่ายตรงกันว่า "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่ต้องใช้ "กฎหมายพิเศษ" ในการแก้ไขปัญหา น่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ไม่ใช่ฉุกเฉินยืดเยื้อข้ามปี หรือหลายๆ ปี ขณะเดียวกันการบังคับใช้มาตรการเข้มข้นตามที่กฎหมายพิเศษให้อำนาจ ก็มีผลลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) บอกว่า ที่ประชุม กบฉ.ได้หารือถึงการเตรียมปรับลดพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยปฏิบัติอื่นๆ จะเป็นผู้พิจารณา โดยรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วยว่า เห็นควรมีพื้นที่ใดที่จะปรับลดเพิ่มเติม นอกเหนือจาก อ.แม่ลาน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ให้นโยบายว่าควรนำปัจจัยชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ มาประเมินร่วมด้วย
กฎหมายพิเศษที่ใช้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ยังมี พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ด้วย โดยรัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เป็นพื้นที่รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ตั้งแต่ปี 52 ภายหลังยังเพิ่ม อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อีก 1 อำเภอ หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สำหรับการบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่และกรอบเวลาเช่นกัน คือคราวละไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลก็เพิ่งอนุมัติต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี จนถูกเข้าผิดว่าเป็นผลจากการสลายการชุมนุมม็อบต้านโรงไฟฟ้าเทพา
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ธ.ค. ได้มีการประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเช่นกัน ภายหลังการประชุม พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน แถลงว่า คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้พิจารณาอนุมัติ "โครงสร้างการจัดและอัตรากำลัง" ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ประจำปี 2561 ซึ่งรับผิดชอบภารกิจการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีโครงสร้างการจัดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่
มติที่ประขุมอนุมัติให้มีการอัตรากำลังในภาพรวมลดลง จำนวน 3,057 คน คงเหลือกำลังฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร จำนวน 58,547 คน
นอกจากนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กอ.รมน.เป็นที่เชื่อมั่นเชื่อถือของประชาชนทุกภาคส่วน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้อนุมัติให้จัดตั้ง "สำนักจเร กอ.รมน." ขึ้นมา มีหน้าที่ตรวจ ประเมินผล และสอบสวนอย่างเป็นอิสระในการปฏิบัติราชการและการดำเนินการโครงการต่างๆ ของส่วนราชการใน กอ.รมน. รวมถึงสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการร้องทุกข์ร้องเรียนตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายด้วย
ส่วนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พ.ย.60 ซึ่งอนุมัติให้ 4 อำเภอของจ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี กับ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.60 ถึง 30 พ.ย.61 ระยะเวลา 1 ปีนั้น คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้พิจารณาอนุมัติ "แผนปฏิบัติการสงขลา 61" และ "แผนปฏิบัติการอำเภอแม่ลาน 61" เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เป็นไปตามนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความปลอดภัย รวมทั้งประชาชนมีความเชื่อมั่นและมีส่วนร่วมเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ตราสัญลักษณ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต
อ่านประกอบ :
แก้กฎหมาย กอ.รมน. เปิดทางกองทัพคุมประเทศ?
"สุรชาติ" วิพากษ์ติดดาบ กอ.รมน. เครื่องมือกองทัพในสงครามการเมือง!