บันทึกครูใต้ในวันครูปี 61 สูญเสีย 184 ชีวิตกับอีก 2 เรื่องที่อยากขอ...
"ครูคือเป้าหมาย ตัวเลขครูที่สูญเสีย 184 คน ทำให้ความทุกข์ทน กังวล ความกลัว เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดตลอด 14 ปีไฟใต้"
นี่คือสถานการณ์ "ครู" ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน "วันครู" ประจำปี 2561 ผ่านการบอกเล่าของ บุญสม ทองศรีพราย อดีตประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันยกระดับเป็น "สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยรวมเอาพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เป็นรอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และมีปัญหาความมั่นคงคล้ายๆ กัน เข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบด้วย เพื่อเป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการของครู
นับเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเดินสู่เป้าหมาย คือการดูแลครูในพื้นที่ทุกมิติ และปัจจุบัน บุญสม ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสมาพันธ์ฯ
งานด้านหนึ่งที่สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำมาตลอด คือเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติ ตัวเลข และประวัติครูที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง นับถึงปัจจุบัน 14 ปีไฟใต้คร่าชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษาไปแล้ว 184 ราย ในจำนวนนี้เป็นการเข้าไปยิงในโรงเรียน ต่อหน้านักเรียน คาชอล์ค คากระดานดำ ถึง 11ราย นอกจากนั้นยังมีครูและบุคคลากรทางการศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บอีก 161 ราย ทรัพย์สินเสียหาย 61 ราย
ตัวเลขถือว่าน่าตกใจยิ่ง!
จากการทำข้อมูลของสมาพันธ์ฯยังพบว่า ครูเป็นเป้าหมายอ่อนแอที่ถูกกระทำข้างเดียวมาตลอด ไม่ใช่แค่ยิงให้ตาย แต่ยังมียิงแล้วเผา ยิงในโรงเรียน นอกโรงเรียน โดยผู้สูญเสียเป็นครูไทยพุทธประมาณ 80% ที่เหลือเป็นพี่น้องมุสลิม และเป็นครูจากโรงเรียน สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เสียเป็นส่วนใหญ่
บุญสม บอกว่า สถานการณ์ไฟใต้ทำให้ครูได้รับผลกระทบสูงมาก และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ติดอันดับรั้งท้ายของประเทศ
"เราได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี 47 มาจนถึงวันนี้ ผมในฐานะผู้นำครูในพื้นที่ไม่เคยคิดว่าครูจะต้องเจอชะตากรรม ต้องพบกับความสูญเสีย เสียชีวิตมากมายขนาดนี้ ที่เสียชีวิตถึง 184 ราย และยังมีที่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกมาก ทั้งหมดเป็นผลจากสถานการณ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่ครูคือเป้าหมาย ตัวเลข 184 เป็นความทนทุกข์ ความกังวล ความหวาดกลัว ซึ่งยังเกิดขึ้นอย่างไม่หยุด"
"สถานการณ์ความไม่สงบทำให้โรงเรียนต้องหยุดสอน บางจังหวะหยุดไม่มีกำหนด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะเรียนหนังสือเท่ากับเด็กภาคอื่น ครูก็กังวลเรื่องความปลอดภัย วิถีชีวิตครูใต้ ไปโรงเรียนเหมือนไปสู้รบในสงคราม ไม่รู้วันนี้จะได้กลับบ้านหรือเปล่า เช้าไป เย็นไมใได้กลับ ใครจะมีสติ มีสมาธิ โดนยิงในโรงเรียนก็ 11 ราย"
"ทุกครั้งที่มีการตรวจค้นจับกุมผู้ก่อเหตุ เป้าหมายของการตอบโต้อยู่ที่ทหาร ตำรวจ อส. แต่เมื่อเขาไม่มีโอกาส เขาก็ทำกับครูแทน พอครูโดนทำร้าย ก็เกิดผลตามมา เช่น ปิดโรงเรียน แต่หลังๆ เรามองว่าการปิดโรงเรียนไม่ใช่การแก้ปัญหา การสร้างกำลังใจ การดูแล เป็นพลังซึ่งกันและกัน คือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องกว่า ถ้าปิดโรงเรียนจะเข้าทางผู้ไม่หวังดีกับแผ่นดินนี้ที่ไม่ต้องการให้การศึกษาพัฒนาไปข้างหน้า"
แม้จะตกเป็นเป้าหมาย แต่ บุญสม บอกว่าครูทุกคนในพื้นที่ยังไม่ท้อ และยังเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่พัฒนาการศึกษาต่อไป
"วิถีชีวิตครูยังคงเดินหน้าต่อ ด้วยบทบาทหน้าที่ความเป็นครู รับผิดชอบการศึกษา เด็กในพื้นที่ที่ด้อยโอกาส ยากจน ณ วันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แม้เราจะรู้ตัวว่าเราเป็นเป้าหมาย แต่เราก็ต้องทำ และเราก็ใฝ่หาเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชุมชน ให้เข้าใจว่าครูคือทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่จะผลักดันบ้านเมืองไปข้างหน้าได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็เป็นเป้าหมายอ่อนแอ เราไม่มีโอกาสโต้ตอบ ไม่มีพลังจะสู้รบกับใคร เราตั้งรับอย่างเดียว แม้จะมีไปฝึกยิงอาวุธบ้าง แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของครู เพราะครูมีหน้าที่สอนหนังสือ ครูมีแต่ให้ เราไม่ใช่นักรบ เราเป็นนักการศึกษา อย่าทำอะไรกับเราเลย ขอเถอะ ผมไม่ใช่ขอเฉพาะครู แต่ขอเพื่อพี่น้องประชาชนที่บริสุทธิ์ ทั้งมุสลิมและไทยพุทธ ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีเหมือนกันหมด จึงอยากขอให้หยุดทำร้ายกัน"
บุญสม ยอมรับว่า ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะหากพิจารณาจากสถิติตัวเลข พบว่าตลอดปี 60 ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับครูเลย ส่วนปี 59 มี 1 เหตุการณ์ คือ คนร้ายประกบยิง ครูสุณิสา บุญเย็น ครู กศน.ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี จนเสียชีวิต โดยเขามองว่าปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้นมีอยู่ 4 ประการ คือ
1.ชุมชนเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจถึงสิ่งที่ครูได้สื่อสารออกไป เริ่มเข้าใจความรู้สึกครูที่ได้รับผลกระทบ ถูกยิงเสียชีวิต บาดเจ็บ ซึ่งสุดท้ายไม่ส่งผลดีต่อลูกหลานของเขา ทำให้ความรักที่มีต่อโรงเรียน ต่อครู ต่อพื้นที่ดีขึ้นมาก ประกอบกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ก็สนับสนุนให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูไปสร้างกัลยาณมิตรในชุมชน ทำให้เกิดสังคมสันติสุข มีการสื่อสาร ถ่ายทอดบอกกล่าวกันมากขึ้น
2.ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ให้ความสำคัญกับชีวิตครูมาก มีการวางแผน มีมาตรการเป็นรายภาคเรียน มีการเฝ้าระวังครู ส่งทั้งไปและกลับ ไปรับไปส่งทั้งในและนอกเวลาราชการ แม้กระทั่งปิดเทอมและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถือว่าฝ่ายความมั่นคงเดินมาถูกทาง เพียงแต่อยากฝากขอว่าต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่วันนี้ไม่เกิดเหตุแล้วอ่อนแอลง แบบนี้ไม่ได้ เพราะเหตุรุนแรงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
3.ครูเริ่มรู้ตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองคือเป้าหมาย พอครูเริ่มรู้ว่าตัวเองไม่ปลอดภัย ก็เริ่มจะศึกษาข้อมูลรอบข้าง แนวโน้มสถานการณ์ ทั้งทางไลน์ ทางเว็บไซต์ ทำให้ครูไม่เป็นเป้านิ่ง เช่น ไป-กลับเป็นหมู่คณะ ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ก็พยายามคลี่คลายโยกย้ายครูที่เป็นเป้าหมายออกมายังโรงเรียนที่ปลอดภัย
4.การทำงานแบบบูรณาการที่สามารถสื่อสารกันได้ทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องให้เครดิต เป็นรู้พื้นที่ รู้คน รู้การจัดการ ต้องให้น้ำหนักบทบาทมากๆ เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านรู้ว่าลูกบ้านคือใคร ใครคนดี ใครคนไม่ดี แยกแยะออก แต่รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าดูแลคนกลุ่มนี้ได้ด้วย
บุญสม บอกอีกว่า เมื่อความปลอดภัยเริ่มมีมากขึ้น ภารกิจสำคัญต่อไปก็คือ ผลักดันพัฒนการศึกษาให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลุดจากตำแหน่งรั้งท้ายของประเทศ สิ่งสำคัญคือ สอนให้เด็ก "อ่านออกเขียนได้" เพราะเป็นพื้นฐานไปสู่วิชาอื่นๆ
ส่วนเรื่องขวัญกำลังใจครู โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการ ที่ผ่านมาแม้จะมีการเพิ่ม "เบี้ยเสี่ยงภัย" จากเดิม 2,500 บาทต่อเดือน เป็น 3,500 บาทต่อเดือน และได้รับการเลื่อนขั้น ตลอดจนปรับวิทยฐานะเป็นกรณีพิเศษบ้างแล้วก็ตาม แต่ ครูบุญสม บอกว่า ในโอกาสวันครูปีนี้ ยังมีอีก 2 เรื่องที่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดัน ก็คือเรื่องสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลฟรีให้กับทายาทของครูที่เสียชีวิต และเงินเยียวยาครอบครัวละ 4 ล้านบาท
"การเยียวยาให้ทายาทครูที่ได้รับผลกระทบจนเสียชีวิต จำนวน 4 ล้านบาท เคยผ่านมติ ครม.มาแล้วในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลฟรีของพ่อแม่ครู ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะปกติตอนที่ครูมีชีวิต พ่อแม่สามารถใช้สิทธิ์ครูได้ แต่พอครูเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พ่อแม่ของครูกลับไม่สามารถรักษาฟรีได้อีกต่อไป ทั้งๆ ที่มีความจำเป็นในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรคประจำตัวที่ต้องกินยาต่อเนื่อง"
"ลูกเขาต้องมาตายก่อนวัยอันสมควรจากสถานการณ์ความรุนแรง จึงอยากให้รัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิพิเศษขึ้นมา เพราะเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ไม่ใช่เขตปกติ ถ้าเป็นเขตปกติผมก็ไม่พูดแบบนี้ กฎหมายอาจไม่เอื้อ แต่หาทางช่วยคนเหล่านี้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอยืนอยู่ได้ในสังคม ขอฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หมอธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ และรัฐมนตรีช่วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงษ์ ช่วยผลักดันด้วย เราจะรอคอยความหวัง แม้จะเนิ่นนานก็ตาม"
บุญสม กล่าวทิ้งท้ายว่า ในนามผู้นำองค์กรครู ขออวยพรให้ครูทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างปลอดภัย และขอยืนยันว่าครูชายแดนใต้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษา เล็งเห็นว่าการศึกษาเท่านั้นจะนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคตที่ก้าวไกล คิดทำอะไรให้นึกถึงว่า ครู นักเรียน โรงเรียน และชุมชนได้อะไร เป้าหมายคือเด็กอยู่ดีมีสุข อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข สันติสุขจะกลับคืนมาในพื้นที่ การศึกษาเท่านั้้นที่จะเป็นปัจจัยในการแก้ไขปัญหาระยะยาว
----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เรียน-สอนกลางเปลวไฟ..."เด็ก-ครูใต้"ใจยังสู้
วันครูของครูชายแดนใต้...วังวนแห่งความสูญเสีย
ควันหลงวันครูที่ชายแดนใต้...เพรียกหาความปลอดภัยและสวัสดิการที่ดี