วันครูของครูชายแดนใต้...วังวนแห่งความสูญเสีย
วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” ทุกพื้นที่ของประเทศพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเชิดชูคุณูปการของครู
แต่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับต้องมีพิธีทำบุญตักบาตร ถวายข้าวสารอาหารแห้ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับครูที่ต้องสูญเสียชีวิตไปเพราะสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 13 ปี
ตัวเลขครูที่สังเวยชีวิตไปกับความรุนแรงอยู่ในระดับมโหฬาร มากกว่า 180 คน คงมีไม่กี่พื้นที่ขัดแย้งในโลกที่ครูตกเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุรุนแรงมากมายขนาดนี้
วันครูปีนี้...นอกจากพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธแล้ว ยังมีพิธีละหมาดฮายัด หรือละหมาดขอพรตามแบบของศาสนาอิสลามด้วย เพราะครูจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตไปก็เป็นครูมุสลิม
นี่ยังไม่นับ อุสตาซ บาบอ ครูสอนศาสนาตามปอเนาะอีกจำนวนหนึ่งด้วย
แม้ในปีหลังๆ ของสถานการณ์ไฟใต้จะมีครูสูญเสียน้อยลง แต่ นายบุญสม ทองศรีพราย ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือดูแลครอบครัวครูชายแดนใต้ และประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า ภาพรวมของสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเสมอ
เขายอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ครูมีความปลอดภัยมากขึ้น พิสูจน์จากตัวเลขความสูญเสียของครูที่ลดลงอย่างมาก โดยยอดเสียชีวิตของครูจากสถานการณ์ความไม่สงบ แยกแยะรายปีได้ดังนี้
ปี 2547 จำนวน 12 ราย
ปี 2548 จำนวน 27 ราย
ปี 2549 จำนวน 26 ราย
ปี 2550 จำนวน 27 ราย
ปี 2551 จำนวน 17 ราย
ปี 2552 จำนวน 16 ราย
ปี 2553 จำนวน 13 ราย
ปี 2554 จำนวน 13 ราย
ปี 2555 จำนวน 10 ราย
ปี 2556 จำนวน 10 ราย
ปี 2557 จำนวน 9 ราย
ปี 2558 จำนวน 1 ราย
ปี 2559 จำนวน 1 ราย
ครูบุญสม บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ครูมีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับมาตรการ รปภ. ประกอบกับครูเองก็มีความเข้าใจปัญหามากขึ้น และสังคมได้ออกมาร่วมปกป้องครู
“13 ปีของความรุนแรง เราสูญเสียครูและบุคลากรทางการศึกษาไปมากกว่า 180 คน จำนวนนี้ยังไม่นับ นายสาเหาะ มูเล็ง ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะบิงตีงี อ.มายอ จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปเหตุว่าเป็นการก่อความไม่สงบหรือความขัดแย้งส่วนตัว” ครูบุญสม ระบุ
ที่น่าตกใจก็คือ ไม่เฉพาะ “ครู” ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง แต่ยังมีนักเรียน นักศึกษาอีก 56 รายที่ต้องสังเวยชีวิตไม่ต่างจากครู และมีนักเรียน นักศึกษา ได้รับบาดเจ็บ 167 ราย
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ ครูบุญสม สนับสนุนแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ให้แนวทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ไปหารือกับ “มารา ปาตานี” เพื่อกำหนดให้ “โรงเรียน” เป็นสถานที่นำร่อง “พื้นที่ปลอดภัย”
“คิดว่าเป็นเรื่องดีและต้องทำให้ได้ เพราะครูและโรงเรียนคือบุคคลสำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เมื่อครูปลอดภัย ทุกด้านจะดีขึ้น” ครูบุญสม บอก
นอกจากเรื่องสวัสดิภาพแล้ว เรื่องสวัสดิการครูก็ถือว่าดีขึ้นเป็นลำดับ แต่แกนนำสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง “ครูบุญสม” ก็ยังฝากเรียกร้องเรื่องเงินเยียวยา 4 ล้านบาทให้กับครูที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ และสิทธิในการรักษาพยาบาลครอบคลุมไปถึงทายาท ทั้งพ่อ แม่ และลูกของครูที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง
ไม่เพียงรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่องค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษายังได้ก่อตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือดูแลครอบครัวครูชายแดนใต้” ใต้ร่มของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 เพื่อช่วยเหลือครอบครัวครูทุกสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง โดยศูนย์ช่วยเหลือดูแลครอบครัวครูชายแดนใต้จะมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวครูทันที 500,000 บาท หากเจ้าหน้าที่สามฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และปกครอง รับรองว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
นอกจากนั้น ยังจะได้รับเงินจากโครงการเทิดไท้องค์ราชันอีก 10,000 บาท โดยครอบครัวครู 7 รายที่ได้รับเงินจำนวนนี้แล้ว คือ ครอบครัวของ ครูศุภกฤษ แซ่ลุง ครอบครัวของ ครูศิริพร ศรีชัย ครอบครัวของ ครูสมศรี ธัญเกษตร ครอบครัวของครู ไพรัตน์ จิตร์เสน ครอบครัวของ ครูฟาตีเมาะ แซมะแซ ครอบครัวของ ครูสกล ชฎารัตน์ และครอบครัวของ ครูสุนิสา บุญเย็น
นอกจากนั้น สกสค.ยังรับทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีใบประกอบวิชาชีพครู เข้ามาเป็นครูแล้ว 182 รายตามจำนวนครูและบุคคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตไป ขณะนี้ครูเหล่านั้นก็ยังสอนหนังสืออยู่ในพื้นที่
“สกสค.ยังทำโครงการล้างหนี้ให้กับครูที่เป็นหนี้ โดยการปล่อยกู้ให้กับครูที่เป็นหนี้ แล้วให้ครูผ่อนส่ง เพราะเราพบว่าครูบางคน แต่ละเดือนมีเงินเหลือไม่ถึง 1,000 บาท แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนไปดูแลครอบครั วและเมื่อครอบครัวไม่มีความสุข ครูก็ทุกข์ พอครูทุกข์ ปัญหาก็จะตามอีกหลายเรื่อง” ครูบุญสม กล่าว
กระนั้นก็ตาม การช่วยเหลือเยียวยาที่ต้องอิงกับความเห็นจากการสอบสวนคดีของเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวครูไม่ได้รับเงินเยียวยาบ้างเหมือนกัน อย่างรายล่าสุด นายสาเหาะ มูเล็ง ที่ถูกยิงกลางตลาดยะลาเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา
นางสาวนูรีฮัน มูเล็ง ลูกสาวของนายสาเหาะ บอกว่า ตอนนี้เรื่องเงียบ ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้สรุปคดีที่เกิดขึ้น เงินเยียวยาก็ยังไม่ได้ เพราะต้องรอเจ้าหน้าที่สรุปสามฝ่ายก่อน ทางนายอำเภอเมืองยะลาก็บอกว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา แต่ตอนนี้เงียบไปแล้ว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวของครูสาเหาะ ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา เนื่องจากหลังเกิดเหตุมีการไปติดตามจับกุมตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด.นายหนึ่งว่าเป็นผู้ก่อเหตุ โดยไม่ได้มีเหตุแค้นเคืองใดๆ มาก่อน แต่ ตชด.รายนี้มีปัญหาสุขภาพจิต ข้อสรุปแบบนี้ทำให้ครอบครัวครูสาเหาะคาใจ
“ถ้ามีปัญหาทางจิต ไม่น่าจะมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐได้ เหตุการณมาเกิดขึ้นกับประชาชนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย อยากให้หน่วยงานต้นสังกัดมารับผิดชอบ มาชี้แจงทั้งหมดว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมถึงปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ เพราะเป็นคนของหน่วยงานราชการและเป็นคนของรัฐบาล การเยียวยาตอนนี้ยังไม่มี แต่ก็มีเจ้าหน้าที่มาพบปะพูดคุย ส่วนญาติพี่น้องของ ตชด.ผู้ก่อเหตุไม่มีใครมา คนก่อเหตุยังปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา” เป็นเสียงจากความอัดอั้นของนูรีฮัน
เหตุการณ์จ่อยิง นายสาเหาะ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะบิงตีงี กำลังถูกมองว่าหากผู้กระทำให้ตายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ถูกกระทำก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างนั้นหรือ
หลักเกณฑ์ล่าสุดกรณีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือข้าราชการ ได้รายละ 500,000 เท่าเทียมกัน แต่หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าตายจากสถานการณ์ ก็จะไม่ได้เงินเยียวยาเลย
ดูเหมือนเสียงเพรียกหาความยุติธรรมที่ชายแดนใต้กำลังดังมาจากครอบครัวของครู...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ครอบครัวครูสาเหาะ มูเล็ง (จากซ้าย) ลูกชาย ลูกสาว (นูรีฮัน) และภรรยา
2 ครูบุญสม ทองศรีพราย