รายชื่อ คกก.ระดับพื้นที่ถูกถอดจากเว็บ! หลัง'อิศรา' ลุยสอบกองทุนฯสตรี
รายชื่อ คกก.ระดับพื้นที่ถูกถอดจากเว็บ! หลัง'อิศรา' ลุยสอบกองทุนฯสตรี ด้านเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ยันข้อมูล สตง.สอบพบของเก่าเมื่อ 2 ปีก่อน แถมใช้วิธีการสุ่มตรวจ แค่ 13 จังหวัด ของจริงประสบความสำเร็จเป็นหมื่นโครงการ ส่วนปมแบ่งเงินปล่อยกู้ต่อ เป็นเรื่องอยู่เหนือการควบคุมแต่มีน้อย ปัจจุบันพัฒนาระบบงานดีขึ้นแล้ว
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบปัญหาการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่จัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงปี 55-57 ที่ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 10,111.06 ล้านบาท พบปัญหาการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก อาทิ การพิจารณาและอนุมัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือพวกพ้องการใช้จ่ายเงิน รวมถึง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนฯ ไม่ได้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสตรี เนื่องจาก การถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ และไม่มีแนวโน้มว่า จะสามารถยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ ให้เป็นไปอย่างเป็นระบบ และเห็นควรยุบเลิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
ขณะที่ในปัจจุบันสํานักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (สกพส.) ถูกโอนย้ายไปอยู่ในความดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย แล้วนั้น
(อ่านประกอบ : เปิดรายงานสตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯสตรียุค'ปู' ผลาญงบหมื่นล.)
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 58 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อไปยังกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อขอทราบนโยบายการตรวจสอบปัญหาการการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งว่า ให้ให้ติดต่อไปที่กองประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้โดยตรง
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ประชุมสัมพันธ์รายหนึ่ง ยืนยันว่า ผลการตรวจสอบของ สตง. ดังกล่าว เป็นผลการตรวจสอบเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเป็นเพียงการสุ่มตรวจ 13 จังหวัดเท่านั้น รวมถึงรัฐบาลก็รับทราบปัญหาตามคำแนะนำของ สตง.แล้ว
"จริงๆ โครงการที่ประสบความสำเร็จมีจำนวนมาก เป็นหมื่นโครงการ คณะกรรมการเป็นประชาชน พิจารณากันเอง คิดว่าไม่มีเจตนาทุจริต อาจเกิดปัญหาบ้างในช่วงแรกที่เร่งรัดโครงการ ตอนนี้กลุ่มสตรีเขาได้เรียนผิดเรียนถูกกันไปแล้ว ส่วนที่ สตง.ระบุว่ามีการนำเงินไปปล่อยกู้ต่อ มันมีจำนวนน้อยนับไม่ถึง 1 % เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม แต่ตอนนี้พวกเขาก็พัฒนาศักยภาพมากขึ้นเเล้ว" เจ้าหน้าที่ยืนยัน
ส่วนการติดตามเรียกเงินคืนกองทุนฯ กรณีใช้ผิดวัตถุประสงค์ นั้น เจ้าหน้าที่รายนี้ ยืนยันว่า "เรื่องการเรียกเก็บหนี้มีเจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ตลอด กรณีถ้าลูกหนี้ไม่สามารถคืนเงินได้ตามกำหนด 2 ปี ก็สามารถยื่นเรื่องทำหนังสือขอยืดระยะเวลาได้ แต่ก็มีผ่อนคืนมาเรื่อย ๆ ขณะที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ย้ายมาอยู่ภายใต้กรมการพัฒนาชุมชน เป็นการทำงานคู่ขนานกัน โดยเจ้าหน้าทีกรมพัฒนาชุมชนเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตอนนี้ ประคณะกรรมการในหลาย ๆ จังหวัดก็เข้มงวดมากขึ้นด้วย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของกองทุนฯ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า ไม่สามารถติดต่อให้ได้ เนื่องจากทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเช้า-เที่ยง วันที่ 12 พ.ย.2558 ที่ผ่านมา ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลรายชื่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาสตรีระดับจังหวัด และตำบล ในเว็บไซต์ของกองทุนฯ ปรากฎว่าไม่สามารถเข้าไปดูได้ มีลักษณะเหมือนถูกลบข้อมูลส่วนนี้ออกไป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลข่าวเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การค้นหาข้อมูลรายชื่อคณะกรรมการกองทุนฯ ทั้งในระดับจังหวัดและตำบล เพื่อนำไปขยายผลการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนฯ ในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก
อ่านประกอบ :
ถึงคิว กทม.! สตง.ชำแหละโครงการของบกองทุนสตรีฯ‘ทำเสื้อสกรีน-อบรมนาฏศิลป์’
'น้องสะใภ้'อดีตนายกฯอบต.ของบกองทุนฯสตรีทำน้ำพริก ดอดปล่อยกู้ต่อร้อยละ5
ใช้ชื่อลูกจ้างมินิมาร์ทช่วยของบ!เบื้องหลังร้านกาแฟ 'แม่'ปธ.กองทุนฯสตรีคันโช้ง
ชัดกว่าร้านกาแฟ! ปธ.กองทุนสตรีนายูง จ.อุดรฯ ดัน'เครือญาติ'ของบปลูกรีสอร์ท
ชัดกว่าร้านกาแฟ! ปธ.กองทุนสตรีนายูง จ.อุดรฯ ดัน'เครือญาติ'ของบปลูกรีสอร์ท
ใช้ชื่อลูกจ้างมินิมาร์ทช่วยของบ!เบื้องหลังร้านกาแฟ 'แม่'ปธ.กองทุนฯสตรีคันโช้ง
ไม่มีเอื้อปย.!ปธ.กองทุนฯสตรีต.คันโช้ง แจงปมเสนองบให้ 'แม่' ทำร้านกาแฟ2แสน
กลัวถูกสตง.สอบ! กลุ่มแม่บ้านต.คันโช้ง เล็งกู้เงินนอกระบบใช้หนี้กองทุนฯสตรี