ชัดกว่าร้านกาแฟ! ปธ.กองทุนสตรีนายูง จ.อุดรฯ ดัน'เครือญาติ'ของบปลูกรีสอร์ท
ถึงคิว! เปิดข้อมูลผลสอบใช้งบกองทุนฯ สตรี จ.อุดรธานี โครงการบ้านพักริมน้ำ 2 แสน สตง.ชี้พฤติการณ์ ปธ.กองทุน ต.นายูง แนะนำเครือญาติลงชื่อขอเงินเลี้ยงปลาดุก ก่อนสั่งเปลี่ยนทำรีสอร์ทเอง แถมให้งบมากกว่ากลุ่มอื่น เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ชัดเจน ระบุชัดทำลายค่านิยม 12 ประการ
โครงการร้านจำหน่ายกาแฟสดและกาแฟโบราณ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ที่ได้รับอนุมัติงบสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 2 แสนบาท ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีการเอื้อประโยชน์ในการอนุมัติงบ เนื่องจากหัวหน้ากลุ่มสตรี ที่ทำเรื่องขอเงิน แท้จริงแล้ว คือ มารดา ของประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.คันโช้ง
ขณะที่สมาชิกกลุ่มที่ร่วมเสนอโครงการ มีสถานะเป็นเพียงแค่ 'ลูกจ้าง' ในร้านมินิมาร์ทที่ปั๊มน้ำมันของลูกสาว มีส่วนร่วมเพียงลงชื่อช่วยเสนอโครงการเท่านั้น ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากการดำเนินโครงการแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ใช้ชื่อลูกจ้างมินิมาร์ทช่วยของบ!เบื้องหลังร้านกาแฟ 'แม่'ปธ.กองทุนฯสตรีคันโช้ง)
โครงการบ้านพักริมน้ำ หมู่ 9 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี ที่ถูกสตง.ระบุว่า มีพฤติกรรมที่น่าเชื่อถือได้ว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น โดยมิชอบ เช่นเดียวกับโครงการร้านจำหน่ายกาแฟสดและกาแฟโบราณ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เป็นอย่างไรบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า โครงการบ้านพักริมน้ำ หมู่ 9 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี ระบุวัตถุประสงค์ในการเสนอขออนุมัติงบประมาณว่า เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มสตรีมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้ผู้มาท่องเที่ยว อ.นายูง มีที่พักในพื้นที่และเพื่อให้สมาชิกมีกิจกรรมร่วมกัน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประเภทเงินทุนหมุนเวียนในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2 แสนบาท ในหลักฐานเสนอขอและดำเนินโครงการระบุจำนวนสมาชิกไว้ 5 ราย
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า โครงการฯ นี้ ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จ.อุดรธานี (ตำแหน่งเหรัญญิก) แนะนำให้เครือญาติรวมกัน 5 คน เป็นผู้เสนอโครงการ
โดยครั้งแรกเสนอโครงการเลี้ยงปลาดุก ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง วงเงิน 2 แสนบาท ต่อมาได้เปลี่ยนโครงการเป็นโครงการบ้านพักริมน้ำ เนื่องจากประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง เห็นว่าในพื้นที่ ต.นายูงยังไม่มีรีสอร์ท จึงได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงระหว่างการพิจารณาของ คกส.จ.ด้วยตนเอง และคกส.จ.เห็นด้วย และอนุมัติเงินให้เต็มกรอบวงเงิน คือ 2 แสนบาท
เมื่อกลุ่มฯ ได้รับเงินแล้ว จึงนำไปจ้างก่อสร้างบ้านพัก ขนาด 4X3.5 เมตร จำนวน 10 หลัง เพื่อเปิดให้เช่าเป็นรายวัน ลงทุนก่อสร้างไปแล้วเป็นเงิน 98,785 บาท แต่ต้องยุติการก่อสร้าง เพราะสภาพแวดล้อมบริเวณก่อสร้างเป็นสวนยางและมีร้านรับซื้อเศษยางมาเปิดจุดรับซื้อ ได้กลิ่นยางดิบทั่วบริเวณ ซึ่งทางกลุ่มมิได้คำนึงถึงเรื่องนี้มาก่อน
ทั้งนี้ เมื่อพบว่า สภาพแวดล้อมไม่ดี ไม่เหมาะสมต่อการทำบ้านพัก(รีสอร์ท) จึงยุติโครงการก่อสร้างบ้านพักริมน้ำ และนำเงินที่เหลืออยู่จำนวน 102,215 บาท มาแบ่งกัน โดยประธานฯ ให้ข้อมูลว่าสมาชิกนำเงินไปเลี้ยงปลาดุก
สำหรับการชำระหนี้คืนกองทุนฯ สมาชิกทั้ง 5 คน ตกลงรับผิดชอบหนี้คนละ 4 หมื่นบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งครบกำหนดชำระหนี้งวดที่ 1 วันที่ 4 มิถุนายน 2557 จำนวนเงินรวม 103,000 บาท
แต่ตรวจสอบพบว่า สมาชิกส่งชำระเงินวันที่ 13 มิถุนายน 2557 จำนวน 56,000 บาท ค้างชำระ 47,000 บาท
เบื้องต้น สตง.สรุปผลสอบโครงการฯ เป็นทางการ ดังนี้
1. การที่ประธาน คกส.ต.นายูง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ และเหรัญญิกของ คกส.จ.อุดรธานี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติเงินสนับสนุนโครงการของกลุ่มสมาชิก
แต่ปรากฎข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบว่า ในทางพฤตินัยกลับเป็นผู้แนะนำให้เครือญาติรวมกัน 5 คน เสนอโครงการเลี้ยงปลาดุกตั้งแต่ต้น และยังเป็นผู้เสนอ คกส.จ.อุดรธานี เปลี่ยนแปลงโครงการด้วยตนเอง
จึงเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะตนเองเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบโครงการ โดยการที่บุคคลดังกล่าวอ้างว่า ไม่ส่งกลับไปให้กลุ่มสมาชิกสตรีแก้ไข เพราะต้องการให้เกิดความรวดเร็ว พฤติกรรมดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ
2. เมื่อพิจารณาวงเงินที่ คกส.จ.อุดรธานี จัดสรรเงินกองทุนฯ ให้กับโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนอื่นๆ จำนวน 158 ตำบล พบว่า คกส.จ.อุดรธานี ได้ใช้วิธีกำหนดเพดานขั้นสูงในการจัดสรรเงินไว้โดยเฉลี่ยให้เท่าๆ กัน คือ ไม่เกินกลุ่ม/โครงการละ 5 หมื่นบาท
แม้บางกลุ่มจะเสนอขอมามากกว่า 5 หมื่นบาท แต่จะถูกปรับลดลงมาไม่เกิน 5 หมื่นบาท
แต่สำหรับโครงการบ้านพักริมน้ำ หรือก่อนหน้านี้ คือ โครงการเลี้ยงปลาดุก เป็นโครงการเดียวในช่วงเวลานั้น ที่เสนอขอรับการสนับสนุนเงินในการดำเนินโครงการประเภทเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 2 แสนบาท แล้ว คกส.จ.อุดรธานี ไม่มีการตัดลดวงเงิน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกิจกรรมโครงการที่เสนอขอตามแบบเสนอขอโครงการก็มิได้แตกต่างไปจากโครงการด้านการเลี้ยงสัตว์ของกลุ่มอื่นๆ
ดังนั้น การพิจารณาอนุมัติวงเงินดังกล่าวของ คกส.จ.อุดรธานี จึงไม่มีความสมเหตุสมผล และจากพยานหลักฐานประกอบกับพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า เป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และเป็นการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรมกับสมาชิกสตรีอื่นๆ
3. การดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าว โดยกลุ่มสมาชิกสตรีมิได้เป็นผู้คิดริเริ่มเอง และเมื่อดำเนินการโครงการก็มิได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม เพียงแต่เป็นการรวมกันเสนอขอโครงการตามคำแนะนำของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นายูง และกิจกรรมตามโครงการที่เสนอขอ มิได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะมิได้พัฒนาศักยภาพสตรีแล้ว ยังเป็นการทำลายค่านิยม 12 ประการ ที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ความเสียสละ โดยเป็นการสร้างนิสัยความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่า เป็นไปโดยชอบหรือไม่
ดังนั้น การดำเนินงานของกลุ่ม/โครงการดังกล่าว จึงไม่ประสบผลสำเร็จและทำให้การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ซึ่งนำไปลงทุนก่อสร้างเป็นเงินจำนวน 98,785 บาท เกิดความสูญเปล่า และเป็นการใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบฯ จำนวน 101,215 บาท
4. การเสนอขอรับการสนับสนุนโครงการของกลุ่มสมาชิกสตรี ทั้ง 5 คน ตามคำแนะนำของ คกส.ต.และ คกส.จ. ซึ่งเป็นเครือญาติกัน เมื่อดำเนินโครงการไม่สำเร็จ ไม่นำเงินไปคืน คกส.จ.อุดรธานี และมีการแบ่งเงินกันไปใช้จ่ายส่วนตัว นอกจากเป็นการใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามรายการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการอนุมัติตามแบบเสนอขอโครงการ ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 ข้อ 40 ยังเป็นการดำเนินโครงการที่ไม่โปร่งใส ผิดสัญญาและมีรายการใช้จ่ายเงินที่ไม่ตรงตามความจริงด้วย
# กดไลค์ ติดตามผลงานข่าวของเรา ได้ที่เพจ I love isranews
อ่านประกอบ :
ใช้ชื่อลูกจ้างมินิมาร์ทช่วยของบ!เบื้องหลังร้านกาแฟ 'แม่'ปธ.กองทุนฯสตรีคันโช้ง
ไม่มีเอื้อปย.!ปธ.กองทุนฯสตรีต.คันโช้ง แจงปมเสนองบให้ 'แม่' ทำร้านกาแฟ2แสน
กลัวถูกสตง.สอบ! กลุ่มแม่บ้านต.คันโช้ง เล็งกู้เงินนอกระบบใช้หนี้กองทุนฯสตรี
เอื้อปย.บ้านพักอุดรฯ-ร้านกาแฟพิษณุโลก โดนก่อน! สั่งสอบทุจริตกองทุนฯสตรีทั่วปท.
ส่องขั้นตอนอนุมัติเงินกองทุนฯสตรีหมื่นล.ก่อน 'สตง.'ชงสอบทุจริตทั่วปท.
เปิดรายงานสตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯสตรียุค'ปู' ผลาญงบหมื่นล.