- Home
- Community
- สกู๊ป-สารคดีข่าว
- ย้อนข้อกังวลอีไอเอ “รง.น้ำตาล” สกลนคร ก่อนคชก. มติไม่เห็นชอบ-ให้กลับไปแก้ไขใหม่
ย้อนข้อกังวลอีไอเอ “รง.น้ำตาล” สกลนคร ก่อนคชก. มติไม่เห็นชอบ-ให้กลับไปแก้ไขใหม่
คชก.มีมติไม่เห็นชอบรายงานอีไอเอ (ฉบับปรับปรุง) โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล -โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร บ.ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม-ให้กลับไปเเก้ไขใหม่
ในที่สุดคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) ด้านอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่สนับสนุน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีมติไม่เห็นชอบรายงานอีไอเอฉบับปรับปรุงโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สกลนคร ของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด และให้บริษัทกลับไปแก้ไขใหม่ให้สมบูรณ์ ครบถ้วน รอบด้าน
โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย จะมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับอ.เมือง จ.สกลนคร และอยู่คนละฝั่งน้ำอูนกับ ต.นางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม มีกำลังการผลิต 12,500-40,000 ตันอ้อย/วัน และจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิต 48-114 เมกะวัตต์ โดยรอบแรกพบว่า รายงานอีไอเอไม่ผ่านการพิจารณา ทำให้บริษัทฯ ต้องลดกำลังการผลิตของโรงงานผลิตน้ำตาลทรายลงเหลือ 12,500 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลลดกำลังการผลิตลงเหลือ 48 เมกะวัตต์
ย้อนกลับไป ก่อน คชก.จะมีมติออกมา ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน เดินทางมายัง สผ. เพื่อเข้าชี้แจงประเด็นข้อห่วงกังวลต่อรายงานอีไอเอฉบับปรับปรุงกับ คชก. เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 12 มิ.ย. 2560 หลังจากทราบว่า มีการส่งฉบับปรับปรุงเข้ามายัง สผ. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ในหลายประเด็น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หยิบยกโดยสรุปมานำเสนอ...
ประเด็นที่ 1 รายงานอีไอเอไม่ชอบด้วยหลักธรรมาภิบาลและหลักกฎหมาย
โดยพบว่า หากมีการปรับลดกำลังการผลิตลงจริงย่อมทำให้สาระสำคัญของพื้นที่และผังโครงการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญต่อการพิจารณาผลกระทบและมาตรการในการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์สำคัญของการพิจารณารายงานอีไอเอ และในการจัดทำฉบับแก้ไขอาจไม่สามารถพิจารณาหรือกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบได้อย่างครอบคลุมรอบด้านเพียงพอ
ที่สำคัญ ยังไม่มีคำชี้แจงว่า พื้นที่เหลือจากผังการก่อสร้างโครงการเดิมมีแผนการใช้ประโยชน์อย่างไร มีโครงการอะไรในอนาคต และไม่มีการระบุถึงแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตที่ชัดเจน
นอกจากนี้ในรายงานการประชุม คชก.มีมติไม่เห็นชอบรายงานอีไอเอ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 ระบุไว้ว่า จากการตรวจสอบพื้นที่เมื่อ 9 ธ.ค. 2559 พบโครงการได้ดำเนินการตัดต้นไม้ ปรับสภาพพื้นที่ และเตรียมรังวัดที่ดินเพื่อขุดบ่อเก็บน้ำดิบต่าง ๆ ภายในพื้นที่โครงการแล้ว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการก่อสร้างก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบรายงานอีไอเอ และไม่สอดคล้องกับแบบแสดงรายละเอียดการเสนอรายงาน (สผ.6) ที่เสนอในรายงาน เมื่อ ต.ค. 2559 สถานภาพโครงการยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง
แสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ หรือก่อสร้างโครงการในระหว่างการพิจารณารายงานอีไอเอ ทำให้สภาพพื้นที่ในการจัดทำรายงานอีไอเอเปลี่ยนแปลงไป และนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ในสาระสำคัญ
ประเด็นที่ 2 การดำเนินโครงการและปรับพื้นที่ก่อสร้างเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางสาธารณะ ลำรางสาธารณะ หนองน้ำสาธารณะ และระบบนิเวศในพื้นที่
โดยพบว่า ภายหลังมีการไถเบิกป่าเต็งรังในพื้นที่โครงการ ทำให้ลำห้วยตาดตอนบนมีสภาพเสียหาย บางส่วนเสียสภาพธรรมชาติ ความเสียหายต่อลำห้วยเตย บริเวณวังก้านเหลือง และความเสียหายต่อหนองกุง ซึ่งกำลังมีข้อโต้แย้งว่าเป็นหนองน้ำสาธารณะหรือไม่
อีกทั้งยังสร้างผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ทางสาธารณะในพื้นที่โครงการ เนื่องจากการไถเบิกป่าเปลี่ยนสภาพพื้นที่ตั้งโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งในระบบนิเวศนั้นประกอบด้วยทางสาธารณะหลายเส้น โดยไม่มีการกันต้นไม้ริมทาง จึงเกิดข้อสงสัยเหตุใดจึงไม่มีการกันพื้นที่ขอบทาง หรือระยะถอยร่น หรือมาตรการป้องกันผลกระทบในการใช้เส้นทางสาธารณะของประชาชน ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงชุมชน และยังเป็นเส้นทางเดินทางไปหาปลา หรือหาของป่าบริเวณริมฝั่งน้ำอูน
ประเด็นที่ 3 ความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ โดยเจ้าของโครงการได้ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน 20 คน ต่อศาลจังหวัดสกลนคร
จากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของโครงการปลายปี 2559 โดยชาวบ้านเห็นเครื่องจักรเข้าบุกเบิกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อที่สาธารณะ จึงได้ลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุ่มจาน เมื่อ 11 พ.ย. 2559 เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการดังกล่าว ต่อมาอบต.อุ่มจานได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ
ภายหลังบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้อง น.ส.เดือนเพ็ญ สุดไชยา พร้อมพวก 20 คน ข้อหาหมิ่นประมาทจากกรณีใช้สิทธิยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายก อบต.อุ่มจาน เรื่องผลกระทบต่อที่สาธารณะ โดยปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ได้มีการร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและจัดเวลาตรวจสอบไปแล้ว 2 ครั้ง และปัจจุบันอยู่ระหว่างการจะทำรายงานการตรวจสอบของ กสม.ตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 4 ปัจจัยพื้นฐานโครงการไม่เพียงพอ การเก็บข้อมูลไม่ครอบคลุมตามฤดูกาล
โดยพบว่า การเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านคุณภาพอากาศ และคุณภาพเสียงไม่ครอบคลุมครบถ้วน ได้แก่ บริษัทฯ ระบุได้เก็บรวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ช่วงฤดูแล้ง วันที่ 21-31 มี.ค. 2559 ครั้งที่ 2 ช่วงฤดูฝน วันที่ 28 ก.ค.-4 ส.ค. 59 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานในระยะเวลาสั้น และไม่ครบ 3 ฤดู
ไม่มีการเก็บข้อมูลในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงลมเปลี่ยนทิศ มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ลมแรง และเป็นฤดูเปิดหีบอ้อย ซึ่งมีกิจกรรมการขนส่ง และกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการ ดังนั้นจึงไม่อาจใช้เป็นข้อมูลรอบปี เพื่อวิเคราะห์และกำหนดมาตรการลดผลกระทบได้
ส่วนการเก็บข้อมูลพื้นฐานคุณภาพน้ำผิวดินและทรัพยากรชีวภาพในน้ำไม่ครบถ้วนเช่นกัน โดยบริษัทฯ เก็บบริเวณลำน้ำอูน และลำห้วยเตย 6 จุด โดยได้เก็บ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 12 มิ.ย. 2559 (ต้นฤดูฝน) และครั้งที่ 2 วันที่ 17 ก.ย. 2559 (ปลายฤดูฝน) แต่อีกสองฤดูไม่มีการเก็บข้อมูล จึงไม่ครอบคลุมที่จะเป็นตัวอย่างน้ำตลอดปี
ในด้านการเก็บข้อมูลป่าไม้ และทรัพยากรสัตว์ป่าในพื้นที่ตั้งโครงการและรัศมี 5 กม. เก็บข้อมูลป่าเพียง 1 ครั้ง คือ วันที่ 7 มิ.ย. 2559 เช่นกันกับการเก็บข้อมูลสัตว์ป่า 1 ครั้ง วันที่ 2 มิ.ย. 2559 จึงใช้อ้างอิงเทียบเคียงไม่ได้ทั้งปี
ประเด็นที่ 5การประเมินการใช้น้ำไม่ครอบคลุมและมีข้อมูลไม่ครบถ้วน
การเก็บข้อมูลน้ำเฉพาะฤดูฝน ทำให้ตัวเลขปริมาณน้ำที่ใช้ในการวิเคราะห์มีแหล่งที่มาไม่ชัดเจน ไม่ได้มีการเก็บสถิติปริมาณน้ำสำรองทุกเดือนในรอบปี ขาดข้อมูลน้ำเชิงระบบ ว่าในพื้นที่โครงการมีน้ำต้นทุนจากแหล่งใด ปริมาณเท่าใด เป็นน้ำใช้สำหรับการเกษตรเท่าใด น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระบบนิวเศ และสำรองใช้ยามฉุกเฉิน หรือน้ำต้นทุนในอนาคตมีเท่าใด
ขาดข้อมูลในการใช้น้ำในรอบปีทั้งระบบ ไม่มีการพิจารณาว่า การสูบน้ำจากลำน้ำอูน 1 ล้านลบ.ม. จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะการพังทลายของตลิ่งลำน้ำมากน้อยเพียงใด ตลอดจนขาดการคำนวณต้นทุนการใช้น้ำในอนาคต ในกรณีที่มีการขุดบ่อน้ำหรือสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ นั้นเท่ากับว่า โครงการได้นำน้ำในระบบน้ำท่า ที่เป็นน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำอูนมาใช้ เพราะบริเวณที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ต้นน้ำแหล่งน้ำซึมซับตามธรรมชาติ
ประเด็นที่ 6 ความไม่เหมาะสมของพื้นที่ตามเงื่อนไขของมติ ครม. เรื่องการย้ายสถานที่ตั้งหรือการขอนำกำลังการผลิตน้ำตลาด เพื่อไปตั้งที่ใหม่และขยายกำลังการผลิต
พบว่า บริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมติ ครม. เพราะไม่ได้ย้ายมาตั้งใกล้บริเวณพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งของชาวไร่อ้อย เพราะเมื่อพิจารณาพื้นที่ปลูกอ้อยของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลในฤดูกาลผลิต 2558/59 ระบุว่า จ.สกลนคร มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งสิ้น 68,454 ไร่ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตของโรงงานน้ำตาลอื่นที่มีอยู่เดิมแล้ว เช่น อ.ส่องดาว สว่างแดนดิน บ้านม่วง เต่างอย
ขณะที่อ.กุสุมาลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการบริษัทฯ มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 367 ไร่ อ.อากาศอำนวย 219 ไร่ อ.พรรณานิคม 4,390 ไร่ รวมถึงหากพิจารณาพื้นที่ปลูกอ้อยของจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.นครพนม ทั้งจังหวัดมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 3,953 ไร่ จ.บึงกาฬ 2,607 ไร่ ดังนั้น จึงไม่ได้ย้ายเข้ามาใกล้แหล่งวัตถุดิบตามมติครม.
นอกจากนี้การส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยในจ.สกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง จะส่งผลทำให้ป่าเศรษฐกิจครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายของท้องถิ่นได้รับผลกระทบตามไปด้วย ที่สำคัญ จังหวัดมียุทธศาสตร์พัฒนาเป็นเมือง ธรรมเวชนคร หรือเมืองต้นแบบเศรษฐกิจธรรมชาติ หรือดินแดนแห่งพฤกษเวช หรือ เมืองสมุนไพร ด้วย
6 ประเด็น โดยสังเขปทั้งหมดนี้ เป็นข้อห่วงกังวลที่มีต่อรายงานอีไอเอ โครงการฯ ของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด จากกลุ่มรักษ์น้ำอูน แม้ปัจจุบัน คชก.จะมีมติ ไม่เห็นชอบฉบับปรับปรุง แต่เชื่อว่า จะต้องจับตากันต่อไปว่า รายงานอีไอเอฉบับแก้ไขใหม่จะมีการศึกษาอย่างครบถ้วน รอบด้าน และเพียงพอ ตามความมุ่งหวังของคนในท้องถิ่นหรือไม่ .
อ่านประกอบ:กลุ่มรักษ์น้ำอูนจี้ คชก. พิจารณา อีไอเอ ‘รง.น้ำตาล’ รอบด้าน หวั่นกระทบพื้นที่สาธารณะ
คชก.พิจารณาอีไอเอ รง.น้ำตาล ของ บ.ไทยรุ่งเรืองฯ 12 มิ.ย.-กลุ่มรักษ์น้ำอูน ร่วมชี้แจง
บ.ไทยรุ่งเรืองฯ ยอมไกล่เกลี่ยกลุ่มรักษ์น้ำอูน ปมค้าน รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล
22 พ.ค.ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวน บ.ไทยรุ่งเรืองฯ รง.น้ำตาล ยื่นฟ้องกลุ่มรักษ์น้ำอูน
ภาพประกอบ:farmkaset.org