- Home
- Community
- กระแสชุมชน
- ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม
- กลุ่มรักษ์น้ำอูนจี้ คชก. พิจารณา อีไอเอ ‘รง.น้ำตาล’ รอบด้าน หวั่นกระทบพื้นที่สาธารณะ
กลุ่มรักษ์น้ำอูนจี้ คชก. พิจารณา อีไอเอ ‘รง.น้ำตาล’ รอบด้าน หวั่นกระทบพื้นที่สาธารณะ
กลุ่มรักษ์น้ำอูน ให้ข้อมูล คชก. ด้านอุตสาหกรรมฯ จี้พิจารณารายงานอีไอเอ โครงการ รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล อย่างรอบคอบ ครบถ้วน พบบริษัท ไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จก. ปรับพื้นที่ก่อสร้างแล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาต ชาวบ้านกังวลป่าถูกทำลาย กระทบพื้นที่สาธารณะ สวนทางนโยบายรัฐ พัฒนา จ.สกลนคร เป็นฮับสมุนไพร
วันที่ 12 มิ.ย. 2560 ที่ห้องประชุมชั้น 6 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร นำโดย น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ด้านอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่สนับสนุนเพื่อพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด (ฉบับปรับปรุง)
น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ตัวแทนกลุ่มรักษ์น้ำอูน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นอีไอเอฉบับปรับปรุง แต่สิ่งที่กลุ่มรักษ์น้ำอูนเห็นว่า การตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากมีกระบวนการเร่งรัดอีไอเอที่เร่งรีบเกินไป ด้วยเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 มี.ค. 2554 บริษัทฯ ต้องประกอบกิจการให้ได้ภายใน 5 ปี หรือภายใน 15 มี.ค. 2559 แต่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ยังทำไมได้
ทั้งนี้ เหตุผลบริษัทฯ ยังประกอบกิจการได้ เพราะอาศัยช่องตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ข้อ 6 ระบุ ให้ผู้รับความเห็นชอบให้ตั้งหรือย้ายหรือขยายโรงงานน้ำตาลตามมติ ครม. 1 มี.ค. 2554 ที่ต้องดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายในปี 2559 และแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานภายในปี 2561 ดังนั้น จึงได้เร่งรัดอีไอเอให้เสร็จทันปี 2560
ที่สำคัญ ในการมาให้ข้อมูลต่อ คชก. ครั้งนี้ น.ส.บำเพ็ญ ระบุว่า อีไอเอของโครงการยังไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่ปัจจุบันพบบริษัทฯ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตั้งของโครงการเรียบร้อยแล้ว ทำให้สร้างผลกระทบต่อพื้นที่สาธารณะ เช่น ลำรางสาธารณะ อย่างลำห้วยตาดตอนบน ลำห้วยเตย บริเวณวังก้านเหลือง ถนนสาธารณะ และทำให้ป่าถูกทำลาย ยังไม่รวมถึงปัญหาน้ำดิบในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้ศึกษาอย่างครบถ้วน รอบด้าน
“การเก็บข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและเสียงไม่ครอบคลุมครบถ้วน เก็บข้อมูลในระยะเวลาสั้นเท่านั้น รวมถึงคุณภาพน้ำผิวดิน และทรัพยากรชีวภาพในน้ำที่เก็บเฉพาะฤดูฝน เพียง 2 ครั้ง” น.ส.บำเพ็ญ กล่าว และว่า ครม.มีมติให้ จ.สกลนครเป็นเมืองศูนย์กลางสมุนไพร ซึ่งต้องใช้พื้นที่ป่าในการปลูก แต่กลับพบว่า กลับสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่แทน จึงอยากให้ คชก. พิจารณาอีไอเอให้รอบคอบทุกมิติ
ด้านนางสมัย มังทะ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการฯ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร กล่าวว่า ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองหอมดอกฮัง และเป็นเกษตรกร ปลูกพืชผักทุกชนิด สร้างรายได้ เฉพาะทำงาน 7 หมื่นบาท/ไร่ แสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ พึงพอใจที่จะอยู่กับธรรมชาติ จึงไม่ต้องการให้โรงงานน้ำตาลมาตั้งในพื้นที่ เพราะกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรในอนาคต
“ถ้ามีโรงงานน้ำตาล จะทำให้ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป ความร้อนจะมีมากขึ้น เพราะบ้านอยู่ห่างจากที่ตั้งของโรงงานเพียง 200 เมตร และช่วงที่เพาะปลูก พ.ย. ของทุกปี จะตรงกับช่วงหีบอ้อย หมอกควันของโรงงานจะลอยมาคลุมแปลงเกษตรของชาวบ้าน ทำให้ ‘อินทรีย์’ ไม่เป็นอินทรีย์ตามความต้องการ” นางสมัย กล่าว และว่า ในชุมชนตอนนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งของสองฝ่าย คือ ฝ่ายเห็นด้วย ที่มองผลรับในเชิงเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ ในขณะนี้ฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเกษตรกรมองในมุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่า
ขณะที่นางยวนจิตร์ ไชยรักษ์ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการฯ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร กล่าวว่า ที่พักอาศัยอยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างโรงงานประมาณ 1 กม. กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร แต่ผู้ใหญ่ในหน่วยงานรัฐชี้แนะว่า ให้สร้างไปก่อน หากอนาคตได้รับผลกระทบ ค่อยไปฟ้องร้อง ตัวเองจึงตั้งคำถามว่า จะไปฟ้องได้อย่างไร เพราะต้องเสียเวลาขึ้นศาล ทำไมไม่ออกมาคัดค้านกันตั้งแต่ต้น นั่นจึงเป็นที่มาของการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐต่าง ๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเข้าให้ข้อมูลต่อ คชก.ในครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชน เข้ารับฟัง อย่างไรก็ตาม กลุ่มรักษ์น้ำอูนได้เคยยื่นร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แล้ว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และจัดเวทีการตรวจสอบ 2 ครั้ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการตรวจสอบ .
อ่านประกอบ:คชก.พิจารณาอีไอเอ รง.น้ำตาล ของ บ.ไทยรุ่งเรืองฯ 12 มิ.ย.-กลุ่มรักษ์น้ำอูน ร่วมชี้แจง
บ.ไทยรุ่งเรืองฯ ยอมไกล่เกลี่ยกลุ่มรักษ์น้ำอูน ปมค้าน รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล
22 พ.ค.ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวน บ.ไทยรุ่งเรืองฯ รง.น้ำตาล ยื่นฟ้องกลุ่มรักษ์น้ำอูน