- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- การเมือง
- "กิตติศักดิ์ ปรกติ":ต้องยกย่องสถาบันให้ดำรงอยู่อย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับหลัก ปชต.
"กิตติศักดิ์ ปรกติ":ต้องยกย่องสถาบันให้ดำรงอยู่อย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับหลัก ปชต.
จากปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวน-แก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการไปแตะสถาบันหลักของสังคมไทยเช่นสถาบันกษัตริย์ –ศาลภายใต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มคณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชื่อ”นิติราษฎร์”เป็นหัวหอก
จนทำให้ตอนนี้กลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงของสาธารณชนหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ-นักการเมือง-กองทัพ-องค์กรอิสระ –สื่อมวลชน –ประชาชนเกือบทุกระดับ
จนเกิดความเห็นแตกต่างกันสองขั้วคือกลุ่มที่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์และไม่เห็นด้วย ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ขึ้นในประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในสังคมวงกว้าง
ทัศนะของ”กิตติศักดิ์ ปรกติ” อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอความคิดเห็นเรื่อง มาตรา 112 มาตั้งแต่นิติราษฎร์ยังไม่มีการเปิดเวทีเสนอพิมพ์เขียวยกเลิก 112 อีกทั้งในฐานะความเป็นรุ่นพี่ของกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์จึงน่าสนใจไม่น้อยว่าอ.กิตติศักดิ์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
“อ.กิตติศักดิ์”กล่าวกับ”ศูนย์ข่าวอิศรา ทีมข่าวปฏิรูป”ไว้หลังมีการเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายในธรรมศาสตร์ต่อกรณีมติของผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กบม.)ที่ห้ามใช้ธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวเรื่อง 112 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการปิดกลั้นเสรีภาพ
“ธรรมศาสตร์วันนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม การเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอยู่ที่สมาชิกประชาคมธรรมศาสตร์ ว่าเขาจะตื่นตัวขึ้นมาใช้สิทธิเสรีภาพหรือไม่
ข้อห้ามหรือปฏิกริยาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจมีส่วนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพบ้างแต่สิทธิเสรีภาพเมื่อมีผู้ไปจำกัด ก็ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเสรีภาพนั้นจะลดน้อยถอยลง ถ้าหากว่าผู้เป็นเจ้าของสิทธิเสรีภาพ ยังคงใช้สิทธิเสรีภาพต่อไป
แล้วธรรมศาสตร์โดดเด่นขึ้นมาก็เพราะมีคนไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่มีใครไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่มีใครรู้จักเพราะจะมีผู้ที่ไปต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพ ก็ดีเหมือนกันที่มีผู้ใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพก็ต้องมีขอบเขต ขอบเขตนี้ก็มีเหตุผลของมัน”
- เหตุผลที่ผู้บริหารนำมาอ้างในการไม่ให้ใช้ธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวเรื่อง 112 ฟังขึ้นหรือไม่ ?
สมมุติว่ามีเหตุที่น่าหวาดกลัวว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นจริงทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็มีสิทธิที่จะทำ แต่ถ้ามันไม่มีเหตุอย่างงั้น มหาวิทยาลัยก็ไม่มีเหตุผล ดังนั้นก็ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์
ขณะนี้คุณจึงได้เห็น สังคมธรรมศาสตร์ได้ลุกขึ้นมาทวงถามคำอธิบาย วิพากษ์วิจารณ์ยิ่งทำให้เห็นเลยว่าสิทธิเสรีภาพมันยังมีอยู่ เมื่อมีคนทวงถาม มหาวิทยาลัยก็ต้องมีคำอธิบาย ไม่สามารถมาใช้อำนาจมาปิด หรือห้ามไม่ให้ทวงถามได้ ผมว่ามันกลับทำให้เสรีภาพมีชีวิตชีวามากขึ้น
- มองการกดดันของฝายต่างๆกับข้อเสนอและการเคลื่อนไหวของคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์อย่างไร?
ผมว่าสังคมไทยต้องการการเรียนรู้ เมื่อมีการปะทะกัน แต่ต้องเป็นการปะทะกันทางความคิด มันก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะมันต้องสื่อสารกัน มันต้องสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป
แต่ถ้าไม่ปะทะถึงเวลาแล้วเงียบ แล้วพอถึงจุดหนึ่งใช้กำลังเข้าทำร้ายกัน ข่มเหงกัน ประทุษร้ายกัน อันนี้น่ากลัว แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างแสดงออก ที่สำคัญตอนนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้ มีการข่มขู่มากเกินไป ต้องระงับ ไม่ให้เกิดขึ้น แต่ถ้าบอกว่าผมไม่เห็นด้วยนะ คุณต้องหยุดนะ แค่นี้ไม่เป็นไร การไม่เห็นด้วยกันจะทำให้ต้องสื่อสารกัน โต้แย้งกัน รัฐมีหน้าที่ต้องระวังอย่าให้มีการประทุษร้ายกัน อย่าให้แต่ละฝ่ายใช้กำลัง ข่มขู่กัน เท่านั้นเอง ถ้ารัฐทำภารกิจนี้ก็จะทำให้เกิดความสว่างขึ้นในสังคมนี้
อย่างสื่อมวลชน ถ้าพยายามเสนอด้านที่เป็นการสื่อสารกันอย่างมีเหตุผล สังคมก็จะไปในทางที่ดี ก็ให้วิพากษ์วิจารณ์กัน มีการโต้แย้งกันว่ามีเจตนาร้ายหรือเปล่า มีเจตนาซ่อนเร้น มีเจตนาทุจริตอยู่เบื้องหลังการแสดงออกหรือไม่
การถามกันแบบนี้ก็ทำให้เกิดการโต้แย้งกัน สื่อสารกัน ทำให้เกิดความเข้าใจ การกล่าวหากล่าวร้ายไม่เป็นไร นำไปสู่การโต้แย้งได้แต่ว่าห้ามข่มขู่ ห้ามประทุษร้าย อันนี้เราต้องต่อต้าน และสังคมต้องร่วมกันต่อต้านไม่เอาท่าทีข่มขู่ ยุยงให้เกลียดชังหรือยุยงให้ประทุษร้าย
- แต่ความขัดแย้งอาจออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่สังคมวงกว้างหรือไม่
อย่างในธรรมศาสตร์ก็มีทั้งอาจารย์ และนักศึกษาที่ก็เห็นต่างกันชัดเจน ?ถ้าสังคมเข้มแข็งพอ ก็ไม่บานปลายถ้าเราทำบุญไว้พอ ความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรงก็ไม่เกิด อย่างน้ำท่วมธรรมศาสตร์เราก็ต้องยอมรับเลยว่าทำบุญไว้ไม่พอ บุญที่เคยทำไว้มันหมดแล้ว ก็ต้องทำบุญกันใหม่ คือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมประโยชน์ในอนาคต การจะก่อสร้างอะไรก็ต้องคำนึงว่าน้ำจะมาได้ ถ้าคิดแบบนี้การเกิดน้ำท่วมครั้งนี้อาจจะเกิดผลดีคือทำให้เราพร้อมจะเตรียมรับมือกับภาวะน้ำท่วมโลกในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ เพราะเรามีบทเรียนนี้ ประเทศอื่นยังไม่ได้เตรียมตัวเพราะไม่มีบทเรียนแต่เราเตรียมตัวได้เพราะเรามีบทเรียน มันก็นำมาใช้ได้กับหลักการมองโลกในแง่บวก
- ความขัดแย้งของคณาจารย์ในธรรมศาสตร์ในเรื่อง 112 หรือนิติราษฎร์ คนภายนอกอาจไม่เข้าใจจะมองว่าแตกแยกกัน ?
สังคมไทยต้องเรียนรู้ ความจริงในธรรมศาสตร์ เวลาประชุมกัน อาจารย์ในธรรมศาสตร์ ปะทะกันทางความคิดแรงมากเลย แต่เราไม่ได้โกรธกัน แต่ถ้าใครมานั่งฟังอาจคิดว่าเราโกรธกันหรือเป็นศัตรูกัน แต่ในทางความคิดเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเรา โดยยังเป็นมิตรกันได้
สิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ทุกวันนี้เรา อาศัยความเกรงใจและความนอบน้อม สยบยอมจนทำให้เหตุผลไม่สามารถเล็ดลอดออกมาแสดงตัวให้เห็น ดังนั้นก็ต้องให้ความสำคัญกับเหตุผลมากขึ้น และความจริงมากขึ้น ก็จะทำให้โอกาสของความรุนแรงเกิดขึ้นได้น้อยมาก
ปรากฏการณ์ที่คนเห็นต่างกันเวลาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าควรได้รับการคุ้มครองอย่างไร ตามมาตรา 112 มันสะท้อนให้เห็นถึงว่าผู้คนในสังคมไทยมองสถาบันพระมหากษัตริย์แตกต่างกัน
ปัญหาของสิ่งนี้ก็คือ สถานะของสถาบันในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐดำรงฐานะอยู่อย่างไรในระบบประชาธิปไตย และดำรงสถานะอยู่อย่างไรในสังคมอุดมคติของความเป็นชาติ ที่ประกอบด้วยชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ปัญหาว่าภาพในมโนคติหรืออุดมคติของพระมหากษัตริย์ในทัศนะของผู้คนที่มีการสะท้อนออกมาที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 แสดงให้เห็นว่ามันไม่ตรงกัน ในขณะเดียวกันการกล่าวถึง 112 ว่าถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือการเมืองก็สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางการเมืองว่ามีการใช้สถาบันเพื่อกดหรือข่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับตน
ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนเสนอให้แก้ไข แล้วคนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่ามีความพยายามที่จะบั่นทอนว่ามีความพยายามที่จะโค่นล้มสถาบันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งการต่อสู้ทางการเมืองทั้งหมด
ปัญหานี้ก็สะท้อนต่อไปอีกเป็นขั้นต่อไปคือจากอุดมคติที่ต่างกัน ทัศนะต่อสถาบัน การจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างกัน แล้วก็เกิดทัศนะว่าเรื่องนี้มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
- ในฐานะนักวิชาการกฎหมายมุมมองต่อเรื่อง 112 เห็นว่าควรเป็นอย่างไร ให้ยกเลิกไปเลยหรือให้ทบทวนแก้ไขลดโทษลง?
มาตรา 112 ก็ควรจะยังคงอยู่ ตราบใดที่เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ เราต้องคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ และการคุ้มครองดังกล่าวตัวกฎหมายก็ต้องอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญ เพราะว่าที่ผ่านมาในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันเราพัฒนาความเชื่อของประชาชนว่า พระมหากษัตริย์เป็นเอกลักษณ์ของชาติ หรือมีความสำคัญแทบจะเรียกว่าอยู่แทนที่ความเป็นชาติไทยเคียงคู่อยู่กับพระมหากษัตริย์ไทย
เช่นการสร้างเสริมความรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์เป็นพ่อ ซึ่งความจริงผิดข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นการพัฒนาว่าความเป็นตัวตนของคนไทยและชาติไทย เคียงคู่อยู่กับความเป็นตัวตนของพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นคนไทยทั่วไปโดยเฉลี่ยก็ต้องรักและเทิดทูน และเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ การที่จะมีการกล่าว ดูหมิ่น จาบจ้วงก็จะได้รับการต่อต้าน เพราะเป็นของรักของหวงของเทิดทูน เป็นของถือ
ถ้าเราไม่คุ้มครองให้ดีก็จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงเหมือนกับในสหรัฐอเมริกา ใครไปกระทืบเหยียบธงชาติเข้า เหมือนกับไปย่ำยีหัวใจเขา ขณะเดียวกันสิ่งที่เติบโตมาพร้อมๆกับ การเติบโตของความเชื่อถือ ความรักนับถือต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็คือความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ความสำคัญของกฎหมายและกติกาบ้านเมือง
ปัญหาก็คือทั้งสองสิ่งนี้ถ้าไม่ระวังก็จะขัดแย้งกัน ในระบอบประชาธิปไตยคนก็จะวิพากษ์วิจารณ์กัน การนินทาเป็นคุณสมบัติของคนไทยก็จะขยายตัวมากขึ้นภายใต้ค่านิยมแบบประชาธิปไตย ดังนั้นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีมากขึ้น
- แล้วจะแก้ไขจัดการไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันได้อย่างไรต่อเรื่องการปกป้องคุ้มครองสถาบันเอาไว้ในขณะที่พัฒนาการของสังคม การเมือง กฎหมาย กำลังพัฒนาก้าวไปเร็วมาก?
เมื่อเรามองเห็นว่ามันจะขัดแย้งมากขึ้น คุณจะจัดการอย่างไร ห้ามหรือลงโทษหนักๆ เมื่อมีใครไปกระทบกระเทือนหรือคุณจะทำให้เบา แล้วใช้เหตุผล สติปัญญา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ต้องอยู่ในกรอบเหตุผลและสติปัญญา
ถ้าเราใช้การลงโทษหนักก็คือเราบอกว่า คุ้มครองพระมหากษัตริย์อยู่ด้วย การทำให้กลัวว่าจะถูกลงโทษ ผมเห็นว่าไม่ได้ผลหรอกในระยะยาวมันอยู่ไม่ได้ มันจึงต้องปรับความเชื่อถือยกย่องสถาบันว่าสถาบันดำรงอยู่อย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยอย่างไรให้ได้
ขณะเดียวกัน สถาบันก็ต้องเป็นของประชาชนมากขึ้น ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น พระมหากษัตริย์อย่างรัชกาลที่ 9 ได้ชื่อว่าใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดมากกว่ารัชกาลอื่นๆ แต่ว่าสถาบันที่ใกล้ชิดกับประชาชนย่อมเป็นธรรมดาที่ประชาชนต้องกล่าวถึง เมื่อกล่าวถึง แล้วกระทบกระเทือนแล้วต้องรับโทษหนัก เท่ากับว่าสถาบันด้านหนึ่งควรเป็นที่รัก ด้านหนึ่งควรจะเป็นที่หวาดกลัว
ซึ่งอันนี้ไม่สมควรในระบอบประชาธิปไตย เพราะทำให้สถาบันไม่อยู่สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ดังนั้นโทษควรเบาลง เพราะสถาบันต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ความรัก และเชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตย เชื่อมโยงกับประชาชน
อันที่สอง ต้องอยู่ด้วยความนับถือ ความคารวะ ด้วยความเชื่อใจกัน ภักดีต่อกัน ไม่ใช่อยู่ด้วยความกลัวว่าจะถูกลงโทษหากว่าไปกระทบกระเทือนอะไร
- ก็คืออาจารย์เห็นด้วยในการให้ปรับปรุงแก้ไข 112 เช่นให้ลดโทษ?
บทลงโทษถ้าผู้ใดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ควรลงโทษไม่เกิน 3 ปีหรือสูงสุดไม่เกิน 7 ปี อันนี้ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอนิติราษฎร์ เพราะการกำหนดโทษไว้สูงถึง 15 ปีมากเกินไป
เราควรต้องจัดระเบียบความสัมพันธ์นี้ใหม่ เพื่อให้ค่อย ๆขยับไปสู่ความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อต่อกันอย่างมีเหตุมีผล และอาศัยสติปัญญาและความจริงเป็นพื้นฐาน ก็จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่กับสังคมไทยควบคู่กับระบอบประชาธิปไตยได้ยาว
- แล้วปัญหาการบังคับใช้ของมาตรา 112 คืออะไร?
การใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ นี้คือปัญหาใหญ่ คนที่เราไม่ชอบ วิธีที่จะกำจัดเขาง่ายที่สุด ก็คือบอกว่าเขาไม่จงรักภักดี ถูกไหมครับ บอกว่าเขาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งที่การกระทำของเขาอาจไม่เข้าข่ายเลย แต่ว่ามีการหยิบโยงเข้าไป เพราะเป็นค่านิยม คุณค่าอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนเห็นว่าการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นสิ่งที่ไม่ถูก จู่ๆ เราจะกล่าวหาศัตรูของเราหรือทำให้ศัตรูของเราถูกบั่นทอนความสำคัญ
เช่น กล่าวหาว่าเขาไม่จงรักภักดี หรือกล่าวหาว่าเขาทุจริตคอรัปชั่นก็ไม่รุนแรงเท่ากล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เราจะเห็นได้ว่ากรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าทุจริตโกงกินก็ไม่รุนแรงหรือถูกประณามเท่ากับถูกกล่าวหาว่า หมิ่นสถาบัน แน่นอนว่าอาจมีการกระทำบางอย่างที่ทำให้คนครหาได้ แต่ความรุนแรงของข้อกล่าวหามันแรงมาก ย่อมจะมีผู้เอาไปใช้ให้มีประโยชน์ในทางที่เกินเลยกว่าที่ควรจะเป็นได้เหมือนกัน อย่างการปฏิวัติทุกครั้งก็จะยกเหตุผลเรื่องนี้มาอ้าง
เราจะบอกว่าใครหมิ่นศาสนา ถ้าในสังคมที่นับถือศาสนาอิสลาม ใครหมิ่นไม่ได้มีโทษถึงตาย อย่างนักเขียนชาวอังกฤษ ซัลแมน รัชดี (Salman Rushdie) ก็ถูกอิหร่านคาดโทษประหารชีวิตเลย (จากกรณีการเขียนหนังสือ The Satanic Verses เมื่อปี 2531 ที่ทำให้เขาถูกประท้วงอย่างกว้างขวางในหมู่มุสลิม โดยมีคำประกาศจากอะญาตุลลอฮ์ โคไมนี อดีตผู้นำสูงสุดและผู้นำทางจิตวิญญาณของอิหร่าน ประกาศเมื่อ14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ให้ชาวมุสลิมสังหารซัลแมน รัชดี โทษฐานดูหมิ่นศาสนาอิสลาม-กองบรรณาธิการ)ซึ่งทำให้เขาต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนตัวเป็นเวลานับสิบปี แล้วก็กลายเป็นปฏิปักษ์ของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งที่เขาก็กล่าวถึงศาสนาอิสลาม ในเชิงวิพาษ์วิจารณ์ที่ควรจะเป็นสิทธิของเขา แต่มันไปกระทบกับความรู้สึกของคนนับถือศาสนาอิสลาม
การประกาศดังกล่าวก็ทำให้ผู้นำอิสลามมีความเข้มแข็งมากขึ้น มันเท่ากับชี้ให้เห็นถึงซาตานว่าเราต้องต่อสู้กับซาตาน ก็ทำให้บทบาทการเป็นผู้นำเราชัดเจนมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาของบุคคลที่จะไปชี้โทษผู้อื่นเพื่อทำให้ตัวเองสำคัญมากขึ้น แต่มันก็อาจจะกลายเป็นการข่มเหงผู้อื่นที่ทำให้สังคมเกิดความไม่เป็นธรรมได้เหมือนกัน
สังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สูง มีการใช้เหตุผลสูงก็จะไม่คล้อยตามง่าย มันก็จะทำให้การใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทำได้ยากขึ้น เพราะคนมีเหตุผลกลั่นกรอง สังคมจึงต้องฝึก
- ข้อเสนอของนิติราษฎร์เรื่อง 112 หลายเรื่องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เช่นข้อเสนอให้บทลงโทษของพระมหากษัตริย์ออกมาจากพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากปัจจุบันที่รวมกัน อาจารย์มองอย่างไร ?
ผมไม่เห็นด้วยเพราะผมเห็นว่า ทั้งหมดอยู่หน่วยเดียวกัน พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ทั้งหมดล้วนเป็นองค์ประกอบของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นความเป็นพระมหากษัตริย์ต้องสืบสันติวงศ์ การสืบสันติวงศ์ก็ต้องมีรัชทายาท ไม่อย่างงั้นก็สืบสันติวงศ์ที่มีความหมายถึงการสืบเชื้อสายของตระกูลที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีตามหลักโบราณราชประเพณีมันค่อยๆ เสื่อมลง แน่นอนว่าผู้ที่จะมาเป็นรัชทายาทก็ต้องผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีจากผู้เป็นพระมหากษัตริย์
ดังนั้นพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้แทนพระองค์ต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสถาบันกษัตริย์โดยเท่าเทียมกัน
- คิดว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาบทบาทของสถาบันได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือไม่ กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย ?
ที่ผ่านมาผมก็เห็นว่าสถาบันพยายามปรับแล้ว แต่ระบบราชการไม่ปรับตาม กระบวนการยุติธรรมไม่ปรับตาม เพราะว่าความเข้มแข็งเด็ดขาดของกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ ก็ล้วนแต่ต้องการพยายามแสดงว่าตัวเองจงรักภักดี แต่อาจเกินกว่าพระราชประสงค์
ทั้งที่ทรงมีพระราชดำรัส The king can do wrong หรือที่ทรงมีพระราชดำรัสว่าพระมหากษัตริย์อาจถูกวิจารณ์ได้ แต่ตำรวจ อัยการ ศาล ทหาร นักการเมือง ทุกคนบอกว่าห้ามกระทบกระเทือนพระมหากษัตริย์ เพราะว่าฉันจงรักภักดีคนอื่นไม่จงรักภักดี เป็นประโยชน์กับคนเหล่านี้ ทำให้สถานะเขาเข้มแข็งมากขึ้น จนกระทั่งละเลยพระราชประสงค์ มองไม่เห็นพระราชกระแส
เหมือนกับตำรวจที่ต้องคอยรักษาความปลอดภัยในการจัดจราจร ถ้าคำนึงถึงพระราชประสงค์ก็ต้องจัดตามที่ทรงมีพระราชกระแสว่า ให้กั้นจราจรแค่ฟากเดียวไม่ต้องกั้นหมด และอย่าให้เกินเวลาที่กำหนด ต้องทำอย่างเคร่งครัด แต่ว่าระหว่างการปฎิบัติตามพระราชกระแส กับการรักษาประโยชน์ของตัว ข้าราชการเลือกเอาอย่างหลัง ใครไปวิพากษ์วิจารณ์เข้าก็บอกว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นข้อแก้ตัวง่าย
- ฝ่ายครก. 112 ก็ยังประกาศจะเคลื่อนไหวเรื่อง 112 ต่อไป อาจารย์มองว่าการถกเถียงเรื่องแก้-ไม่แก้ 112 ถึงเวลาสังคมต้องคุยกันถกเถียงกันหรือยัง?
ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเป็น การสนทนาในเรื่องสาธารณะมันมีมาตลอด แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาปรากฏเด่นชัดขึ้นในไม่กี่ปีมานี้
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ามีการเฉลิมฉลองใหญ่ๆเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นครบรอบการขึ้นครองราชย์ 84 ปี เฉลิมพระชนม์พรรษา การเชิดชูสถาบันก็ทำให้บทบาทของสถาบันเป็นที่สนใจของสาธารณชน ก็ทำให้เป็นที่พูดคุยกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าความเข้าใจที่มีต่อสถาบัน เป็นความเข้าใจที่แตกต่างกันมากในสังคม
ยกตัวอย่างง่ายๆ ความเข้าใจเรื่องการถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์มีความเข้าใจไม่ตรงกัน ถ้าว่ากันตามกฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ห้ามมิให้กราบพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะแต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ที่เราปฏิบัติเรายังกราบไหม เราก็จะเห็นภาพการกราบในที่สาธารณะซึ่งผู้รู้ทั้งหลายก็รู้ว่ามันเกิดการขัดกันแล้ว มันเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันแล้ว
หรือการถวายความปลอดภัยซึ่งแน่นอนการเสด็จพระราชดำเนินไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องได้รับการถวายความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ขณะเดียวกันการจราจรก็ติดขัดจะจัดกันอย่างไร มันเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นต้องถกเถียงกัน เรื่องนี้ทรงมีพระราชกระแสว่าให้จัดการเสียให้เรียบร้อย ห้ามมิให้กั้นรถในเวลาที่ไม่ใช่เป็นเวลาราชการ
แต่เรื่องนี้ถูกปกปิด เพราะตำรวจเห็นว่าจะทำให้รักษาความปลอดภัยยาก เราก็จะเห็นได้ว่ามีผู้เกี่ยวข้องหลายเรื่อง ความประสงค์ของราชสำนัก ประสงค์ว่าไม่ควรจะถวายความปลอดภัยจนเกิดเป็นอุปสรรคต่อการจราจร แต่ตำรวจต้องการประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัย ก็ไม่คำนึงถึงการจราจรมากเท่ากับความปลอดภัย ก็เกิดประโยชน์ได้เสียขัดกันแล้ว ก็จะรู้สึกขัดแย้งเวลาที่จราจรติดขัด ผมจึงเห็นว่าสังคม ก็ต้องถกเถียงนะว่าควรเป็นอย่างไรกฎเกณฑ์มิเช่นนั้นก็เป็นความขัดแย้ง ในสังคมที่มีการติดต่อสื่อสารวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น เราต้องจัดระเบียบว่าแค่ไหนทำได้ แค่ไหนทำไม่ได้ให้ชัดเจน จึงเกิดการโต้เถียงในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และจะมากไปกว่านี้อยู่แล้ว