- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- วิกฤติโลกร้อน เราจะทำอะไรได้มากกว่า "ปิดไฟ – ใช้ถุงผ้า" ?
วิกฤติโลกร้อน เราจะทำอะไรได้มากกว่า "ปิดไฟ – ใช้ถุงผ้า" ?
ทุกคนต้องไม่กลัวกับความอยุติธรรมทั้งหลายในบ้านเมืองเรา เมื่อเราเห็นว่าโครงการที่กำลังจะสร้างอยู่นี่ไม่มีความยุติธรรม เราต้องออกมาเรียกร้อง ออกมาใช้สิทธิของเราให้เต็มที่ เพราะเพียงกดไลก์ในเฟซบุ๊ค บางครั้งอาจไม่พอ สังคมเราต้องการการลงมือด้วยเช่นกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ในงานเสวนา “ดูหนังสนทนา จิบน้ำชา รับลมหนาวเคล้าโลกร้อน” จัดโดย กลุ่มโลกเย็นเป็นธรรม (Thai Climate Justice) ณ รูทการเด้น (ROOT GARDEN) ทองหล่อ มีการเปิดเวทีเล็กช่วงค่ำเพื่อพูดคุยถึงภาวะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนรุ่นหน้าอีกต่อไป แต่เป็นสถานการณ์ที่คนรุ่นปัจจุบันกำลังเผชิญอย่างทั่วถึง แม้จะไม่เท่าเทียม
ซึ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ ตัวแทนรัฐบาลทั่วโลก จะไปรวมตัวกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในการประชุม COP21 ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อสร้างข้อตกลงใหม่ที่จะกำหนดว่าประเทศใดจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เพื่อให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้
นั่นคือ “จุดแตกหัก” ที่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ร้ายแรงทั้งหลายจะย้อนกลับไม่ได้อีกต่อไป
นางสาวฝ้ายคำ หาญณรงค์ หนึ่งในคณะทำงานโลกเย็นเป็นธรรม พูดคุยกับทางสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงพันธะสัญญาสารเกียวโต ที่ว่าด้วยการลดก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ มาถึงตอนนี้ไม่มีใครอยากทำตามอีกต่อไปแล้ว ทำให้ ณ ขณะนี้เราไม่มีเครื่องมือใดๆ มาผูกมัดให้ประเทศต่างๆ ลดการใช้พลังงานลง ซึ่งอาจมีอยู่บ้างอย่าง กลุ่มสหภาพยุโรป
เมื่อหมดอายุของพิธีสารเกียวโต สิ่งหนึ่งที่จะเกิดคือโลกเราจะขาดข้อตกลงที่จะต่อรองว่าให้ประเทศไหนลดใช้พลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนเท่าไร ซึ่งในหลักฐานทางวิทยศาสตร์ชี้ชัดว่า เราต้องไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีก ต้องลดอีกเยอะเพื่อให้ไม่ถึงจุดแตกหัก
แต่ประเด็นก็คือ แนวทางที่จะเกิดขึ้นมาที่ปารีสจะได้ข้อตกลงใหม่ที่มาแทนที่พิธีสารเกียวโต คาดว่าจะเป็นแนวทางที่ให้แต่ละประเทศลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยคาร์บอนแบบสมัครใจ เพราะที่ผ่านมาประเทศที่พัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่มีใครยอมใคร เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างถึงการพัฒนา กลไกเศรษฐกิจ เพราะถึงแม้แต่ละประเทศจะบอกว่า ตั้งใจดีในการลด แต่การเปลี่ยนข้อตกลงจะทำให้ไม่มีอะไรเข้ามาการันตีว่าอุณหภูมิจะไม่ขึ้นถึง 2 องศา
"แม้นักการเมืองทั่วโลกจะออกมาบอกว่าไม่มีทางที่ปล่อยให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศา แต่เขาเองก็ไม่มีเครื่องมือแก้ปัญหาตรงนี้"นางสาวฝ้ายคำ ระบุ และเห็นว่า ดังนั้นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ ภาคประชาชนทั่วโลกจะพยายามกดดันให้นักการเมืองที่จะไปประชุมที่ปารีสในปลายเดือนพฤจิกายนนี้ ยอมตกลงในข้อเสนอแบบบังคับ แต่ดูเหมือนแนวโน้มจะไปในทางลบมากกว่า ซึ่งมันจะมีวาทะรูปแบบหนึ่งซึ่งก็มีเหตุมีผลนั่นคือ “ถ้าเรายอมปล่อยมลพิษ แต่ได้กำไร เราก็ยอม” แต่กลับกันคุณไม่ได้คำนึงถึงผลระยะยาวของคนรุ่นต่อไป ซึ่งความยั่งยืนต่างหากที่ต้องพูดถึง
จุดยืนของไทยในเวทีโลก
ในส่วนจุดยืนของประเทศไทยในเวทีโลก ในฐานะที่ตอนนี้ไทยได้คิวเป็นผู้นำ G77 ซึ่งคือผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา เธอตั้งคำถามว่า ไทยเองควรจะทำอย่างไรในการักษาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของโลก ?
สิ่งหนึ่งที่ไทยควรผลักดัน นั่นคือการทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ทำพันธะสัญญาผูกพันทางกฎหมายว่าต้องลดอะไรเท่าไร ซึ่งไทยควรเป็น "เสียงที่นำ" ในเรื่องนี้ในฐานะผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา
"ถ้าเทียบไทยกับลาว ประเทศเราจะมีบริบทที่ต่างกันในฐานะที่เรามีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงกว่าอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่รัฐไทยต้องทำคือการกลับมาทบทวนมาจะมีส่วนในการควบคุมมันอย่างไร ซึ่งปัญหาของเมืองไทยคือลักษณะการทำงาน เช่นกระทรวงหนึ่งทำงานภายใต้อนุสัญญาที่ว่าด้วยเรื่องการควบคุมการปล่อยก๊าซ แต่กลับกันอีกกระทรวงหนึ่งกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นี่แหละคือปัญหาของระบบไทย การทำงานที่ไม่เป็นองค์รวมทั้งหมด"
เมื่อพูดถึงถ่านหิน ในเวทีโลก เธอมองว่า ถ่านหินกำลังถูกรังเกียจอย่างมาก ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาหรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างออกมายอมรับและหาทางควบคุม ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจถ่านหินเป็นอย่างมาก
"กลุ่มธุรกิจถ่านหินจึงหันมามองตลาดใหม่นั่นคือในโซนบ้านเราแทน รวมไปถึงแอฟริกา ซึ่งในประเทศเหล่านี้ก็ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่า ถ่านหินนั้นสะอาด"
ในฐานะคนรุ่นใหม่ เธอตั้งคำถามต่อไปว่า "แล้วมันสะอาดจริงไหม ในแง่ของคาร์บอนไดออกไซค์ก็เห็นชัดเจนว่า ไม่สะอาด และหากมองดูทั้งระบบจริงๆ การใช้พลังงานถ่านหิน ไม่ได้อยู่เพียงแค่กระบวนสร้างไฟฟ้า แต่รวมไปถึงการขนส่ง การะเบิดเหมืองต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างกว่ามาก"
กรุงเทพฯ อยู่ระดับไหนของวิกฤติสิ่งแวดล้อม
แน่นอนคนกรุงเทพฯ ต่างรู้กันว่าวิกฤติ สภาพชีวิตของคนกรุง ทั้งการเป็นอยู่ การเดินทาง การขนส่งต่างๆ เราต่างรับรู้กันได้ว่า มีมลพิษในระดับที่สูงมาก ความแอดอัดสูงมาก ซึ่งไม่ทำให้คนกรุงมีคุณภาพชีวิตที่ดีเลย
ปัญหาของกรุงเทพฯ คือ ไม่มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรอย่างจริงจังเลย สะท้อนให้เห็นว่า หากเราต้องเผชิญภัยวิกฤติสิ่งแวดล้อมขึ้นมาจริงๆ ยิ่งกรุงเทพฯ คือหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงก็มั่นใจได้เลยว่า กรุงเทพฯ ของเราไม่ได้มีความพร้อมในการรับมือต่อสิ่งเหล่านี้ เพราะเราไม่มีการจัดการหรือการตื่นรู้เรื่องนี้ โดยเฉพาะในแง่ของการเตรียมรับมือ
เมื่อมองอีกแง่หนึ่ง การผลิตมลพิษก็พบว่า ยิ่งไม่มีการจัดการเรื่องนี้เลย ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สามารถจัดการและพัฒนาในเรื่องนี้ได้ หากผู้รับผิดชอบ หน่วยงานรัฐหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง
เธอชี้ว่า ก่อนที่รัฐจะวางนโยบายอะไร ประชาชนคนที่อาศัยอยู่ต้องลุกขึ้นมากดดันและผลักดันให้เกิดนโยบายในการจัดการสิ่งแวดล้อมขึ้นมาด้วย
"ถามว่า คนในกรุงเทพฯ ตื่นรู้กับสิ่งเหล่านี้เท่าไร แน่นอนทุกคนรู้ว่า เมืองนี้ไม่น่าอยู่ มันไม่ได้แฮปปี้จริงๆ แต่คนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้เมืองน่าอยู่ จำนวนตรงนี้แหละที่ยังมีน้อยอยู่ ซึ่งกรุงเทพฯ ยังต้องการกลุ่มคนที่จะมาช่วยกันระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น อย่างเช่น ช่วงนี้เริ่มมีการถกเถียงในเรื่องการใช้จักรยาน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีการพูดถึงระบบขนส่งภายในเมือง หรือแม้แต่เรื่องของ มักกะสัน ที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้รัฐรับรู้ว่า คนเมืองยังต้องการพื้นที่สีเขียวอยู่" สิ่งเหล่านี้เมื่อทำต่อๆ ไป เธอมองว่า ก็ช่วยให้เกิดการตื่นรู้ได้มากขึ้นและเชื่อว่าจะช่วยผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
เมื่อพูดอย่างนี้หลายๆ คนก็จะเริ่มมองว่า เป็นเรื่องยากและไม่อยากทำ ก็ทนๆ ฝืนๆ อยู่ไป แต่จริงๆ เราทุกคนสามารถช่วยได้ นั่นคือเริ่มจากตัวเราเอง เปลี่ยนตัวเราเอง ลดการใช้พลังงาน การใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น จากนั้นก็ต่อยอดไปยังเพื่อนๆ ส่งต่อกันไปเป็นโครงข่าย แล้วต่อไปสิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยๆ ขยายเป็นวงกว้างไปเอง
และนี่อาจเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับการเปลี่ยนเเปลง !!
ส่วนประเด็นที่ใหญ่อีกหน่อยคือ การที่เราทุกคนต้องไม่กลัวกับความอยุติธรรมทั้งหลายในบ้านเมืองเรา เช่นเมื่อเราเห็นว่า โครงการที่กำลังจะสร้างอยู่นี้ไม่มีความยุติธรรม เราต้องออกมาเรียกร้อง ออกมาใช้สิทธิของเราให้เต็มที่ เพราะเพียงกดไลก์ในเฟซบุคบางครั้งอาจไม่พอ เธอยืนยันว่า สังคมเราต้องการการลงมือด้วยเช่นกัน