- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- สสส. กับผลต่อสังคม
สสส. กับผลต่อสังคม
การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการด้านเด็กและเยาวชนที่ สสส. ให้การสนับสนุนนั้น พบว่า ทุกๆ 1 บาท ที่ลงทุนให้ผลตอบแทนกลับสู่สังคมประมาณ 7 บาท ทำไมถึงคุ้มค่ามากเช่นนั้น?
ขณะนี้สังคมกำลังงุนงงกับข่าวการตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ข่าวมีเนื้อหาที่อ้างลอยๆ หรือสรุปไปก่อนว่ามีการทำงานเกินขอบเขตของกฎหมาย
ทีดีอาร์ไอเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจาก สสส. ให้วิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของ สสส. โดยมี Rockefeller Foundation ร่วมให้ทุนสนับสนุนในโครงการเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลของแหล่งทุน ไม่เอนเอียงไปทาง สสส.
การวิเคราะห์มองมิติทางสุขภาพที่กว้างและเกี่ยวพันไปถึงมิติทางสังคม ซึ่งแน่นอนนโยบายทางสุขภาพนั้นเป็นนโยบายสังคมอย่างหนึ่ง
การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการด้านเด็กและเยาวชนที่ สสส. ให้การสนับสนุนนั้น พบว่า ทุกๆ 1 บาท ที่ลงทุนให้ผลตอบแทนกลับสู่สังคมประมาณ 7 บาท ทำไมถึงคุ้มค่ามากเช่นนั้น?
โครงการที่ลงไปสู่เด็กเห็นผลว่า ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ครู และคนในชุมชน การสำรวจพบว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีขึ้น มีการออกกำลังกายมากขึ้น ผู้ปกครองพอใจกับการใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ของเด็ก ชุมชนได้มีโอกาสร่วมในกิจกรรมของเด็ก เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นดีขึ้น กิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายในโรงเรียน การปลูกผัก การขี่จักรยานการสำรวจวัดในชุมชน การช่วยกันทำสื่อเผยแพร่ความรู้ในชุมชน กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพกายดีขึ้น สุขภาพจิตก็ดีขึ้น ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ชุมชน ครูกับเด็ก ก็ดีขึ้นด้วย
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นตัวอย่างของการ “สร้างเสริมสุขภาวะ” หรือ “สร้างเสริมสุขภาพ” ตามมาตรา 3 ของกฎหมายจัดตั้ง สสส. ที่ให้คำจำกัดความของการ “สร้างเสริมสุขภาพ” ว่า การสร้างเสริมให้คนมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของคน สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่ร่างกายที่แข็งแรง จิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดี การประเมินผลตอบแทนทางสังคมข้างต้น ชี้ว่า การสร้างเสริมสุขภาพในความหมายดังกล่าวมิใช่สิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะสามารถวัดได้ว่าการลงทุนให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า การวิเคราะห์ผลตอบแทนในลักษณะนี้ทำกันในหลายประเทศโดยมีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมในโครงการที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร 1 บาทให้ผลตอบแทนทางสังคม 13 บาท
โครงการเกี่ยวกับผู้พิการและผู้สูงอายุ ให้ผลตอบแทนทางสังคม 1.2 และ 3 บาท
และโครงการด้านคุ้มครองผู้บริโภค ให้ผลตอบแทนทางสังคม 86 บาท
ผลงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมีผลกระทบต่อสังคมสูง เพราะมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนสูงมาก เช่น โครงการจัดการความความเสี่ยงในการบริโภคน้ำดื่มปนเปื้อนสารตะกั่วในโรงเรียน เริ่มจากการที่พบว่า น้ำดื่มในโรงเรียนมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งจากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า หากเด็กได้รับสารตะกั่วในปริมาณมากจะมีผลต่อการพัฒนาสมอง ระดับสติปัญญา และพฤติกรรมของเด็กอย่างถาวร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ยกเลิกการใช้เครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้สารตะกั่วบัดกรีและจัดหาเครื่องทำน้ำเย็นใหม่ที่ปลอดภัย
โครงการยังได้ทำให้เกิดประกาศเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ ตามมาอีก ซึ่งผลเหล่านี้ส่งไปถึงเด็กและผู้บริโภคจำนวนมากมาย รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและครูย่อมรู้สึกยินดีที่ลูกและเด็กในโรงเรียนมีสุขภาวะที่ปลอดภัย
ผลตอบแทนทางสังคมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการทำงานของ สสส. ฝ่ายเดียว การร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันทำให้เกิดผลตอบแทนต่อสังคมที่สูงเช่นนี้ได้
ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่เน้นเป้าหมายและมองสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมแบบ สสส. โครงการหลายอย่างอาจจะไม่เกิด หรือเกิดอย่างเชื่องช้าใช้เวลานานหรือเกิดแบบไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนให้เด็กในโรงเรียนในชนบทจำนวนมากมีโอกาสได้เรียนว่ายน้ำ เพราะมีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยจมน้ำตายอย่างต่อเนื่อง โครงการได้ช่วยให้เด็กว่ายน้ำเป็นถึงแม้โรงเรียนเหล่านั้นจะไม่มีสระว่ายน้ำ โดย สสส. ให้การสนับสนุนแก่เด็กและครูในการเดินทางไปเรียนว่ายน้ำนอกสถานที่
อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น โครงการสนับสนุนโรงเรียนเรื่องการแข่งกีฬาสี ซึ่งอาจจะเป็นโครงการที่โรงเรียนเคยทำอยู่แล้ว แต่การสนับสนุนจาก สสส. ทำให้เด็กสามารถแข่งกีฬาสีโดยมีอุปกรณ์กีฬาหลากหลายชนิดมากขึ้น ทำให้เด็กสนุกกับการเล่นกีฬาที่หลากหลาย ได้มีโอกาสเช่นเดียวกับเด็กมีฐานะในเมือง
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยากมากในระบบงบประมาณปกติ กิจกรรมในหลายโครงการที่ สสส. สนับสนุนมีลักษณะเดียวกันคือ เป็นการทำงานในเชิงรุก โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และเป็นโครงการที่ระบบงบประมาณปกติจัดสรรเงินให้ไม่เพียงพอหรือไม่ทั่วถึง ที่สำคัญทุกโครงการเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของคนไทยในความหมายที่กว้างมากกว่ามิติสุขภาพที่เป็นเชิงกายภาพเท่านั้น และครอบคลุมกว้างกว่าเรื่องเหล้าหรือบุหรี่เท่านั้น
งานสร้างเสริมสุขภาพในลักษณะองค์รวมของ สสส. ย่อมต้องอาศัยสื่อมวลชนและการรณรงค์เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพราะสื่อและการรณรงค์เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้คนปรับพฤติกรรม แม้แต่แพทยสภาเองก็เห็นความสำคัญในการให้ความรู้แก่สื่อ ดังเช่นที่ พล.อ.ต. นพ. อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ยังได้ไปร่วมให้ความรู้แก่นักข่าวที่สถาบันอิศรา ภายใต้โครงการที่ สสส. สนับสนุนเช่นกัน
ท่านอาจจะสงสัยว่า การออกมานำเสนอข้อมูลเช่นนี้ เป็นเพราะทีดีอาร์ไอได้รับทุนวิจัยจาก สสส. หรือ?
ที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอ เคยได้รับทุนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สำนักงาน กสทช. หรือหน่วยงานอื่นๆ แต่ก็เคยวิพากษ์การดำเนินงานของหน่วยงานเหล่านั้น บนพื้นฐานของข้อมูลเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือแม้แต่ สสส. เราก็เคยวิพากษ์โดยตรงว่า ให้มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงให้สังคมได้รับทราบว่าสิ่งที่ สสส. ทำนั้นได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ได้ตั้งเป้าไว้หรือไม่ และมีผลงานคุ้มค่ากับเงินภาษีประชาชนหรือไม่ การให้ความรู้แก่สาธารณะในเรื่องสร้างเสริมสุขภาพก็เป็นสิ่งที่สสส. ควรทำมากขึ้น ไม่เช่นนั้นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาวะก็จะยังคงอยู่ในสังคมไทยไปอีกนาน
มีบ้างหรือไม่ที่โครงการที่ สสส. เคยสนับสนุนไม่ประสบความสำเร็จ เราทราบว่า มี และโครงการเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนให้ได้ดำเนินการต่อหลังจากได้รับการประเมิน
การตรวจสอบโครงการของ สสส. ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าหน่วยงานราชการอื่นๆ บางครั้งอาจจะมากกว่าเสียด้วย เช่น ต้องมีการตรวจสอบบัญชีจากผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกองค์กร และต้องมีการประเมินจากองค์กรภายนอกถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่
กลไกทั้งการคัดเลือกโครงการและการตรวจสอบมีการประกาศอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี จุดอ่อนของกลไกที่ สสส. ใช้อยู่ก็น่าจะมีอยู่บ้าง และควรได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น โดยสังคมควรมีส่วนในการแนะนำอย่างสร้างสรรค์ และ สสส. ก็ควรที่จะรับฟังและนำไปพิจารณาปรับปรุง
ทั้งนี้ ตลอด 14 ปีที่ผ่านมามีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแล้วในวงการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย มีหลายประเทศให้การยกย่องในการทำงานเชิงรุกของ สสส. และมีหลายประเทศเข้ามาดูงานและเรียนรู้การทำงานของ สสส.
หากประเทศไทยซึ่งได้พัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพจนเป็นตัวอย่างอ้างอิงในระดับนานาชาติต้องมาหยุดการทำงานเชิงรุกเช่นนี้ลงก็ไม่ต่างกับการเดินถอยหลัง ในโลกที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เราควรทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างสิ่งดีๆ เหลือทิ้งไว้ให้แก่รุ่นลูกหลานบ้างเถิด