- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- 'สมเกียรติ' แนะ 4 ข้อเสนอต่อรบ.พลิกวิกฤติเป็นโอกาส กู้ศรัทธาคืน
'สมเกียรติ' แนะ 4 ข้อเสนอต่อรบ.พลิกวิกฤติเป็นโอกาส กู้ศรัทธาคืน
ประธานทีดีอาร์ไอ แนะรัฐบาลเข้าเป็นสมาชิกความตกลงต่อต้านคอร์รัปชั่น ออกมติ ครม.รับข้อตกลงคุณธรรม แก้ กม.ทุจริตให้เป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ พร้อมเสนอ 2 ขั้วการเมืองถกหากรอบธรรมนูญการคลัง ลดความเสี่ยงนโยบายประชานิยม ออกเป็น กม.การคลัง
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย : จุดเปลี่ยนเส้นทางสู่อนาคต” ที่จัดโดย หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน ภารวิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องเภตราลัย (Management Theater) ชั้น 14 อาคารมหิตลาธิเบศร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ตอนหนึ่งถึงข้อเสนอ 4 ประการที่ รัฐบาลควรพิจารณาและดำเนินการในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า
1.รัฐบาลควรประกาศตัวเข้าเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่จะทำให้มีหลักประกันว่า ประเทศไทยจะอยู่ในเส้นทางต่อต้านคอร์รัปชั่น
2.รัฐบาลควรเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากภายนอก โดยเฉพาะจากภาคเอกชน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในการยอมรับข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pack) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าสังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยออกเป็นมติจากคณะรัฐมนตรี
3.รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมาย ให้การกระทำที่เกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำความผิดที่ไม่มีอายุความ
4.ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐออกสู่สาธารณชนมากขึ้น ให้เกิดความโปร่งใส โดยการแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ที่ปัจจุบันใช้แล้วค่อนข้างมีปัญหามาก ประชาชนขอข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลได้ยาก และมีการทุจริตคอร์รัปชั่นง่าย
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า หากทำทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้ รัฐบาลจะมีโอกาสเรียกศรัทธากลับคืนมาได้ แต่หากไม่ดำเนินอะไร ปล่อยให้ความขัดแย้งต่อเนื่องไป คิดว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนผ่านก็มีอีกวิธีการหนึ่งคือ การยุบสภา ที่ทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ และการแข่งขันอีกครั้ง และปรับอารมณ์ของประชาชนให้ดีขึ้น แทนที่จะใช้วิธีเผชิญหน้าเป็นทางออก
“เมื่อไม่ช้าหรือเร็วก็จะต้องมีการเลือกตั้ง อย่างช้าที่สุดก็ 2 ปี เมื่อรัฐบาลอยู่ครบกำหนดวาระ หรือเร็วกว่านั้นก็ตาม คิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายควรจะมานั่งคุยกัน เพื่อกำหนดกรอบที่เรียกว่า “ธรรมนูญการคลัง” เนื่องจากเป็นห่วงว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งในช่วงที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่ ล้วนแต่นำนโยบายที่สิ้นเปลืองงบประมาณ หรือที่เรียกว่า นโยบายประชานิยม เข้ามาเสนอเพื่อแย่งเสียงจากประชาชน” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า แม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะชอบนโยบายจำพวกนี้ เนื่องจากมีผลดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนโยบายพวกนี้ทำให้การพัฒนาประเทศมีปัญหา และเสี่ยงต่อฐานะการคลัง รวมถึงมีโอกาสเกิดวิกฤติในอนาคตและผลักภาระไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ๆ ควรทำความตกลงกันว่า ต่อไปนี้ไม่ว่าจะหาเสียงในการเลือกตั้งอย่างไร ขอให้มีขอบเขตในการใช้เงินทอง ใช้ทรัพยากรสาธารณะ ที่ส่งผลต่อการขาดทุนการคลังแต่ละปี (ในปีที่ไม่เกิดวิกฤติ) ได้เท่าใด หรือจะสร้างหนี้ภาครัฐที่มีเพดานเท่าใด และมีการตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรม หากเป็นเช่นนี้ได้ การเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป พรรคการเมืองจะแข่งกันนำเสนอนโยบายที่มีหลักประกันว่าจะไม่นำความเสียหายมาสู่ประชาชน”
ดร.สมเกียรติ ได้ขยายความถึง ธรรมนูญการคลัง ด้วยว่า สามารถทำให้มีฐานะคล้ายกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่มีผลบังคับใช้ อาจเป็นพระราชบัญญัติ ให้ได้ก่อนที่จะยุบสภา ไม่อย่างนั้นจะตกลงกันได้ยาก
“หากการเจรจาครั้งนี้ออกให้ได้เป็นกฎก็จะเป็นเรื่องดี เช่น ผ่านกฎหมายทางการคลัง ซึ่งจริงๆ แล้ว รัฐบาลต้องทำเป็นเรื่องปกติตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวดกฎหมายการเงิน การคลัง ซึ่งควรออกมา 2 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่แถลงนโยบายต่อสภา เพียงแค่นำกติกาเหล่านี้ไปเพิ่ม โดยกรอบที่สามารถตกลงกันได้ เช่น ให้งบประมาณแผ่นดินขาดดุลได้ไม่เกิน 1-1.5% ของจีดีพี (สำหรับปีปกติที่ไม่มีวิกฤติ) ทั้งนี้ เกณฑ์ที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นเพียงแค่กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งจะทำหรือไม่ก็ได้”
อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติ เห็นด้วยที่ฝ่ายที่ชุมนุมอยู่ขณะนี้ควรทบทวนท่าที ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรต้องทำอะไรบางอย่างเป็นการตอบแทน นอกจากการออกมาขอโทษ เช่น การมุ่งมั่นประกาศมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดผลจับต้องได้โดยเร็วตามที่เสนอไว้ข้างต้น สำหรับข้อเสนอเรื่องการหยุดงานหรือไม่จ่ายภาษีนั้น คิดว่าคงไม่เกิดขึ้นในวงกว้าง
ขอบคุณภาพประกอบจาก nbtcpolicywatch.org