- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- "อังคณา" ชี้สิ่งที่น่ากลัวในพ.ร.บ.คอมฯ คือการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย
"อังคณา" ชี้สิ่งที่น่ากลัวในพ.ร.บ.คอมฯ คือการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย
วงนักวิชาการกังวลกับพ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่ เรื่องใช้คำกว้างเกินไป-ไม่มั่นใจคณะกรรมการกลั่นกรอง ด้านนักกม.ชี้ ม.14(1) เป็นการปิดปากปชช. ขณะที่ปธ.สภาการนสพ.เผยม.20 แก้แล้วดีขึ้น สฤณีเผยมีม.14บางคำในกฎหมายที่กว้างและคลุมเครือ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา "ประเทศไทยหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 " ณ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงสิ่งที่น่ากังวลในพ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ การใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างกว้างขวางไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องทำให้มั่นใจได้ว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะใช้ดุลยพินิจเพื่อปกป้องประชาชน ไม่ใช่การปกป้องอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว
"ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของประชาชน จึงตั้งคำถามว่าประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการชุดนี้จะตัดสินอย่างเป็นธรรม" นางอังคณา กล่าว พร้อมกับแสดงความกังวลถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ในเรื่องการลงโทษต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ การกระทำความผิดต่อความมั่นคงของชาติ ศีลธรรมอันดีฯ ซึ่งความผิดส่วนนี้สามารถตีความได้กว้างมาก ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผู้บังคับใช้กฏหมาย อาจนำเอาพ.ร.บ.นี้มาใช้ และตีความจนเกินเลยขอบเขตที่เหมาะสม เช่นคำว่า "ความมั่นคง" เป็นคำที่มีความหมายกว้าง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตีความอย่างไร้ขอบเขต รวมถึงคำว่า "ขัดต่อศีลธรรมอันดีความสงบ" ก็เป็นคำที่มีความหมายไม่ชัดเจน
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักปกป้องสิทธิชุมชน ถูกฟ้องมากขึ้น แต่เรายังไม่มีกฎหมายหยุดการข่มขู่ ให้นักสิทธิทำงานปกป้องสิทธิชุมชนได้เต็มที่ รัฐต้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น เพราะเสรีภาพการแสดงความเห็นประชาชนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาธิไตย การมีรัฐบาลทหารไม่ได้หมายว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตยไม่ได้ ประชาชนต้องสามารถใช้กฎหมายตรวจสอบรัฐได้เช่นเดียวกับที่รัฐตรวจสอบประชาชน
ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ต (iLaw) กล่าวถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ในมาตรา 14 (1) เป็นมาตราที่เขียนเพื่อปิดปากประชาชนในการจะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งหากใครทำความผิดตามกฎหมายเข้าข่ายมาตรานี้ จะโดนคดีหมิ่นประมาทพ่วงไปด้วย
"พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ก็ไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องที่กล่าวไว้ แต่กลับทำให้หลายประเด็นมีความคลุมเครือยิ่งมากขึ้น"
นายยิ่งชีพ กล่าวถึงมาตรา14 (2) ที่ระบุไว้ว่า "การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือโครงการสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ถ้อยคำในมาตรานี้สามารถทำให้ผู้อ่านตีความได้กว้าง และอาจจะทำให้ตีความออกมาเป็นความผิดได้
ส่วนนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูร่างพ.ร.บ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต้องใช้เวลากว่า 6 เดือนถึงจะประกาศใช้ และไม่ได้เป็นที่พอใจทั้งหมด เช่นในมาตรา 14(1) ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องคดีหมิ่นประมาท ถ้าเป็นสื่อกระแสหลักจะมีอายุความ 6-12 เดือน แต่พอเป็นเว็บไซต์จะไม่มีอายุความ หมายความว่า เจอเมื่อไหร่ก็สามารถฟ้องได้เมื่อนั้น
"ส่วนประเด็นที่มีคำว่า" บิดเบือน" ในมาตรานี้ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลกับการนำมาใช้มากน้อยแค่ไหน ต้องยอมรับว่า รัฐบาลคสช.ค่อนข้างที่จะฝังใจกับคำนี้ คสช.รู้ว่า ในโลกออนไลน์มีการกล่าวหาโดยเอาข้อมูลที่บิดเบือนมากล่าวหา แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ รัฐบาลเลยรู้สึกว่า คำนี้มันทำให้สังคมวุ่นวาย"
นายชวรงค์ กล่าวถึงมาตรา 15 มาตรานี้ทำให้มีกระบวนการคัดกรองมากยิ่งขึ้น ส่วนมาตรา 20 ที่บอกว่า "ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกระบบคอมพิวเตอร์" ถ้าไปดูของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับปี 50 ก็มีอยู่แล้วคือเจ้าหน้ายื่นเรื่องไปขอศาลให้ศาลสั่งและก็สามารถปิดข่าวได้เลย แต่ในฉบับใหม่นอกจากจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วต้องการไตร่สวน เพราะฉะนั้นมีกระบวนการหลายชั้นกว่าปิดได้
นางสฤณี อาชวานันทกุล Thai Netizen กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวล คือมาตรา 15 ฉบับเดิมคือไม่มีช่องทางอะไรเลยตามกฎหมาย ที่จะแสดงออกว่าตนเองไม่ได้ยินยอมที่จะให้เกิดการกระทำผิดตามมาตรา 14 แต่ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้แก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่า ผู้ให้บริการท่านใด ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจต้องระวังโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 14 และให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับการแพร่หลายของข้อมูลและการนำข้อมูลนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ แต่หากผู้ที่ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าได้ปฎิบัติการประกาศของรัฐมนตรีแล้วก็ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่มีข้อกังวลคือผู้ให้บริการจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่ผู้ร้องเรียนมาถูกหรือไม่ เพราะมาตรา 14(1) และมาตรา 14 (2) มีบางคำในกฎหมายที่กว้างและคลุมเครือ
" มาตรา 20 มีความน่ากังวลและคิดว่าอยากให้ช่วยกันติดตามดูในร่างประกาศกระทรวงดิจิตอลที่บอกว่า เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูล ให้กระทรวงจัดให้มีระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์การของการบริหารจัดการ แต่มีคำขยายว่าให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง โดยอาจเชื่อมระบบดังกล่าวระงับเข้ากับผู้ให้บริการก็ได้ ตรงเป็นที่มาของความกังวลเพราะไม่ใช่แค่เป็นผู้ประสานงานเท่านั้นแต่สามารถระงับได้เลย ผู้ให้บริการจะมั่นใจในเรื่องนี้ได้อย่างไร"
ขณะที่นางอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยเคยมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าในปัจจุบัน หลังจากที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ออกมาทำให้สิทธิถูกจำกัด และเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ จะสังเกตได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มักถูกแก้ไขในรัฐบาลรัฐประหาร
นางอรพิณ กล่าวถึงเรื่องการนำเสนอข้อมูลเท็จในมาตรา 14 โดยเฉพาะคำว่า "ข้อมูลเท็จ" ตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ว่า กฎหมายต้องออกข้อบังคับ ในการเสนอข้อมูลเท็จหรือคำโกหก ซึ่งคำว่า ข้อมูลเท็จจะส่งผลต่อการใช้กฎหมายในการตรวจสอบข้อมูลอย่างแน่นอน โดยคนที่มีส่วนในการร่างอาจไม่ได้มองถึงผลกระทบต่อการทำงานของสื่อ ซึ่งฝั่งของประชาชนอาจจะมองว่า เป็นการออกกฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน
"พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ จะเห็นว่า รัฐบาลหันมาตรวจตราโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหลายประเทศมีกลไกปิดข้อมูลและตรวจตราการสื่อสารในโลกออนไลน์เกิดขึ้นเช่นกัน นักกฎหมายอาจมองว่า ไม่กระทบเสรีภาพสื่อมากเท่าไหร่ แต่หากมองในระดับภูมิภาครัฐสามารถใช้ปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐได้ และก็น่าจะหลีกเลี่ยงจุดนี้ไม่ได้ด้วย ดังนั้นเมื่อรัฐพยายามจะบล็อกความเห็นของประชาชน จึงอยากเรียกร้องให้สื่ออยู่เคียงข้างประชาชนมากกว่านี้"
อ่านประกอบ :
ไพบูลย์ชี้พ.ร.บ.คอมฯฉบับใหม่ศาลจะยกฟ้องคดีที่ฟ้องหมิ่นประมาท 4-5 หมื่นคดี
เปิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ-ข้อสังเกต กมธ. ฉบับผ่าน สนช.ละเมิดสิทธิตรงไหน-ไฉนต้องแก้?
ผอ.อิศรา ชี้พ.ร.บ.คอมฯ อุปสรรคต่อการตรวจสอบรัฐ ปิดปากปชช.