- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- เดินหน้า "เมืองเดินได้-เดินดี" ระยะ 2 ผู้ว่าฯ กทม. หนุนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม-ประสานงานใกล้ชิด
เดินหน้า "เมืองเดินได้-เดินดี" ระยะ 2 ผู้ว่าฯ กทม. หนุนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม-ประสานงานใกล้ชิด
เปิดโครงการเมืองเดินได้-เดินดี ระยะ 2 'สุขุมพันธ์ุ' จะส่งเสริมให้คนเดินสำเร็จ การออกเเบบผังเมืองสำคัญ เน้นการมีส่วนร่วม ไม่ทุ่มงบฯ อย่างเดียว ด้าน ผอ.UddC เผยกรุงเทพฯ เข้าสู่ศตวรรษที่ 3 จากระบบเรือ รถ สู่ราง ลงทุน 1 ล้านล้านบาท สายรถไฟ 12 สาย 330 กม. จะสร้างความเปลี่ยนเเปลงชีวิตคนเมือง
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานการนำเสนอผลงานโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่ 2 โดยมี รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นาวาอากาศเอก นพ.น.อ.เพิ่มยศ โกศลพันธ์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการฯ พร้อมทั้ง ดร.พรรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ เข้าร่วมนำเสนอผลการศึกษา
รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมืองเดินได้-เดินดี ระยะที่ 2 ได้มีการริเริ่มโดย UddC จากการสนับสนุนจาก สสส. โดยสถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ของการออกแบบสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ ซึ่งไมได้หมายความว่าออกแบบเฉพาะอาคาร แต่ยังหมายถึงพื้นที่เชิงกายภาพอื่น ๆ เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต และยังช่วยในการส่งเสริมการเดินที่จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ที่มีคุณภาพและเอื้อต่อการเดินที่ดีได้
ทั้งนี้ สภาพเมืองในปัจจุบันของกรุงเทพมหานครกำลังเปลี่ยนจากระบบล้อสู่ระบบราง จึงทำให้การเดินได้รับความสำคัญอีกครั้ง และมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถร่วมกันพัฒนาสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต
ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้กล่าวถึงโครงการฯนี้ว่า เป็นโครงการที่มีความสำคัญมากกับกรุงเทพฯ ในแง่ของการส่งเสริมการเดินที่ก่อให้เกิดมลภาวะน้อยและพร้อมไปด้วยสะดวก สอดคล้องกับกรุงเทพฯ ที่มีนโยบายสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อีกทั้งการช่วยกันออกแบบเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ความมุ่งมั่นของผังเมือง ผู้บริหารเมืองในวันนี้และวันหน้าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่การออกแบบหรือความมุ่งมั่นและความสามารถของผู้นำเมืองก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอ ยังคงมีอีกหลายสิ่งอย่างที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เช่น
ปัจจัยที่หนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเราไม่สามารถก้าวหน้าได้หากทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกับเมืองในการพัฒนาวิถีชีวิต
ปัจจัยที่สอง คือ เรื่องของการบริหารที่ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องงบประมาณอย่างเดียว เพราะการที่จะทำให้เกิดความเจริญได้ทางกรุงเทพฯ ต้องประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานอื่น
ปัจจัยสุดท้าย คือ การบริหาร
"เรากำลังเปลี่ยนจากสังคมล้อไปเป็นสังคมราง ในทางหนึ่งก็เห็นด้วย แต่หากไม่ระวังเราอาจจะอาจจะตกขบวนรถไฟ นั่นจึงยิ่งต้องวางแผนระยะยาวในกาดำเนินความสะดวก ทุกวันนี้มีการสัญจรไปมา 17 ล้านเที่ยวคน ร้อยละ 60% เป็นการเดินทางโดยยานพาหนะส่วนตัว ร้อยละ 40% เดิน และภายในปี พ.ศ.2572 รถไฟฟ้าอาจจะมีเพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่า แต่สัดส่วนระหว่างผู้ที่เดินทางด้วยการใช้รถส่วนตัวกับสัดส่วนผู้ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งไม่ได้เปลี่ยนไปแม้แต่น้อย ยังคงเป็น 60% และ 40% อยู่ จึงต้องหาวิธีการคุมกำเนิดยานพาหนะส่วนตัวที่มีการจดทะเบียนมากถึง 1,000 คัน/วัน ให้มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
ท้ายนี้ ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 3 ซึ่งเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่ จากเรือ มาเป็นรถยนต์ และเข้าสู่ปัจจุบันนี้นั่นคือระบบราง โดยมีการลงทุนมหาศาลที่ใช้งบประมาณมากถึง 1 ล้านล้านบาทในการสร้างสายรถไฟจำนวน 12 สาย 330 กม. และมีสถานีมากถึง 250 สถานี การลงทุนที่มากขนาดนี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการที่คนกลับเข้ามาสู่เมืองใช้ชีวิตในเมืองจนเกิดเป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ กรุงเทพฯเองก็ต้องทำให้เกิดการส่งเสริมเศรษฐกิจที่หลากหลายจนเกิดเป็นความคุ้มค่าอย่างทั่วถึง
ขณะเดียวกันความเปลี่ยนมักมาพร้อมโต้แย้งอยู่เสมอ และเราก็ได้ค้นพบมากถึง 3 ข้อ
1.เรื่องสุขภาพ งานวิจัยพบว่าเมืองที่สามารถเดินไปทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆได้จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคอ้วนมากถึง 10%
2.เศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจ งานวิจัยชี้ว่าความเร็วของการเคลื่อนที่แปลผกผันกับความถี่ของการจับจ่าย ยิ่งเคลื่อนที่เร็วจะทำให้การแวะทำได้ลำบากขึ้น
3.เรื่องของสังคม เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ จะสามารถดึงดูดให้คนออกมาใช้พื้นที่เพื่อพบปะเจอกัน ทำให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใกล้ตัว จนเป็นที่มาของความผูกพันและสำนึกท้องถิ่น อันเป็นพื้นฐานความเข้มแข็งของชุมชน
อย่างไรก็ตาม 5 อุปสรรคของการเดินที่ทำให้คนท้อใจในการเดินส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องสิ่งกีดขวาง การขาดร่มเงา แสงสว่างไม่เพียงพอ ความสกปรก คุณภาพของผิวการเดินทาง หากเราปรับปรุงได้คนน่าเดินจะในระยะทางที่ไกลและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น .