- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ‘ประวิตร’ ขีดเส้นก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ม.ค. ปี 2560
‘ประวิตร’ ขีดเส้นก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ม.ค. ปี 2560
‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เป็นประธานประชุม คกก.อำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เผยติดเงื่อนไขจ้างที่ปรึกษาฯ ออกแบบ ทำโครงการล่าช้า ยันเริ่มก่อสร้าง ม.ค. 60 ติดขัดหน่วยงานไหนต้องรับผิดชอบ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และข้าราชการ เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย
พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบแผนงานที่สำคัญ เพื่อให้อนุกรรมการแต่ละฝ่ายดำเนินงาน แต่ยังมีบางส่วนงานติดเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ ในการสำรวจและออกแบบ ด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนโครงการดังกล่าวเดินหน้าไม่รวดเร็ว ประกอบกับภาคประชาชนและผู้อาศัยในพื้นที่โครงการแสดงความเห็นหลากหลาย และขอความชัดเจนจากรัฐบาล
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รับเงื่อนไขเป็นที่ปรึกษาเเละออกเเบบโครงการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนเเก่น ซึ่งกำลังดำเนินการต่อไป ทำให้เเผนการปฏิบัติงานอาจเลื่อนออกไปบ้าง ซึ่งคาดว่า ภายในกันยายน 2559 จะมีการลงนามการก่อสร้าง เเละเริ่มการก่อสร้าง มกราคม 2560 ระหว่างนี้จะสร้างการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ เเละ กทม.จะเร่งช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนราว 200 ครัวเรือน
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบ่อยครั้ง โดยยืนยันเป็นโครงการที่สำคัญและรัฐบาลจะมอบความสุขให้คนไทยทั้งประเทศ เพื่อให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม หากติดขัดปัญหาที่หน่วยงานใด หน่วยงานนั้นต้องรับผิดชอบ" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่า ได้มีการหารือกับ สจล.เกี่ยวกับการออกเเบบโครงการฯ เเล้วหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า มีการพูดคุยเเล้ว เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย อีกทั้ง เเนวเขตการก่อสร้างผ่านโบราณสถานประมาณ 40 เเห่ง ดังนั้นต้องให้กรมศิลปากรร่วมออกเเบบด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับร่วมกัน .
ภาพประกอบ: T News