- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สุภิญญา ชง! ประธานเร่งตรวจสอบสัญญาเอฟเอ็ม 98.5
สุภิญญา ชง! ประธานเร่งตรวจสอบสัญญาเอฟเอ็ม 98.5
สุภิญญา ชง! ประธานเร่งตรวจสอบสัญญาเอฟเอ็ม 98.5 ของ สนง.กสทช.พร้อมเสนอบอร์ดกสทช.เรียกคืนคลื่น
วันที่่ 4 พ.ย. นางสาวสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ส่งหนังสือถึงประธาน กสทช. ประธาน กสท. และเลขาธิการ กสทช. เพื่อสอบถามจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน กรณีที่สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการให้เอกชนรายหนึ่งเข้าบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. FM 98.50 MHz (กรุงเทพฯ) และปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า สำนักงานได้จัดให้มีกระบวนการประกวดราคาเพื่อเข้าดำเนินการสถานีวิทยุ เพื่อนำรายได้ดังกล่าวส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ตลอดจนพร้อมเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้าดำเนินการ สถานีวิทยุ 1 ปณ. ในต่างจังหวัดในลักษณะเดียวกัน โดยอ้างถึงความเห็นชอบของประธาน กสทช. ในเรื่องนี้
ซึ่งเนื้อหาในหนังสือ นางสาวสุภิญญา ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีที่กระทบต่ออำนาจหน้าที่และภารกิจของ กสทช. อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ การเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานรัฐเพื่อการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรมนั้นเป็นเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ และต่อมาพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งองค์กร กำหนดให้ กสทช. ต้องดำเนินการตรวจสอบการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ ตลอดจนความชอบด้วยกฎหมายของการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น และให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตามบทบัญญัติมาตรา 82 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่ต้องคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ กสทช. ต้องกำกับดูแล ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายอื่น และตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด
นั่นหมายถึง “สำนักงาน กสทช.” ซึ่งถือครองคลื่นความถี่ที่ใช้ในการประกอบกิจการกระจายเสียง สถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. อยู่ในปัจจุบัน จึงมีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นความถี่ และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกับหน่วยงานรัฐอื่น หรือในฐานะหน่วยปฏิบัติงานของ “กสทช.” ต้องปฏิบัติโดยมาตรฐานที่สูงกว่าเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรโดยเร็ว
ดังนั้นในกรณีดำเนินการให้เอกชนเข้าบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ในลักษณะการประกวดราคาหรือการประมูลเพื่อเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. และผ่านความเห็นชอบของประธาน กสทช. แล้วนั้น อาจเป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง และหากเป็นผลให้หน่วยงานรัฐอื่นนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติหรือดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ย่อมกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. เป็นอย่างมาก จึงขอเสนอให้ท่านประธาน กสทช. ในฐานะที่มีอำนาจกำกับเลขาธิการ ตามมาตรา 60 แห่งพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พิจารณา ดังนี้
1.ขอให้ประธาน กสทช. พิจารณามอบหมายเลขาธิการ กสทช. รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. เพื่อให้ที่ประชุม กสท. พิจารณากรณีการดำเนินการจัดประกวดราคาหรือการจัดประมูลที่เกิดขึ้น อย่างน้อยให้มีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ รายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ ที่เสนอต่อ กสทช. รายละเอียดของสัญญาการแบ่งเวลาฯ และจ้างผลิตรายการ ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งผังรายการหลักประจำปี 2558 และ การดำเนินการแก้ไขสัญญาของสถานีให้สอดคล้องกับกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และเสนอเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุม กสท.ครั้งถัดไปด้วย
2. ขอให้ประธาน กสทช. พิจารณานำกรณีการถือครองคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช. เข้าที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณากำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ เพื่อแสดงถึงธรรมาภิบาลขององค์กร กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่โปร่งใส และไม่สะท้อนถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการฟ้องร้องจากภาคส่วนต่างๆ ที่ติดตามและเร่งรัดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 เช่นการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนในกรณีล่าสุด