- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ‘ดร.อาทิตย์’ หนุนนายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่ว ปท.
‘ดร.อาทิตย์’ หนุนนายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติเหมืองแร่ทองคำทั่ว ปท.
ม.รังสิต-ม.รามคำแหง ตั้งโต๊ะล่า 2 หมื่นรายชื่อ ยื่นนายกฯ ยกเลิกนโยบายเหมืองทองคำ ‘ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์’ ยันต่อให้กระบวนการถูกต้อง ผลกระทบย่อมเกิดขึ้น แนะนายกฯ ใช้มาตรา 44 ยุติภัยพิบัติใต้ดิน หลังพบผู้มีอำนาจอนุมัติเกี่ยวโยงกับบริษัท ขณะที่ภาค ปชช.จับมือนักวิชาการเปิดตัวองค์กรฯ ปฏิรูปทรัพยากร-ทองคำ 20 ก.ย. 58
แม้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)มีคำสั่งให้เลื่อนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ วันที่ 15 กันยายน 2558 จ.พิจิตร และวันที่ 18 กันยายน 2558 จ.ลพบุรี ออกไป จากทั้งหมด 12 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล เนื่องจากการประชาสัมพันธ์โครงการไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่เข้าใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยรังสิต จัดกิจกรรมร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายเปิดเหมืองทองคำ เป็นเวลา 2 วัน โดยให้เหตุผลว่า การทำเหมืองทองคำได้ไม่คุ้มเสีย ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายชีวิตและชุมชน ซึ่งการล่ารายชื่อคัดค้านนี้ จะนำไปสมทบกับกลุ่มอื่น ๆ ให้ครบ 20,000 รายชื่อ ก่อนเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระงับนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั้งหมด
ดร.อาทิตย์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กิจกรรมดังกล่าวว่า เกิดขึ้นหลังจากชาวบ้านในพื้นที่มีการทำเหมืองแร่ทองคำเข้ามาร้องเรียนกับมหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการจึงลงพื้นที่ศึกษาสภาพแวดล้อมและตรวจสุขภาพให้ประชาชนอาศัยโดยรอบ และพบว่ามีสารปนเปื้อนในร่างกายจำนวนมาก ดังนั้น เห็นได้ว่า แม้การทำเหมืองแร่ทองคำจะมีกระบวนการถูกวิธี แต่ย่อมส่งผลให้เกิดอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระทบกระเทือนถึงชีวิตความเป็นอยู่ น้ำ ดิน สกปรกอันเกิดจากการปนเปื้อน จึงได้มีการล่ารายชื่อคัดค้าน
"การแก้ไขปัญหาไม่มีทางช่วยเหลือได้ ยิ่งอนาคตมีการขยายขอบเขตการทำเหมืองแร่ทองคำออกไป พื้นที่โดยรอบก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นอีก ขณะที่ผลประโยชน์ตอบแทนจากค่าภาคหลวงไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สิน สุขภาพ ของประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายออกไปเป็น 32 จังหวัด ตั้งแต่พื้นที่ภาคกลางถึงภาคใต้ นโยบายดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย"
อธิการบดี ม.รังสิต กล่าวอีกว่า ในสหรัฐอเมริกาเคยทำเหมืองแร่ทองคำ และก่อให้เกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวง ซึ่งปัจจุบันยังแก้ไขไม่ได้ คราวนี้นโยบายดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นกับไทย โดยวิงวอนผู้กำหนดนโยบายต้องไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เนื่องจากไม่เกิดความคุ้มค่า ต่อให้อีกกี่สิบปีสารพิษก็ไม่หาย เพราะได้ขุดคุ้ยขึ้นมาแล้ว จนอาจกลายเป็นภาพนรกได้ จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากประชาชนขาดที่พึ่ง ที่ผ่านมาทำได้เพียงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้รับความชัดเจน
“มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันอุดมศึกษา ต้องดูแลบ้านเมืองด้วย จึงควรทำความเห็นให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณา และยกเลิกนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั้งใหม่และเก่า ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการคัดค้านของประชาชน” ดร.อาทิตย์ กล่าว และว่า วันที่ 20 กันยายน 2558 เวลา 10.00 น. จะมีการเปิดตัวองค์กรประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ณ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชน นักวิชาการ และหลายฝ่ายด้วย
เมื่อสอบถามถึงท่าทีของ กพร.ในการเดินหน้านโยบายดังกล่าว อธิการบดี ม.รังสิต ระบุว่า หน่วยงานราชการมักคิดแบบราชการ ดำเนินงานในเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ควรหันมาคิดเชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบ และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศมากกว่า ส่วนจะมีวิธีอย่างไรไม่ทราบ แต่ต้องยุติภัยพิบัติที่เกิดจากการทำเหมืองทองคำอย่างเร่งด่วน แม้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็จำเป็น
“การกำหนดนโยบายเลิกคิดเรื่องผลประโยชน์เล็ก ๆ เพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องคิดให้รอบด้าน ที่สำคัญ อย่านำผลประโยชน์ส่วนตัวมาเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนจากความเสียหายของประเทศ บังเอิญว่า ผู้มีอำนาจอนุมัติเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่นักการเมืองเก่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อที่ดินแปลงเพื่อขายให้ต่างชาติทำเหมือง ซึ่งถือเป็นนโยบายฉ้อฉล ไม่โปร่งใส นักการเมืองและผู้มีอำนาจจึงต้องพิจารณาให้ชัดเจน โดยเฉพาะจากความเห็นใจของประชาชน อย่าคิดเพื่อหวังได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวยังไม่มีโอกาสพูดคุยกับผู้มีอำนาจตัดสินใจนโยบายดังกล่าวเลย” ดร.อาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย .
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ของประชาชนอาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เป็นไปตามข้อมูลของนักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ภายหลังมีการตรวจพบสารปนเปื้อนโลหะหนักในร่างกายประมาณ 400 คน จาก 700 คน และปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเตรียมเสนอแผนดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีวันที่ 22 กันยายน 2558 .
ขณะที่การลงชื่อคัดค้าน เหมืองทองคำ12จังหวัด ก็มีการตั้งโต๊ะให้ลงชื่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย
การลงชื่อคัดค้านเหมืองเเร่ทองคำ ณ มหาวิทยาลัยรามคำเเหง
(ภาพประกอบ:เเฟนเพจเฟซบุ๊ก ขุมทองคำประเทศไทย)