- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ก.วิทย์ฯ จับมือเอกชนพัฒนายางรองรางรถไฟจากยางพารา แก้ปัญหาราคาตกต่ำ
ก.วิทย์ฯ จับมือเอกชนพัฒนายางรองรางรถไฟจากยางพารา แก้ปัญหาราคาตกต่ำ
รัฐ-เอกชนลงนามพัฒนา ‘แผ่นยางรองรางรถไฟ’ สร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบ หวังลดภาระยางพาราค้างสต๊อก ราคาผลผลิตตกต่ำ วางเป้าพัฒนาภายใน 3 เดือน บรรจุในบัญชีนวัตกรรม
วันที่ 3 มิถุนายน 2558 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือการเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติโดยการผลิตเป็นชิ้นส่วนใช้ในระบบราง โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ บริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเชีย) รีเสิร์ช จำกัด บริษัทในเครือ อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วิทย์ฯ) กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ว่าจะสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยนำยางดิบมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการลดภาระยางพาราค้างสต๊อกที่มีอยู่ และยังควบคุมราคายางพาราเพื่อป้องกันปัญหาราคาตกต่ำในอนาคตด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกที่มีการแปรรูปคือแผ่นยางรองรางรถไฟ
“แผ่นยางรองรางรถไฟมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหนาประมาณ 2-12 มิลลิเมตร ใช้วางระหว่างหมอนรองรางรถไฟกับรางรถไฟ เพื่อลดการสั่นสะเทือนขณะที่ขบวนรถไฟวิ่งผ่าน ช่วยรับน้ำหนักราง” รมว.วิทย์ฯ กล่าว และว่า อีกทั้งยังป้องการเกิดการแตกร้าวของหมอนรองรางรถไฟ อันเนื่องมาจากการกระแทกระหว่างรางรถไฟและหมอนรองรางรถไฟ โดยจะผลิตจากยางธรรมชาติ ต่างจากปัจจุบันที่ใช้ยางสังเคราะห์
เมื่อถามถึงระยะเวลาดำเนินโครงการ ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จะใช้ระยะเวลา 3 เดือน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการผลิตและบรรจุในบัญชีนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้ สวทช.กำลังช่วยรัฐบาลจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย โดยการใส่ข้อมูลและระบุมาตรฐานที่มีของสินค้านั้น ๆ ในเว็บไซต์
“ในอนาคตอันใกล้จะได้มีการจับคู่ เพื่อเอาตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเข้ามาเป็นตลาดให้กับนวัตกรรมของไทย การที่มีการร่วมมือกันในอนาคตก็จะทำให้สามารถเกิดอุตสาหกรรมที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยายนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือการพลังงาน” รมว.วิทย์ฯ กล่าวในที่สุด
ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. ระบุว่า ปีที่ผ่านมาไทยมีรายได้จากยางพารา 534,630 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์เพียง 5.41 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของปริมาณยางพาราที่ผลิต อย่างไรก็ตาม การที่ไทยต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบ ทำให้เกษตรกรมักได้รับผลกระทบเรื่องราคายางพาราตกต่ำในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา .