- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ดูชัดๆ โมดูลเขื่อน พบ ‘แม่วงก์’ อยู่ในขั้นทบทวนผลศึกษาความเหมาะสม 10 เดือน
ดูชัดๆ โมดูลเขื่อน พบ ‘แม่วงก์’ อยู่ในขั้นทบทวนผลศึกษาความเหมาะสม 10 เดือน
เปิดเอกสารโมดูล A1 โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 5 ลุ่มน้ำ เล็งสร้าง 18 แห่ง พบ 'เขื่อนแม่วงก์' อยู่ในกลุ่มทบทวนผลศึกษาความเหมาะสม-มาตรการสิ่งแวดล้อม 10 เดือน พร้อมออกแบบรายละเอียด-ขอใช้พื้นที่ ระบุเปิดให้มีส่วนร่วมตลอดการดำเนินงาน
"สำนักข่าวอิศรา" หยิบเอกสารประกอบนิทรรศการ "น้ำเพื่อชีวิต" อีกฉบับที่น่าสนใจมานำเสนอ ได้แก่ โมดูล A1 โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรังและป่าสัก ที่นับว่าเป็นโครงการใหญ่ที่ได้รับความสนใจ ถูกจับตา และมีเสียงคัดค้านมากที่สุด เนื่องจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนในหลายพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ จำต้องแลกกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศน์
โดยเฉพาะ "อ่างเก็บน้ำแม่วงก์" ที่ขณะนี้ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคณะ กำลังเดินเท้าระยะทาง 388 กิโลเมตร จากป่าสู่เมือง เพื่อคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์
สำหรับโมดูล A1 โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรังและป่าสักนั้น บริษัท ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน ชนะการประมูลไปด้วยงบประมาณไม่เกิน 48,550,894 ล้านบาท คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
สำหรับวัตถุประสงค์ในการศึกษา สำรวจ ออกแบบและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิง ยม น่าน สะแกกรังและป่าสัก ความจุเก็บกักประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม. บริหารจัดการน้ำ การชลประทาน เน้นการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งได้คัดเลือกอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 18 แห่ง รวมความจุสูงสุดทั้งหมดประมาณ 1,534 ล้าน ลบ.ม. แบ่งตาม ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรังและป่าสัก ได้แก่
1. ลุ่มน้ำปิง 6 โครงการ รวมความจุสูงสุดประมาณ 345 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ก่อสร้างเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +636.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 174.68 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 171.62 ล้าน ลบ.ม.
- อ่างเก็บน้ำแม่ขาน ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ก่อสร้างเป็นเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +380.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 74.84 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 64.13 ล้าน ลบ.ม.
- อ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ก่อสร้างเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +343.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 9.23 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 6.38 ล้าน ลบ.ม.
- อ่างเก็บน้ำคลองสวนหมาก ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +184.27 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 39.75 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 38.77 ล้าน ลบ.ม.
- อ่างเก็บน้ำคลองขลุงล่าง ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ก่อสร้างเป็นเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +157.85 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 21.29 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 18.10 ล้าน ลบ.ม.
- อ่างเก็บน้ำห้วยฉลอม ต.ท้องฟ้า อ.บ้านตาก จ.ตาก ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +194.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 25.43 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 25.24 ล้าน ลบ.ม.
2. ลุ่มน้ำยม 7 โครงการ รวมความจุสูงสุดประมาณ 761 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำแม่ยม ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +230.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 500.00 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 458.48 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำแม่ยมตอนบน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +258.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 166.00 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 127.40 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำน้ำงิม ต.งิม อ.ปง จ.พะเยา ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +383.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 16.70 ล้าน ลบ.ม. ความจุใช้งาน 15.40 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำแม่แลง ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +270.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 11.50 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 11.05 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +318.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 28.50 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 27.90 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +355.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 19.10 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 18.60 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก ต.เวียงมอก อ.เถิง จ.ลำปาง ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +223.50 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 19.47 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 18.27 ล้าน ลบ.ม
3. ลุ่มน้ำน่าน 3 โครงการ รวมความจุสูงสุดประมาณ 157 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำคลองวังชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +110.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 87.23 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 86.06 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำน้ำปาด ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +282.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 58.90 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 53.79 ล้าน ลบ.ม
- อ่างเก็บน้ำห้วยพังงา ต.บ้านฝาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +240.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 11.33 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 10.94 ล้าน ลบ.ม
4. ลุ่มน้ำสะแกกรัง 1 โครงการ รวมความจุสูงสุดประมาณ 258 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ระดับเก็บกัก +204.50 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 257.55 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 236.89 ล้าน ลบ.ม
5. ลุ่มน้ำป่าสัก 1 โครงการ รวมความจุสูงสุดประมาณ 13 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล ต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ก่อสร้างเขื่อนชนิดดินถม ระดับเก็บกัก +234.00 ม.รทก. ความจุเก็บกักสูงสุดประมาณ 12.82 ล้าน ลบ.ม ความจุใช้งาน 11.81 ล้าน ลบ.ม
ทั้งนี้ ในเอกสารได้แบ่งกลุ่มโครงการไว้ 3 ประเภท ได้แก่
1.กลุ่มทบทวนการศึกษาความเหมาะสม และการดำเนินการตามแผนแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Mitigation Plan : EIMP) โดยจะทบทวนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 6 เดือน ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม 10 เดือน ออกแบบ/ทบทวนออกแบบรายละเอียด 10 เดือน จัดหาที่ดินและขออนุญาตใช้พื้นที่ 6 เดือน ก่อสร้างโครงการ 42 เดือน แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม 54 เดือน และงานดำเนินการและบำรุงรักษา 12 เดือน ประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2, อ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง, อ่างเก็บน้ำห้วยฉลอม, อ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล, อ่างเก็บน้ำแม่แลง, อ่างเก็บน้ำแม่วงก์, อ่างเก็บน้ำคลองขลุงล่าง และอ่างเก็บน้ำห้วยพังงา
2.กลุ่มทบทวนการศึกษาความเหมาะสม และศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จะทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม 10 เดือน ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) 10 เดือน และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA ) 12 เดือน ออกแบบ/ทบทวนออกแบบรายละเอียด 10 เดือน จัดหาที่ดินและขออนุญาตใช้พื้นที่ 12 เดือน งานก่อสร้างโครงการ 42 เดือน แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม 54 เดือน ดำเนินการและบำรุงรักษา 12 เดือน ประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ, อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก, อ่างเก็บน้ำน้ำงิม, อ่างเก็บน้ำคลองวังชมพู, อ่างเก็บน้ำแม่ขาน และอ่างเก็บน้ำน้ำปาด
3.กลุ่มศึกษาความเหมาะสม และศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) เป็นงานศึกษาความเหมาะสม 12 เดือน ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA/EHIA 12 เดือน ออกแบบ/ทบทวนออกแบบรายละเอียด 10 เดือน จัดหาที่ดินและขออนุญาตใช้พื้นที่ 13 เดือน ก่อสร้างโครงการ 42 เดือน แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม 54 เดือน ดำเนินการและบำรุงรักา 12 เดือน ประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยม, อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยมตอนบน, อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม และอ่างเก็บน้ำคลองสวนหมาก
ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าผลประโยชน์ในการก่อสร้างโครงการจะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วม ลดความเสียหายจากอุทกภัย เพิ่มพื้นที่ชลประทานทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมถึงเป็นผลพลอยได้จากการระบายน้ำท้ายเขื่อนสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ บริเวณอ่างเก็บน้ำสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งทำประมงได้ เพิ่มความชุ่มชื้นสังคมพืชโดยรอบอ่างเก็บน้ำ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสัตว์ป่าในกลุ่มที่หากินตามแหล่งน้ำ
โดยในเบื้องต้นคาดว่า ลุ่มน้ำปิง จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในฤดูฝน 279,929 ไร่ ฤดูแล้ง 114,146 ไร่ สามารถลดปริมาณน้ำท่วม 180 ล้าน ลบ.ม โดยประมาณ ลุ่มน้ำยม จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในฤดูฝน 1,074,595 ไร่ ฤดูแล้ง 442,384 ไร่ สามารถลดปริมาณน้ำท่วม 470 ล้าน ลบ.ม โดยประมาณ ลุ่มน้ำน่าน จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในฤดูฝน 144,150 ไร่ ฤดูแล้ง 40,572 ไร่ สามารถลดปริมาณน้ำท่วม 120 ล้าน ลบ.ม โดยประมาณ
ลุ่มน้ำสะแกกรัง จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในฤดูฝน 291,900 ไร่ ฤดูแล้ง 116,545 ไร่ สามารถลดปริมาณน้ำท่วม 120 ล้าน ลบ.ม โดยประมาณ ลุ่มน้ำป่าสัก จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในฤดูฝน10,000 ไร่ ฤดูแล้ง 2,000 ไร่ สามารถลดปริมาณน้ำท่วม 10 ล้าน ลบ.ม โดยประมาณ ดังนั้น เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมด คาดว่าจะสามารถลดปริมาณน้ำท่วมได้ 900 ล้าน ลบ.ม โดยประมาณ