- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดบัญชี 'รับส่วย' เหตุที่ขบวนการค้ามนุษย์ยังอยู่ได้ อึ้ง!นักข่าวเอี่ยวด้วย
เปิดบัญชี 'รับส่วย' เหตุที่ขบวนการค้ามนุษย์ยังอยู่ได้ อึ้ง!นักข่าวเอี่ยวด้วย
การลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ สั่งเด้งตำรวจ เหมือนปิงปอง ไม่มีผลทางกฎหมาย และไม่มีการลงโทษ น้อยรายมากที่ถูกลงโทษจริงจัง นักวิชาการ ชี้เรื่องนี้ Tip report ให้ความสำคัญมาก แต่ไทยก็ทำได้น้อยมากด้วยเช่นกัน
ประเทศไทย ตกอยู่ในสายตาของนานาชาติ ถูกจับตามองสถานการณ์การการค้ามนุษย์มาไม่ต่ำกว่า 4 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีรายงานสถานการณ์และความก้าวหน้าในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ประจำปี 2557 หรือ TIP report ออกมา โดยจัดให้ไทยตกมาอยู่ในอันดับต่ำสุดในกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด หรือ Tier3
ในโอกาสวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ทางเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง "สำเร็จหรือล้มเหลว? และแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไทยสู่อาเซียน" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษย์ชนด้านสัญชาติและไร้สัญชาติ สภาทนายความ กล่าวถึงวันต่อต้านด้านการค้ามนุษย์ ซึ่งทั่วโลกถือว่ามนุษย์ทุกคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด มีศักดิ์ศรีมีความเสมอภาคกัน ในการที่คนถูกปฎิบัติเหมือนไม่เป็นคนนั้น เป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการค้ามนุษย์ เป็นปัญหาที่ใหญ่โตขึ้น ประเทศอาเซียน และสังคมโลกจะมีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงข้อเสนอแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ 5 ประการ คือ
ประการแรก อยากให้มองการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่ใช่เรื่องการค้ามนุษย์เรื่องเดียว แต่เกี่ยวข้องในเรื่องกฎหมายอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น เรื่อง คนเข้าเมือง มีขบวนการการนำพาคนเหล่านี้เข้ามา ให้ที่พักพิงรวมทั้งยังมีความเกี่ยวเนื่องกับกฏหมายอาญา รวมถึงในเรื่องกฎหมายของการกักขังหน่วงเหนี่ยว การทำร้ายร่างกาย การฆาตกรรม ซึ่งทุกเรื่องที่กล่าวมามีโทษจำคุก และโทษไม่น้อยไปกว่าเรื่องของการค้ามนุษย์เลย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ไม่มองว่า เป็นแค่เรื่องของการค้ามนุษย์ แต่อยากให้มองว่า มีการทำผิดเรื่องกฎหมายอื่นๆ อีกจำนวนมาก
ประการที่สอง รัฐต้องเอาจริงเอาจังตามกฎหมายกับขบวนการค้ามนุษย์ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมีการทำเป็นขบวนการ เช่น กิจการประมงมีการทำเป็นขบวนการนำพาเข้ามา ถูกนำไปใช้งานอย่างทาส เรื่องของโรฮินจาก็เช่นกัน รวมถึงเรื่องของเด็กขอทาน ซึ่งที่ผ่านภาครัฐไม่เคยเข้าไปถึงขบวนการ ผู้ดูแลกลุ่ม หรือเจ้าของกิจการที่นำพาคนเหล่านี้เข้ามา
“ที่เราต้องจริงจัง เพราะขบวนการเหล่านี้ กำลังจะกลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ซ้ำยังขบวนการเหล่านี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ”
ประการที่สาม รัฐต้องคุ้มครองและเข้าถึงเหยื่อ เหยื่อไม่ได้หมายถึงการค้ามนุษย์เท่านั้น แต่ปัจจุบันรัฐให้คำจัดความว่าเหยื่อเป็นขบวนการของการค้ามนุษย์ ทั้งๆที่เหยื่อเหล่านี้ยังมีความผิดถึงกระบวนการที่ผิดกฎหมายต่างๆ ทางรัฐเองมีการจัดการแต่รายย่อย ละเลยรายใหญ่ๆไป จึงไม่เป็นการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง และสาเหตุที่ไม่เคยมองเห็นเขาเป็นเหยื่อก็เพราะไม่เคยเข้าถึงตัวพวกเขา ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบว่า คนที่เป็นขอทาน มาจากไหน บ้านเขาเป็นอย่างไร
ประการที่สี่ รัฐต้องเอาจริงเอาจังกับขบวนการส่วยและการคอรัปชั่น เพราะกิจการด้านการค้ามนุษย์เติบโตได้ เพราะมีขบวนการเหล่านี้เข้ามา มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ประการที่ห้า รัฐบาลต้องประกาศมีเป้าหมายที่จะไม่มีการค้ามนุษย์ในสังคมไทย ต้องจัดทำเป็นนโยบายใหญ่และทำอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ รวมถึงประชาชนทั้งหมดต้องเข้าใจ มองคนอย่างเท่าเทียมกันไม่เกลียดชังแบ่งแยกคนต่างศาสนา หรือมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา
ส่วย หล่อเลี้ยงขบวนการค้ามนุษย์
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการได้รวบรวมข้อมูลเอกสารจำนวนมาก ที่บอกได้ว่า มีการจ่ายเงินให้กันภายในหนึ่งเดือนให้กับใครบ้าง พบว่า มีกรณีหนึ่ง มีการจ่ายส่วยกันคือ ตม.เมือง(ดาบ ก.) 12,000 บาท ตม.เมือง 7,000 บาท กองปราบ 4,000 บาท กองปราบพิเศษ 8,000 บาท สันติบาล 1,000 บาท สืบ ภาค 6,000 บาท หมวด ค. 3,000 บาท รวมถึงนักข่าว 2,000 บาท เป็นต้น ซึ่งข้อมูลนี้เป็นการจ่ายเพียงที่เดียวในหนึ่งเดือน รวมเป็นเงินทั้งหมด 90,500 บาท ที่กล่าวมาข้างต้นนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ว่า ทำไมขบวนการค้ามนุษย์ถึงยังอยู่ได้
“หลักฐานที่นำมาเผยแพร่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจ่ายส่วยของเมื่อปีที่ผ่านมา จากผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องกระบวนการการค้ามนุษย์ทั้งหมด โดยทำการไล่เป็นคนๆ รวมถึงมีการจ่ายให้หน่วยงานไหนที่ซ้ำกัน และมาเริ่มดูว่ามีการจ่ายให้หน่วยงานไหนบ้าง รวมๆแล้วต่อคนมีการจ่ายไม่น้อยกว่า 10 แห่ง แล้วในหนึ่งเดือนมีการจ่ายในแต่ละที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท และมีการจ่ายกันอีกหลายที่” คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษย์ชนด้านสัญชาติและไร้สัญชาติฯ กล่าว และว่า ฉะนั้นการจ่ายส่วยนี้มีอยู่จำนวนมาก รวมถึงในประเด็นของโรฮินจา มีความคล้ายคลึงกัน มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากจึงอยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาและจัดการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ด้านนายสมพงศ์ สระแก้ว มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิต (LPN) กล่าวถึงจุดอ่อนการแก้ไขการค้ามนุษย์คือเรื่องคอร์รัปชั่น หรือมีการรับส่วยในทุกระดับ เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยส่งคนไปสถานที่ใดที่หนึ่งที่มีการบังคับใช้แรงงาน และเป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายการค้ามนุษย์
ไทยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ
ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวนการ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่น สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ไทย ช่วงที่ผ่านมา ถามว่า สำเร็จล้มเหลว ต้องกล่าวว่า มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว แต่ “ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ”
"เราสำเร็จในการดูแลผู้เสียหาย มีประสบการณ์ดูแลคนเหล่านี้ จากอดีตมีแค่ผู้หญิงและเด็ก กระทั่งต่อมามีผู้ชายตกเป็นเหยื่อด้วย"
ศ.ดร.สุภางค์ กล่าวอีกว่า ส่วนสิ่งที่ล้มเหลวคือ ความไม่เพียงพอ มี 3 ความที่ไม่เพียงพอ เรายังทำไม่เพียงพอ
1.เรื่องการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นสิ่งใหม่ เช่น กระทรวงแรงงานที่ผ่านมาไม่เคยคิดว่า การค้ามนุษย์เป็นเรื่องของกระทรวงแรงงานเลยแม้แต่น้อย จนถึงทุกวันนี้ถ้าเข้าไปช่วยแค่แรงงานไม่ได้ช่วยผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อีกทั้งเมื่อมาเจอผู้เสียหายแบบใหม่ ที่ไม่คุ้นเคย ก็คิดไม่ออกว่าต้องใช้กฏหมายอะไรมาบังคับใช้ หรือมิติในการคัดแยกผู้เสียหาย ก่อนขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงแรงงานที่ตกเป็นเหยือค้ามนุษย์ก็ไม่ได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิ
2.การลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังอ่อนอยู่ เช่น การโยกย้าย หรือเด้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นเหมือนปิงปองโยนไปโยนมา ไม่มีผลทางกฎหมาย และไม่มีการลงโทษ อย่างมากสุดคือการลงโทษทางวินัยในฐานะที่เป็นข้าราชการ น้อยรายมากที่ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐจริงจัง เรื่องนี้ Tip report ให้ความสำคัญมาก และไทยก็ทำได้น้อยมากด้วยเช่นกัน
3.การป้องกัน คนที่จะเข้าสู่การเป็นผู้เสียหายด้านการค้ามนุษย์ ซึ่งมีทั้งที่รู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง ปะปนกัน แต่วิธีการป้องกันนั้นมีเจ้าหน้าที่ของรัฐลงปฏิบัติหน้าที่จริงจังหรือไม่
"จาก 3 ไม่เพียงพอที่กล่าวมา จึงเพียงพอแล้วที่ไทยจะอยู่ใน Tier ต่อไป เดือนนี้เราจะได้รู้กัน"
ศ.ดร.สุภางค์ กล่าวถึงทางออกการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วยว่า ในกระบวนการยุติธรรมมีจุดโหว่ ระดับนโยบายต้องแก้ลงลึกในระดับโครงสร้างมากกว่าทำระดับฝอยๆ รวมถึงความหย่อนยานของการบังคับใช้กฏหมาย ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
"ช่วงที่ผ่านมา มีข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง "ผู้ตรวจแรงงานสมทบ" แบบเดียวกับผู้พิพากษาสมทบ โดยเลือกคนมีประสบการณ์ มีคุณสมบัติเพียงพอ ขึ้นทะเบียบเป็นผู้ตรวจแรงงานสมทบ เข้ามาทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 2 พันคน ทำหน้าที่ตรวจแรงงานทุกประเภท รวมถึงแรงงานประมง แก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ปฏิบัติงาน และขาดแคลนงบประมาณ"
ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ประเทศไทยต้องมีกระบวนการป้องกันแบบบันได3 ขั้น คือ ป้องกันไม่ให้คนเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ดูแลช่วยเหลือคนที่ติดอยู่กระบวนและเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จัดการปราบปรามคนที่อยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
“แต่ของไทยล้มเหลวทั้งสองอย่าง ทั้งก่อนเข้ามาและหลังจากตกเป็นเหยื่อแล้ว ดังนั้นจึงยากที่ไทยจะสำเร็จ แต่ขณะนี้ นานาประเทศกดดันไทย เราก็อาจทำสำเร็จได้ภายใต้ภาวะถูกกดดัน”
นายปภพ เสียมหาญ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ โรฮีนจาว่า มีความท้าทายกว่าคดีค้ามนุษย์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากความผิดการค้ามนุษย์ประเภทอื่นๆ จะมีความชัดเจนเรื่องการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่น แรงงานประมง การค้าประเวณี และขอทาน แต่กลุ่มชาวโรฮีนจาไม่เข้าองค์ประกอบการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งๆ ที่การค้ามนุษย์ โรฮีนจาเข้าข่าย "การอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน อันเป็นการขูดรีดบุคคล การเรียกค่าไถ่จากญาติ เป็นการกระทำผิดเข้าข่ายการค้ามนุษย์"
นอกจากนี้ ยังพบ ปัญหาการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะนายหน้าค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาจะปะปนอยู่บนเรือ ทำให้นายหน้าค้ามนุษย์ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แทนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีโทษน้อยกว่า
นายปภพ กล่าวถึงการดำเนินการปราบปรามกับกระบวนการค้ามนุษย์ด้วยว่า ต้องไม่เลือกปฏิบัติ การดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพลต้องดำเนินคดีถึงที่สุดไม่มีการละเว้น ขณะที่ชาวโรฮีนจาต้องได้รับการเยียวยาไม่ต่างกับเหยื่อ หรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมไปถึงผู้บริหารบ้านเมืองด้วยว่า จะมองปัญหาโรฮีนจา เป็นปัญหาทางการเมือง หรือเป็นปัญหาที่ต้องจัดการโดยมนุษยธรรม พร้อมกับเชื่อว่า หากผู้บริหารบ้านเมืองมีทัศนคติที่ดี การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โรฮีนก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ด้านนางสาวปฏิมา ตั้งปรัชญากูล มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิต (LPN) กล่าวถึงการทำประมงนอกน่านน้ำ และแรงงานประมงเป็นปัญหาหมักหมมมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีเรือเถื่อนจำนวนมาก มีการลักลอบหาปลา สวมทะเบียนเรือ เอกสารปลอม มีการขนถ่ายปลากลางทะเล เลี่ยงภาษี และมีชื่อเรือที่จดทะเบียนเรือไม่ตรงกัน ไม่เคยได้รับการแก้ไข นอกจากมีเรือเถื่อนแล้ว ยังมีคนเถื่อน ถูกกดขี่ค่าแรง