- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- “ซื้อ-ขาย” ป.บัณฑิต วิชาชีพครู ยุคเสื่อมของ..ระบบการศึกษาไทย
“ซื้อ-ขาย” ป.บัณฑิต วิชาชีพครู ยุคเสื่อมของ..ระบบการศึกษาไทย
กลายเป็นเรื่องเป็นราวราวใหญ่โตขึ้นมา เมื่อ “คุรุสภา” ประกาศขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังได้รับแจ้งว่ามีการ “ขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิ (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู” ซึ่งคุรุสภาเองได้วางแผนล่อซื้อมานาน
โดยมีบัณฑิต 4 ราย นำ ป.บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยดังกล่าว มายื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อนำไปสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วย โดยทั้ง 4 รายยอมรับว่า “ซื้อใบ ป.บัณฑิต” มาจากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้จริง ในราคา 45,000-50,000 บาท
คุรุสภาจึงได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าไปตรวจสอบ พร้อมทั้งเตรียมส่งหลักฐานข้อมูลทั้งหมดให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างครบวงจร และสามารถหาตัว “ผู้กระทำความผิด” มาลงโทษได้
ขณะนี้มีผู้ทยอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายปริญญา ป.บัณฑิต มายังคุรุสภาอีกหลายราย เบื้องต้นทางคุรุสภาจะกันบุคคลเหล่านี้ไว้เป็น “พยาน”
พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่ได้ ป.บัณฑิต มาโดยวิธีซื้อขาย รีบเข้าให้ข้อมูลคุรุสภาภายในวันที่ 30 เมษายน โดยคุรุสภาจะกันผู้ที่เข้าให้ข้อมูลทั้งหมดเป็นพยานเช่นกัน ไม่เช่นนั้น หากคุรุสภาตรวจสอบพบ ในภายหลังว่าเป็นใบ ป.บัณฑิต ปลอม จะเพิกถอนใบอนุญาประกอบวิชาชีพ พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่ซื้อใบ ป.บัณฑิตด้วย นอกจากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้แล้ว “นายองค์กร อมรสิรินันท์” เลขาธิการคุรุสภา ระบุว่า ขณะนี้ยังเตรียมตรวจสอบมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตหลักสูตร ป.บัณฑิต จำนวนมากๆ อีกประมาณ 10 แห่ง ซึ่งบางแห่งผลิตปีละกว่า 1,000 คน โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่เรียนในหลักสูตรดังกล่าวจะต้อง “ฝึกปฏิบัติการสอน” ด้วย จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จะส่งนักศึกษาไปฝึกการสอนในโรงเรียนต่างๆ ได้ครบถ้วน
ฉะนั้น คุรุสภาเตรียมจะเข้าตรวจสอบในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ย้อนหลังทั้งหมด นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีผู้ร้องเรียนด้วย และหากตรวจสอบพบว่ามีการซื้อขายใบ ป.บัณฑิต ก็จะเพิกถอน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เช่นเดียวกันทั้งหมด
เพราะจากข้อมูลในปีการศึกษา 2553 คุรุสภาได้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้กับบัณฑิตที่จบหลักสูตรปริญญา และหลักสูตร ป.บัณฑิต มากถึง 80,000 คน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบย้อนหลังด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป มีกระแสข่าวว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ ได้เรียกบัณฑิตที่ให้ข้อมูลกับคุรุสภาไปพบ พร้อมทั้งพูดจาข่มขู่ จนทำให้ผู้ให้ข้อมูลเกิดความกลัว
ขณะเดียวกัน สกอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปล่อซื้อ และตรวจสอบมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกร้องเรียนว่าขายใบ ป.บัณฑิต รวมถึง มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 4 แห่ง ที่มีผู้ร้องเรียนเพิ่มเติม และอยู่ในกลุ่มที่คุรุสภาเองตั้งข้อสงสัยว่าเข้าข่ายขายใบ ป.บัณฑิต เช่นกัน
ปัญหาการซื้อขายใบ ป.บัณฑิต นอกจากจะสั่นสะเทือน “ต่อม” คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ของผู้ที่จะมาเป็น “ครู” หรือ “แม่พิมพ์” ที่ต้องทำหน้าที่สั่งสอนเด็กและเยาวชนให้เติบใหญ่เป็นคนดี และเป็นอนาคตของชาติแล้ว
ยังบ่งบอกถึง “ความเสื่อม”ที่กำลังเกิดขึ้นใน “ระบบการศึกษาไทย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถาบันอุดมศึกษา” ที่เป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์เหล่านี้ มีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้คนเหล่านี้ให้กระทำความผิด โดยการออกใบ ป.บัณฑิต แลกกับเงิน
ทำให้ “นายไชยยศ จิรเมธากร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำชับให้ สกอ.เร่งตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด ทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกร้องเรียน รวมถึง มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งอื่นๆ ด้วย เพราะมีข้อร้องเรียนว่าอีกหลายแห่งก็เข้าข่ายขายใบ ป.บัณฑิต เช่นเดียวกัน ตั้งแต่การเปิดสอนหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐาน นักศึกษาไม่ต้องเข้าเรียน และบางหลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรองจาก สกอ.
พร้อมทั้งกำชับให้ สกอ.ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าพบหลักฐานว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ขายใบ ป.บัณฑิตจริง โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการดำเนินงานมหาวิทยาลัยเข้ากำกับดูแล และบริหารมหาวิทยาลัยนั้นๆ และถึงขั้นสั่งปิดมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้ทันที
กรณีมีหวั่นเกรงกันว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้มี “นักการเมือง” หรือ “ผู้มีอำนาจ” เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็อาจทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก หรือถึงขั้นกลายเป็น “มวยล้ม” ก็เป็นไปได้
ประเด็นนี้ นายไชยยศ จิรเมธากร ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “จะไม่มีมวยล้มเด็ดขาด” พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นใคร ถ้าพบว่ากระทำความผิดจริง จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง และอาญา รวมถึง จะส่งคณะกรรมการเข้าไปบริหารงานแทนสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี หรืออาจถึงขั้น “เพิกถอน” ใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย
ซึ่งจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกร้องเรียนว่าขายใบ ป.บัณฑิต ผลสอบเบื้องต้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกร้องเรียน ยอมรับว่า “ลายเซ็น” ในใบ ป.บัณฑิตของผู้ที่ร้อง เป็นลายเซ็นของตัวเองจริงๆ แต่อ้างว่าเซ็นโดยไม่รู้ จึงได้เชิญอธิการบดีแห่งนี้มาให้ข้อมูล พร้อมทั้งขนหลักฐานเอกสารมาชี้แจงอีกครั้งในวันที่ 25 เมษายน
อย่างไรก็ตาม แม้อธิการบดียืนยันว่าเซ็นชื่อโดยไม่รู้ ก็ถือว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ประมาท หรือเลินเล่อ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมถึง กระทำผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน อาจต้องปิดภาควิชา หรือถ้าพบปัญหาเดียวกันในคณะอื่นๆ ด้วย ก็อาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว
สำหรับเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่อธิการบดีจะต้องนำมาแสดงเพื่อยืนยันว่า มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนจริงกับทาง สกอ.ประกอบด้วย 1.เอกสารใบลงทะเบียนของนักศึกษาทั้งหมด 2.รายงานผลการศึกษาเป็นรายภาคเรียนของนักศึกษาทั้งหมด 3.ข้อสอบ และ 4.กระดาษคำตอบของนักศึกษาทุกคน
ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ระบุว่า หลักฐานเหล่านี้จะบอกได้ว่า มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้จัดการเรียนการสอนจริงหรือไม่ แต่ถึงจะนำเอกสารมาแสดงได้ครบถ้วน แต่เบื้องต้น สกอ.มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ได้แล้ว โดยคาดว่าจะแจ้งความดำเนินคดีได้ภายในเดือนเมษายนนี้
และนอกจากจะไม่มีมวยล้มต้มคนดูแล้ว จะต้องมีผู้รับผิดชอบด้วย โดย “นายสุเมธ แย้มนุ่น” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตอกย้ำว่าขณะนี้มีหลักฐานชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ “ไม่มี” ทะเบียนนักศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวของนักศึกษาที่จะต้องมีตั้งแต่ใบสมัครเข้าเรียน และหลักฐานการประเมินผลการฝึกสอนที่โรงเรียนเป็นเอกสาร “ปลอม” โดยปลอมทั้งลายเซ็นของผู้อำนวยการโรงเรียน และปลอมลายเซ็นของครูที่กำกับดูแล
แต่มหาวิทยาลัยกลับยืนกระต่ายขาเดียวว่ามีการฝึกสอน และประเมินผล
ส่วนหลักฐานที่จะฟันธงได้ว่า มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ขายใบ ป.บัณฑิต หรือไม่ คือ ข้อสอบ กระดาษคำตอบ และคะแนนที่อาจารย์ผู้สอนให้ เพราะเอกสารส่วนนี้จะต้องเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการร้องเรียนขึ้น มหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าขายใบ ป.บัณฑิต ก็ถูกโฟกัสไปที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ขอนแก่น ซึ่งมี “อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย” เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย
หลังจากกระแสการซื้อขายปริญญาบัตร ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วเบาลง “นายประจวบ ไชยสาสน์” นายกสภามหาวิทยาลัยอีสาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในข่ายที่ถูกเพ่งเล็ง เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน ได้ตั้ง “นายสมเกียรติ แพทย์คุณ” อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาภาค 4 และกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีสาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ขึ้น
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ยังมี “นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี” เจ้าหน้าที่ สกอ.และ “พ.ต.อ.วุติ ป้อมปักษา” เลขานุการสภามหาวิทยาลัยอีสาน ร่วมเป็นกรรมการ
ซึ่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ เตรียมเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสานมาชี้แจงข้อเท็จจริง หลังจากอธิการบดีได้ยอมรับกับคณะตรวจสอบของ สกอ.ก่อนหน้านี้ว่าลายเซ็นในใบ ป.บัณฑิต เป็นลายเซ็นของตัวเองจริง รวมถึง กรณีที่นักศึกษาที่ร้องเรียนทั้ง 4 ราย ยืนยันว่าไม่ได้ฝึกการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา แต่กลับมีใบรับรองการฝึกการปฏิบัติการสอน
โดยจะสรุปข้อเท็จจริงให้ได้ภายในวันที่ 30 เมษายน
ขณะที่นายกสภามหาวิทยาลัยอีสาน นอกจากจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว ยังเตรียมเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยเร็วขึ้น โดยยืนยันหนักแน่นว่าถ้าผลสรุปออกมาเป็นอย่างไร ก็จะดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง คือถ้าผิดก็ว่าไปผิด แต่ถ้าถูกก็ว่าไปตามถูก
ซึ่งนายประจวบ ไชยสาสน์ ระบุว่า ได้ย้ำในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยทุกครั้งว่าห้ามขายปริญญา ห้ามขายใบ ป.บัณฑิต หรือกรณี “จ่ายครบ จบแน่” จะต้องไม่มีในมหาวิทยาลัยอีสาน เพราะเชื่อมั่นว่า ถ้าจะผลิตครูออกไปให้ดีได้ เบ้าหลอมก็ต้องดีก่อน ถ้าเบ้าหลอมไม่ดีแล้ว ก็คงผลิตให้ดีไม่ได้
พร้อมทั้งเรียกร้องให้ ศธ.ตรวจสอบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย
ล่าสุด อธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน “นายอัษฎางค์ แสวงการ” ยอมรับเจ้าหน้าที่ สกอ.ได้มาสอบถาม และตรวจสอบรายชื่อบัณฑิต 1,300 คน ที่จบหลักสูตร ป.บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอีสาน โดยแจ้งว่ามีการกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยขายใบ ป.บัณฑิตให้กับนักศึกษาบางรายที่เรียนไม่ครบหลักสูตร ซึ่งนายอัษฎางค์ได้ชี้แจง สกอ.ว่าทั้ง 1,300 คน เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอีสานจริง เพราะตรวจสอบแล้วมี “รหัสประจำตัวนักศึกษา” รวมถึง ผู้ที่ร้องเรียนทั้ง 4 คน แต่ทุกคนเรียนครบหลักสูตรหรือไม่ ยังตอบไม่ได้
ส่วนการฝึกสอนในโรงเรียนนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสานระบุว่านักศึกษาเป็นผู้จัดหาสถานที่ฝึกสอน และไปฝึกตามระยะเวลาที่คุรุสภากำหนด ส่วนมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ออกใบส่งตัว เมื่อครบกำหนดนักศึกษาต้องนำใบประเมิน และเอกสารผ่านการฝึกสอนมายื่นกับมหาวิทยาลัย เพื่อขออนุมัติจบ
โดยยืนยันว่าจะเข้าชี้แจงด้วยตัวเองกับ สกอ.อีกครั้งในวันที่ 25 เมษายน โดยจะนำเอกสารหลักฐานการลงทะเบียน การเช็คชื่อเข้าเรียนของนักศึกษา และผลการสอบ รวมถึง เอกสารที่เกี่ยวข้องไปแสดงด้วย พร้อมทั้งย้ำว่า “มหาวิทยาลัยอีสานไม่มีการขายปริญญาแน่นอน”
ซึ่งคำชี้แจงของอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน ดูเหมือนจะไม่ทำให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.คลายความสงสัยลงได้ โดยสั่งการให้ สกอ.เดินหน้าหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้ง ตรวจสอบเอกสารของมหาวิทยาลัยอย่างละเอียด เพื่อที่จะเป็นหลักฐานว่ามหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนจริงหรือไม่
รวมถึง เตรียมตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
และเมื่อความจริงปรากฎ ถ้าพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ผู้เกี่ยวข้องก็จะต้องมี “บทลงโทษ” ผู้ที่ทำความผิดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำผิดรายอื่นๆ อีก
ความจริงแล้ว ปัญหาการขายใบ ป.บัณฑิต ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพราะการขายใบปริญญาบัตรมีมานานแล้ว โดยกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังทางหน้า 1 ของหน้าสือพิมพ์ไม่แพ้ข่าวการขายใบ ป.บัณฑิตในขณะนี้ ก็คือ การซื้อขายใบปริญญาบัตรของ “วิทยาลัยบัณฑิตสกลนคร”
ซึ่งในยุคนั้นมีนักการเมืองหลายคนเรียนจบจากวิทยาลัยดังกล่าว และถูกร้องเรียนว่าได้ใบปริญญาบัตรมาด้วยการ “ซื้อ” เพื่อให้ตนเองมีสิทธิที่จะลงสมัครับเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรี ทำให้ผู้ที่เตรียมการจะลงเล่นการเมือง แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี หันมาใช้วิธีซื้อปริญญาบัตรจากวิทยาลัยแห่งนี้
ทบวงมหาวิทยาลัยในยุคนั้น ได้เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น จนได้ข้อมูลหลักฐานแน่นหนา จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมกิจการ และท้ายที่สุด สั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้ง
“บทเรียน” ในครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้สถาบันอุดมศึกษาหลายๆ แห่ง สำนึก หรือมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกิจของการเป็นมหาวิทยาลัยใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.งานสอน 2.งานวิจัย 3.งานบริการวิชาการ และ 4.งานบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่กลับใช้ “ช่องโหว่” เหล่านี้ ในการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่ “มักง่าย” อยากได้ “ใบปริญญา” โดยที่ไม่ต้องการความรู้ เพื่อนำไปแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองอีกต่อหนึ่ง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้ แสวงหาผลประโยชน์โดยการขายใบ ป.บัณฑิต นอกจากที่ “นายดิเรก พรสีมา” ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เพื่อเลื่อน “การสอบขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาประกอบวิชาชีพครู” เร็วขึ้น จากเดิมที่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกันง่ายๆ เพียงแค่บัณฑิตนำหลักฐานการจบหลักสูตรครู และใบรับรองผ่านการฝึกสอนในโรงเรียน มายื่นขอ
คาดว่าจะจัดสอบได้ในปี 2556 จากเดิมกำหนดสอบในปี 2557 เนื่องจากคุรุสภาต้องจัดทำคลังข้อสอบก่อน
ซึ่งแนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะ “สกัด” การซื้อขายใบ ป.บัณฑิต หรือใบปริญญาบัตรของผู้ที่ต้องการจะประกอบวิชาชีพครูได้ เพราะหากผู้สอบไม่ได้เรียนหลักสูตรครูจริงๆ แต่ใช้วิธีซื้อมา ก็จะไม่มีความรู้เพียงพอที่จะ “สอบได้”
ที่สำคัญกว่านั้น คงต้อง “ปลุกจิตสำนึก” ของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวบัณฑิตเอง สถาบันที่ผลิตบัณฑิต และผู้เกี่ยวข้อง ต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่มุ่งประโยชน์ส่วนตัว จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติบ้านเมือง
เพราะถ้าผู้ที่จะมาเป็นครูในอนาคต ยังต้องซื้อใบปริญญามา แล้วจะเอาความรู้ที่ไหนไปสอนเด็กและเยาวชนไทย
ที่สำคัญ จะสอนให้เด็กไทยเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวได้อย่างไร
ในเมื่อคนที่จะมาเป็น “เบ้าหลอม” ยังขาดคุณธรรม จริยธรรม เสียเอง!!