- Home
- Thaireform
- LIKE [INFOGRAPHIC]
- 6 ความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่คนไทย
6 ความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่คนไทย
ความเชื่อที่ผิดของพ่อแม่คนไทย
การอบรมสั่งสอนลูกโดยการลงโทษ เป็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก เป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์อีกคนหนึ่ง ในประเทศไทย คนไทยจำนวนมากยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงว่า เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สอนให้เด็กรู้ถูกรู้ผิด
ซึ่งความเชื่อผิดๆ ยังมีอีกมากมาย ดังนี้
ความเชื่อผิดอย่างที่ 1
“ฉันก็เคยโดนตีมาแล้ว และก็ไม่เห็นจะเป็นผลร้ายตรงไหน”
คนที่ใช้เหตุผลนี้มักอ้างทำเพื่อพยายามลดความรู้สึกผิดของตัวเอง ที่ใช้การลงโทษแบบนี้กับลูกของตนเอง ซึ่งสิ่งที่เขาทำอยู่นี้เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การถูกลงโทษในวัยเด็กนั้นเป็นผลร้ายกับเขาจริงๆ เพราะเขากำลังถ่ายทอดความรุนแรงนั้นไปสู่ลูก และในทำนองเดียวกันเด็กเหล่านี้ก็จะต้องสืบทอดความรุนแรงต่อไปอีกอย่างไม่สิ้นสุด
ความเชื่อผิดอย่างที่ 2
“ฉันลองใช้วิธีอื่นมาหมดแล้วไม่เห็นได้ผล!” หรือ “เด็กหาเรื่องให้โดนตีเอง”
ความจริงก็คือ การสร้างวินัยเชิงบวกนั้นต้องอาศัยการพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีความไว้วางใจให้เกียรติซึ่งกันและกัน ระห่างผู้ดูแลและเด็ก หากเราใช้ความรุนแรงลงโทษเด็กมาโดยตลอด ย่อมต้องใช้เวลาและความพยายามที่จะให้วิธีการใหม่นี้ได้ผล หากเราใช้วิธีการจ้ำจี้จ้ำไช ดุด่า ข่มขู่ หรือเฆี่ยนตีมาเป็นเวลานาน ย่อมเป็นการยากที่จะสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่ภายในช่วงเวลาข้ามคืน สภาพการณ์เช่นนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกว่า ไม่มีวิธีการอื่นใดที่จะได้ผลอีกแล้วนอกจากการตี หรือความรู้สึกที่ว่า “เด็กวอนหาเรื่องโดนตีเอง” เป็นการพยายามที่ที่จะทำให้ผู้ตีรู้สึกผิดน้อยลง
ความเชื่อผิดอย่างที่ 3
“การตีได้ผลดีที่สุด วิธีอื่นไม่มีประสิทธิภาพ”
ความจริงก็คือ การลงโทษด้วยความรุนแรงดูเหมือนจะได้ผลดี หากดูเพียงผิวเผินหรือในระยะสั้นเท่านั้น วิธีการเช่นนี้สอนให้เด็กทำตามที่สั่ง แต่ทำเฉพาะเวลาอยู่ต่อหน้าเท่านั้น เพื่อจะไม่ให้โดนตีหรือลงโทษด้วย วิธีอื่นๆที่ทำให้อับอายขายหน้า เป็นการสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจและไม่ปลอดภัยขึ้นในใจเด็ก แต่ไม่ได้สอนให้เด็กมีวินัยในตนเอง และรู้จักประเมินว่า สิ่งใดไม่ควรทำ
ความเชื่อผิดอย่างที่ 4
“การตี ทำให้เด็กเป็นคนว่านอนสอนง่าย”
ความจริงก็คือ เราควรสอนเด็กด้วยการกระตุ้นให้เด็กสำรวจค้นคว้า หาความรู้ด้วยตัวเอง ตั้งคำถามและเรียนรู้ถึงความสนุกเพลิดเพลินในการค้นหาคำตอบเป็นส่วนใหญ่ของกระบวนการเรียนรู้และการลงโทษด้วยความรุนแรงทำให้เด็กไม่กล้าถาม ไม่กล้าคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ และไปให้ถึงเป้าหมายของตนเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะเป็นในการที่จะประสบความสำเร็จในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว แข่งขัน และต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
การบังคับให้เด็กเชื่อฟังอย่างไม่ลืมหู ลืมตา โดยใช้ความรุนแรงคุกคาม ย่อมเป็นการสกัดกั้นความริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก ซึ่งจะมีผลไปถึงวัยผู้ใหญ่อย่างแน่นอน
ความเชื่อผิดอย่างที่ 5
“ฉันใช้การตีเป็นวิธีสุดท้ายเท่านั้น เพราะไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ”
ความจริงก็คือ การกล่าวอ้างเช่นนี้เป็นความพยายามที่จะหาเหตุมาสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก เท่านั้นเอง สามีควรจะทุบตีภรรยา เมื่อไม่มีวิธีอื่นๆ ที่จะพูดให้เข้าใจกันได้แล้วหรือไม่? หากไม่สมควร การทำเช่นนี้กับเด็กก็ไม่น่าจะยอมรับได้ ยิ่งไปกว่านั้น เราจะพบบ่อยๆ ว่า พ่อแม่และครูมักจะใช้การลงโทษด้วยความรุนแรงเมื่อเด็กทำผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นด้วย
ความเชื่อผิดอย่างที่ 6
"การเฆี่ยนตีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรา"
บางคนมักถือว่า การเฆี่ยนตีหรือลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรา และความคิดที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ในการสร้างวินัยเด็กเป็นการยัดเยียด “วิธีคิดแบบตะวันตก” หรือแบบฝรั่งเข้ามาในวัฒนธรรมไทย ซึ่งใช้ไม่ได้ผลในบ้านเรา
แต่ที่จริงและการลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตีเคยมีอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ต่อมาเมื่อมีการศึกษาวิจัยเรื่องการเลี้ยงดูเด็กที่มีประสิทธิภาพ แล้วพบว่า การลงโทษเด็กด้วยการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงก่อผลเสียมากกว่าผลดี จึงได้มีการรณรงค์ใหลิกวิธีเช่นนี้
ความจริงแล้วมีค่านิยมหลักอยู่สองประการในสังคมเอเชียคือ การรักษาความสามัคคีและปรองดองกันในสังคม และการใช้ความสามารถทางจิตใจเพื่อควบคุมหรือสร้างวินัยให้ร่างกาย การใช้ความรุนแรงนั้นขัดแย้งกับค่านิยมทั้งสองอย่างนี้ และยังทลายความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมด้วย